‘ผู้ชายกินข้าวบนโต๊ะ ผู้หญิงกินข้าวในครัว’ คนม้งรุ่นใหม่รอวันที่จะได้กินข้าวร่วมโต๊ะเดียวกัน

ในหนังสารคดีเรื่อง Children Of The Mist สารคดีที่ติดตามชีวิต ‘ดี้’ เด็กหญิงชาวม้งวัย 12 ปีจากประเทศเวียดนาม เมื่อดี้อายุได้ 14 ปีกว่า เธอตกอยู่ในสถานการณ์ ‘ลักพาตัวเจ้าสาว’ เรื่องราวในสารคดีที่เร้าอารมณ์ความรู้สึกคือในช่วงท้ายที่ดี้ถูกครอบครัวของฝ่ายชายที่ต้องการอยากได้เธอมาเป็นเจ้าสาว รุกล้ำเข้าไปยังบ้านของเธอและพยายามเกลี้ยกล่อมให้เด็กหญิงแต่งงานและย้ายไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายชาย

ภาพจากเพจ: https://www.facebook.com/photo/?fbid=435073925705221&set=a.169676365578313

เมื่อเกลี้ยกล่อมไม่สำเร็จ ครอบครัวของฝ่ายชายรวมทั้งตัวเจ้าบ่าวและเพื่อนของพวกเขา ได้จับแขนขา-ของดี้และหิ้วตัวเธอออกไปจากบ้าน โดยที่ครอบครัวของเธอเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด แต่ไม่ได้ปกป้องลูกสาว นอกจากเพียงการพยายามบอกว่าให้พูดคุยกันก่อน

ดี้พยายามร้องตะโกนให้ผู้ถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้เข้ามาช่วยเธอ ภาพทุกอย่างถูกบันทึกผ่านกล้องวิดีโอ จนกระทั่งท้ายที่สุดแม่ของดี้ทนไม่ไหว จึงต้องเข้ามายุติเหตุการณ์ทุกอย่างและพาดี้กลับเข้าไปยังบ้านของเธอ

“มากกว่าวัฒนธรรมมันคือการปลูกฝังความคิดว่าผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายยอม” เปียตัวแทนผู้หญิงม้งกล่าว

โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว ในวันที่หลายเสียงของคนรุ่นใหม่ชาติพันธุ์ม้งมีความคิดเห็นว่า หลายๆ วัฒนธรรมของม้งเช่น การลักพาตัวเจ้าสาว, การให้สิทธิดูแลพ่อแม่และยกมรดกแก่ลูกชาย รวมทั้งการให้ค่าผู้หญิงแค่คำว่าการเป็นเมียที่ดี เป็นความคิดที่ล้าสมัยและจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับโลกปัจจุบัน 

ศรสวรรค์ วัจน์นาถรุ่งโรจน์ หรือเปีย ประธานเครือข่ายเยาวชนนักศึกษาชาติพันธุ์ม้ง

เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (IMN) ได้มีโอกาสพูดคุยกับศรสวรรค์ วัจน์นาถรุ่งโรจน์ หรือเปีย ประธานเครือข่ายเยาวชนนักศึกษาชาติพันธุ์ม้ง และกรณาธิป พนากำเนิด หรือบีม อดีตประธานชมรมนักศึกษาม้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเหรัญญิกของเครือข่ายเยาวชนนักศึกษาชาติพันธุ์ม้ง สองตัวแทนคนรุ่นใหม่ชาติพันธุ์ม้งที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ของชาติพันธุ์ตนเอง

ผู้หญิงก็เป็นผู้นำได้

สิ่งที่ผลักดันให้เราลุกขึ้นมาเป็นผู้นำคือ ไม่อยากให้เป็นเหมือนเดิม ไม่อยากให้คนรุ่นต่อไปต้องมาเจอสิ่งเดิม ๆ แบบนี้”

ประธานเครือข่ายเยาวชนนักศึกษาชาติพันธุ์ม้งกล่าวถึงแรงผลักดันของเธอ เปียเกิดและเติบโตมาในสังคมที่มีความเป็นปิตาธิปไตย เมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นก็ตามทุกคนจะมุ่งเน้นไปที่ตัวของผู้หญิง 

“ผู้หญิงต้องกลายมาเป็นคนยอม เพื่อที่จะนำไปสู่การประนีประนอมและการดำรงอยู่ของสถานะครอบครัว”

เปียเล่าต่อว่าโดยเฉพาะกับคนที่รับบทบาทภรรยาต้องเป็นฝ่ายปรับตัว ยอมรับในสิ่งที่ผู้ชายอาจทำผิดพลาดไปเป็นภาพชินตาที่เธอเห็น แต่ด้วยโอกาสที่เปียได้ออกไปเรียนในเมือง จึงทำให้เธอเปลี่ยนความคิดว่าผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเอง มาต่อรอง เปียเริ่มทำกิจกรรมตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เธอเก็บเกี่ยวทักษะและความมั่นใจ และเชื่อมั่นว่าผู้หญิงก็สามารถเป็นผู้นำได้

“เรากดดันตนเองเรื่องของทักษะในการทำงานขับเคลื่อนกิจกรรมของเครือข่ายเยาวชนม้งมากกว่า บทบาทผู้หญิงในการเป็นผู้นำ เราอยากทำให้เห็นว่าผู้หญิงสามารถทำงานได้ดีไม่น้อยกว่าผู้ชาย ” เปียเล่าถึงช่วงแรกที่เธอได้มาเป็นประธานเครือข่ายฯ  ”

เป้าประสงค์ของเครือข่ายเยาวชนนักศึกษาชาติพันธุ์ม้ง คือการรวมกันของนักศึกษาม้งในประเทศไทย เพื่อสร้างการขับเคลื่อนไปสู่สังคมม้งที่น่าอยู่และมีความเท่าเทียม โดยนอกจากบทบาทของประธานเครือข่ายแล้ว เปียยังคงทำงานเป็นอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน กับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม โดยเธอเลือกทำงานในประเด็นของการสนับสนุนเพื่อสร้างกระบวนการขับเคลื่อนประชาธิปไตย 

“เราเข้าไปสู่ในโลกที่ชายหญิงเสมอภาคกัน ไม่มีใครมีศักดิ์ศรีมากหรือน้อยกว่าใคร แต่พอเรากลับไปในชุมชนของเรา ภาพของการใช้อำนาจที่เหนือกว่ามาข่มเหงความเป็นผู้หญิง จากรุ่นแม่สู่รุ่นลูก”

เปียเล่าว่าเพื่อนสนิทของเธอคนหนึ่งต้องแต่งงานตั้งแต่ยังอายุน้อย  แม้วันนี้ในประเทศไทยจะแทบไม่หลงเหลือประเพณีการฉุดเจ้าสาวแบบซึ่งหน้าหรือการใช้กำลังแล้ว แต่เปียมองว่าวัฒนธรรมเหล่านี้ยังคงหลงเหลืออยู่ ผ่านการบังคับเชิงคำพูด การสอดแทรกความคิดที่ให้คุณค่ากับการแต่งงานมากไป

“เป็นชุดความคิดที่ปลูกฝังการให้ค่าผู้หญิงกับการเป็นเมีย สิ่งที่จะทำให้ผู้หญิงมีคุณค่าคือการแต่งงานเป็นเมียที่ดีในอนาคต”

เปียชวนมองย้อนกลับไปยังในสมัยอดีตว่า อาจจะมีความจำเป็นที่ผู้ชายต้องเป็นผู้นำ เพราะชาติพันธุ์ม้งต้องผ่านการทำสงครามมาโดยตลอด รวมทั้งชาวม้งอาศัยอยู่บนดอยจึงต้องทำเกษตรกรรมและงานใช้แรงงาน  ในช่วงเวลาดังกล่าวพละกำลังจึงมีส่วนสำคัญต่อการอยู่รอด แต่ในปัจจุบันชาติพันธุ์ม้งไม่จำเป็นต้องจับอาวุธมาสู้กับใคร กลับกันพวกเขาจำเป็นต้องจับมือถือและเทคโนโลยีมาทำงานหาเลี้ยงชีพ ซึ่งทักษะใหม่ ๆ เหล่านี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศสภาพอีกต่อไป

“ทุกวันนี้ลูกสาวในหลายครอบครัวลุกขึ้นมาไลฟ์สดขายของออนไลน์ และมีรายได้ที่ดูแลครอบครัวได้ แต่ในเชิงจารีตประเพณีคนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ยอมรับอยู่ดี”

เมื่อจารีตประเพณีเลือกที่จะฝากความหวังไว้กับลูกผู้ชาย ผลที่ตามมานอกจากจะเป็นการลดคุณค่าของผู้หญิงแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความกดดันสร้างความคาดหวังให้กับผู้ชายด้วย

ผู้ชายก็เป็นผู้นำและผู้ตามได้

“ถ้าพูดกันตามตรงผมก็มีความกดดันในฐานะลูกชาย เพราะว่าผมเป็นลูกชายคนโตในสังคมม้ง ต้องสืบทอดตระกูลดูแลพ่อแม่”

กรณาธิป พนากำเนิดหรือบีม ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เขาเกิดที่ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ มีพี่สาวและน้องสาว 2 คน บีมเกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่ของเขาสอนให้ลูกทุกคนต้องแบ่งหน้าที่กันทำงานบ้าน

กรณาธิป พนากำเนิด หรือบีม อดีตประธานชมรมนักศึกษาม้ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“หลายคนบอกว่าผู้ชายไม่ได้มีหน้าที่ทำงานบ้าน ซักผ้าหรือล้างจาน เพราะผู้ชายมีหน้าที่ออกไปทำงานนอกบ้าน แต่ในครอบครัวผมลูกทุกคนต้องทำงานบ้านเหมือนกัน”

บีมมองว่าหลายประเพณีของม้งในปัจจุบันไม่ได้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก เขาไม่เห็นด้วยกับวัฒนธรรมที่เมื่อผู้หญิงแต่งงานไปแล้ว จะไม่สามารถกลับมาดูแลพ่อแม่ได้ รวมทั้งวัฒนธรรมที่มรดกของพ่อแม่จะตกไปอยู่กับลูกผู้ชาย

“วัฒนธรรมตรงนี้ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น แม้ว่าผมจะได้เปรียบจากวัฒนธรรมนี้แต่ว่าเราเป็นพี่น้องกัน ยังไงเขาก็เป็นลูกของพ่อแม่ มรดกในการแบ่งควรที่จะเท่าเทียมกันไม่ได้อยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง”

อย่างไรก็ดีบีมยอมรับว่า การที่เขาสามารถยอมรับความเสมอภาคทางเพศได้นั้น มาจากโอกาสในชีวิตที่เขาได้ออกมาเรียนในเมือง ในขณะที่คนรุ่นราวคราวเดียวกันกับเขาหลายคนไม่ได้มีโอกาสตรงนี้ ทำให้ยังยึดติดอยู่กับค่านิยมเดิมๆ 

“มีบ้างเวลาที่เรากลับไปที่หมู่บ้าน และรู้สึกว่าความคิดเราไม่เหมือนกับเพื่อนผู้ชายคนอื่น ๆ คือการเกิดมาเป็นผู้ชายเราถูกปลูกฝังว่าต้องรักษาคำพูด ลูกผู้ชายทำอะไรต้องคิดดี ๆ ต้องดูแลพ่อแม่ ไม่ทำให้ครอบครัวเสื่อมเสียชื่อเสียง”

ทั้งที่จริงแล้วค่านิยมเหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐานสำหรับคนทุกคน ทั้งในเรื่องของความเป็นผู้นำ บีมมองว่าผู้หญิงยุคใหม่มีความกล้าคิด กล้าทำ และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมได้ เขากล่าวในตอนท้ายว่าในวันที่สังคมตระหนักถึงเรื่องความเสมอภาคทางเพศมากขึ้น มันจึงไม่จำเป็นว่าต้องเป็นผู้ชายเท่านั้นที่จะต้องรับหน้าที่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว

‘ผู้ชายกินข้าวบนโต๊ะ ผู้หญิงกินข้าวในครัว’ คนม้งรุ่นใหม่รอวันที่จะได้กินข้าวร่วมโต๊ะเดียวกัน

“มันเป็นเรื่องที่ทุกคนมองว่าเล็ก คือผู้หญิงไม่สามารถเข้าไปนั่งกินข้าวร่วมโต๊ะกับผู้ชายในโต๊ะหลัก ผู้หญิงต้องอยู่ที่หลังครัวอย่างเดียวและเมื่อถึงช่วงที่พิธีเสร็จ อาหารที่ตั้งอยู่ตรงนั้นผู้หญิงไม่มีสิทธิ์เข้าไปกิน ผู้หญิงต้องนั่งโต๊ะเล็ก ๆ กินด้วยกันที่ห้องครัว”

เปียเล่าเหตุการณ์ที่เธอเจอมาตั้งแต่เด็กเวลาประกอบพิธีกรรมในครอบครัว และพอโตขึ้นทำให้เธอรู้สึกว่า ไม่ว่าเธอจะเป็นผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จมากแค่ไหน เรียนจบปริญญามีหน้าที่การงานที่ดีอย่างไร แต่เมื่อเข้าสู่พิธีกรรมความเชื่อแล้ว เธอก็เป็นได้แค่ผู้หญิงแถวหลังที่ไม่มีสิทธิไปนั่งเทียบเท่าได้กับผู้ชาย

“ต้องรอให้กลุ่มผู้ชายที่รับประทานอาหารตรงโต๊ะหลักกินเสร็จก่อน และเราค่อยไปกินทีหลัง ไปกินของเหลือที่เขาเหลือไว้”

เปียสังเกตเห็นคนรุ่นราวเดียวกันกับเธอว่า หากมาจากครอบครัวที่ยังคงยึดติดกับจารีตประเพณี คนรุ่นใหม่หลายคนมีแนวโน้มที่จะหนีออกมาจากสังคมม้ง และเข้าไปอยู่ในสังคมเมืองที่มีความเป็นปัจเจกและมีทางเลือกให้กับชีวิตของพวกเขาได้มากกว่า

“ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปคิดว่าอันตราย อะไรที่ควรเลิกก็เลิก อะไรที่ควรเบาก็ปรับลงมาให้มันสามารถอยู่กับทุกคนได้ ไม่ใช่แค่ผู้หญิงที่เกิดมาแล้วรู้สึกถูกด้อยค่า แต่ตัวผู้ชายเองก็แบกรับความกดดันจากครอบครัว ถูกให้คุณค่ามากเกินกว่าสิ่งที่เขามี”

โดยในปัจจุบันงานของเครือข่ายเยาวชนนักศึกษาชาติพันธุ์ม้ง พยายามที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับคนทำงานด้วยกัน เพื่อให้พวกเขาเหล่านี้ได้ส่งต่อสังคมม้งในอนาคตที่มีความเท่าเทียม และโอบรับความเสมอภาคทางเพศ ผ่านความสัมพันธ์ที่ให้เกียรติและเคารพเสียงของกันและกัน และหวังไว้อย่างยิ่งว่าสักทุกคนจะสามารถร่วมโต๊ะอาหารด้วยกัน อิ่มร่วมกัน ไม่ปล่อยทิ้งใครไว้ให้หิวอยู่ในครัว

“เรารู้ดีว่าระหว่างต่อสู้นั้นมันเจ็บปวดและเสียหยดน้ำตาไปมากขนาดไหน เราอยากให้ทุกการต่อสู้ของผู้หญิง ทำให้พวกเขาได้ตระหนักถึงตัวตนของตัวเอง ต่อสู้อย่างไรที่ทำให้ไม่ละทิ้งตัวตนของพวกเขา ใช้ชีวิตต่อไปในแบบที่เขาเป็นคนม้งคนหนึ่ง” ประธานเครือข่ายเยาวชนนักศึกษาชาติพันธุ์ม้งกล่าวทิ้งท้าย

ณฐาภพ สังเกตุ; เรียบเรียง