COP 16 CBD นโยบายโลกที่ชนเผ่าพื้นเมืองถูกให้ความสำคัญ?

ในระหว่างที่การประชุม COP 16 ภายใต้อนุสัญญา CBD  กำลังเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 21 ตุลาคม ถึง 2 พฤศจิกายน 2567 ที่เมืองคาลี ประเทศโคลอมเบีย IMN Live Special EP16 ได้เชิญ 2 คนไทยที่ได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวทั้งพิราวรรณ วงศ์นิธิสถาพร เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมจากมูลนิธิ AIPP และปริตตา หวังเกียรติ จากสำนักข่าว Mekong Eye มาร่วมพูดคุยและแชร์ประสบการณ์การเข้าร่วมประชุมผ่านหัวข้อ COP 16 CBD  คืออะไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของโลก แล้วคนที่อยู่กับป่า แม่น้ำ มหาสมุทร ต้องเตรียมตัวอย่างไร

ใจความสำคัญของการพูดคุยและการประชุมที่กำลังเกิดขึ้น จะสามารถถือเป็นความหวังของชนเผ่าพื้นเมืองได้หรือไม่ และรัฐไทยจะนำข้อเสนอจากการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ เข้าไปอยู่ในแผนงานและตัวชี้วัดระดับชาติ เพื่อนำไปสู่การสร้างความร่วมมือให้ชนเผ่าพื้นเมืองเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญในการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ และสนับสนุนให้ชนเผ่าพื้นเมืองสามารถดำรงวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนได้อย่างไร?

อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ความเชื่อมโยงถึงกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง

พิราวรรณ จาก มูลนิธิเพื่อการประสานความร่วมมือชนเผ่าพื้นเมืองเอเชีย (Asia Indigenous Peoples Pact – AIPP) ได้เกริ่นนำเพื่อทบทวนความหมายของ CBD หรืออนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity) เป็นข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศที่มีเจตนารมณ์ในการสร้างความร่วมมือในด้านการอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดความยั่งยืนและเป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1992 จนเกิดเป็นกรอบงานเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ

“สิ่งสำคัญจาก CBD พูดถึงเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และการแบ่งปันผลประโยชน์ในการใช้อย่างเท่าเทียมทุกคนสามารถเข้าถึงผลประโยชน์นั้นได้” พิราวรรณกล่าว

โดยในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพนั้น พิราวรรณอธิบายต่อว่ามีเป้าหมายอันดับแรกเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ ในเชิงที่รัฐเป็นฝ่ายบริหารจัดการเช่น พื้นที่อุทยาน เขตห้ามล่าสัตว์ เป็นต้น นำมาซึ่งความกังวลต่อพื้นที่ของชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่ภายใต้พื้นที่คุ้มครองเหล่านี้มาตั้งแต่ดั้งเดิม

“มันจึงเป็นทั้งโอกาสในการฟื้นฟูและปกป้องสิ่งแวดล้อม แต่อีกในมุมมองหนึ่งถ้าพี่น้องชนเผ่าหรือคนที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ พวกเขาก็จะถูกผลักออกหรือแม้แต่ถูกละเมิดสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร”

พิราวรรณเสริมว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับนโยบายสิ่งแวดล้อม คือการต้องติดตามนโยบายเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพราะทุกนโยบายล้วนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง 

วาระสำคัญของ COP16

“การประชุมสองปีก่อนมีการประกาศแนวทางปฏิบัติ ปีนี้จึงเป็นเรื่องของการติดตามผลงานเรื่องของตัวชี้วัดและความคืบหน้าของกรอบงานดังกล่าว”

ปริตตาผู้สื่อข่าวจาก Mekong Eye แชร์ข้อมูลที่ได้รับจากการประชุมครั้งนี้ว่า เป็นการนำข้อตกลงคุนหมิง-มอนทรีออลในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อปี 2565 มาปรับเป็นหลักปฏิบัติ หนึ่งในเรื่องที่ถูกพูดถึงคือเรื่องของงบประมาณ  สืบเนื่องจากเมื่อการประชุมเมื่อสองปีที่แล้ว มีการพูดคุยกันว่าจะต้องหาเงินให้ได้ปีละสองแสนล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อมาทำงานอนุรักษ์ แต่ปรากฏว่าในความเป็นจริงนั้นสามารถจัดหางบประมาณได้แค่ 200  ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีซึ่งมีช่องว่างอยู่จำนวนมาก

“ในมุมของภาครัฐเขามักอ้างว่าไม่มีทรัพยากรในการทำงาน จึงเกิดการเจรจาในทำนองว่าคุณต้องให้เงินฉันก่อนฉันถึงทำงานอนุรักษ์ได้”

ปริตตาตั้งข้อสังเกตว่าเหลือเวลาอีก 6 ปีก่อนจะถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2030 แต่จนถึงวันนี้เรื่องของงบประมาณกลายมาเป็นประเด็นใหญ่ที่แต่ละประเทศใช้มาเป็นข้อจำกัดในการทำงานอนุรักษ์ โดยมีแนวคิดที่ขึ้นมาทดแทนอย่างเช่น เครดิตความหลากหลายทางชีวภาพ (ฺBiodiversity Credit) คล้ายกับแนวคิดเรื่องคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เพื่อที่จะใช้หาเงินในการดึงเอาภาคธุรกิจเข้าเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนที่สำคัญ รวมทั้งการดึงคนจากภาคประชาชนเข้ามาในการประชุมครั้งนี้ จึงทำให้เป็นการประชุม COP ที่มีคนเข้าร่วมมากที่สุด

“ตัวเลขคนเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ 23,000 คนมากที่สุดในประวัติการณ์ เพราะผู้จัดบอกว่าอยากให้มันเป็นการประชุมของ People Cop”

โดยผู้เข้าร่วมประชุม COP16 ในครั้งนี้มาจากหลายพื้นเพและหลายชาติพันธุ์ จึงทำให้ประเด็นของชนเผ่าพื้นเมืองถูกให้ความสำคัญค่อนข้างมาก แต่ด้วยความที่การประชุมจัดขึ้นในพื้นที่ห่างไกลจากประเทศไทย ปริตตามองว่าจึงอาจจะไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสื่อไทย เนื่องจากต้นทุนในการเดินทางมาทำข่าว และข้อมูลที่สื่อสารกลับไปยังประเทศไทยอาจจะยังไม่เพียงพอ

“เราไม่ได้ประเมินงานครั้งนี้ว่าดีหรือแย่ แต่เรามองมันเป็นกระบวนการที่ยังมองไม่เห็นปลายทางว่าจะล้มเหลวหรือสำเร็จอย่างไร”

โดยปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลต่อความสำเร็จและความล้มเหลว ปริตตากล่าวว่าหากมีกลไกที่ทำให้คนที่ไม่ได้อยู่ในระดับตัดสินใจในเชิงนโยบาย ได้เข้ามาร่วมอยู่ในกลไกนี้มากขึ้น มันก็มีโอกาสที่จะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้

จากเป้าหมายระดับโลกสู่เป้าหมายระดับประเทศ

ถัดจากสาระสำคัญของการประชุม COP16 ที่ทางแขกรับเชิญทั้งสองคนได้แบ่งปันข้อมูล ในช่วงต่อมาของวงเสวนาได้มีการเชื่อมโยงจากเป้าหมายการประชุม CBD COP16 ระดับโลกที่มีทั้งหมด 23 เป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จภายในปี 2030 ซึ่งรัฐบาลในแต่ละประเทศสามารถออกแบบเป้าหมายระดับชาติเป็นของตนเอง อย่างไรก็ดีในการประชุมครั้งนี้เพื่ออัปเดตแผนของแต่ละประเทศ ที่จะทำยุทธศาสตร์ในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (NBSAPs) กลับพบว่าล่าสุดมีถึง 85% ของประเทศภาคีที่ยังไม่ได้ส่งแผนตัวนี้ซึ่งรวมถึงประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยนั้นได้มีการกำหนดเป้าหมายไว้ 12 เป้าหมายโดยหนึ่งในเป้าหมายนั้น พิราวรรณได้อธิบายว่าคือการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์โดยรัฐไทยใช้สองระบบคือ ระบบดั้งเดิมในการทำพื้นที่ควบคุมเช่น พื้นที่อุทยาน เขตห้ามล่าสัตว์ และพื้นที่ทางทะเล และระบบที่สองคือพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกพื้นที่คุ้มครอง (OECMs) ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่ไม่ใช่พื้นที่คุ้มครอง ในการเปิดช่องทางให้กับชุมชน และภาคธุรกิจสามารถขึ้นทะเบียนได้ ภายใต้องค์กร IUCN แต่ก็ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่าการขึ้นทะเบียนนั้นมีกฎเกณฑ์อย่างไร

ภาพโดย: อุดม เจริญนิยมไพร

“เรามีข้อเสนออีกทางเลือกหนึ่งคือ การให้ชนเผ่าพื้นเมืองจัดการพื้นที่กันเอง ถ้ามองในบริบทของประเทศไทยคือพื้นที่คุ้มครองพิเศษทางวัฒนธรรม เพราะถึงแม้ชนเผ่าพื้นเมืองไม่มีเงิน ก็สามารถดูแลธรรมชาติกันมาหลายร้อยปีแล้ว” พิราวรรณกล่าว

พิราวรรณมองว่าองค์ความรู้ สิทธิทางที่ดิน และความสัมพันธ์ของชนเผ่าพื้นเมืองกับธรรมชาติ ถือเป็นแนวทางอนุรักษ์ที่แท้จริง มันไม่ใช่แนวทางใหม่แต่เป็นแนวทางที่พวกเขาทำกันมานานแล้ว ในฐานะที่พาราวรรณเป็นตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อการประสานความร่วมมือชนเผ่าพื้นเมืองเอเชีย มีความพยายามในการผลักดัน และเรียกร้องให้มีตัวชี้วัดนอกเหนือจากพื้นที่อนุรักษ์ทั้งสองแบบข้างต้น โดยให้สิทธิ์เจ้าของพื้นที่อย่างชนเผ่าพื้นเมืองเป็นคนตัดสินใจ และกำหนดบทบาทในการจัดการที่ดินของตัวเอง

“มีการพิสูจน์แล้วว่าพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพที่ยังหลงเหลืออยู่ ยังคงอยู่ในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ดั้งเดิมตามจารีตของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง”

พิราวรรณอ้างอิงข้อมูลจาก Global Environment Outlook (GEO) คือชุดรายงานที่ทบทวนสถานะและทิศทางของสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งออกเป็นระยะโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ในการวิเคราะห์สถานะของความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกและพบว่าชนเผ่าพื้นเมืองถือเป็นหุ้นส่วนคนสำคัญในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพที่ยังคงเหลืออยู่

ความหวังหลัง COP16

“เรากำลังทำให้คนในอนาคตเจอสถานการณ์ที่เลวร้าย จมอยู่กับมลภาวะฝุ่นพิษ น้ำเสีย ภาวะโลกร้อน ภาวะขาดแคลนอาหาร”

พิราวรรณกล่าวในตอนท้ายเมื่อถึงการสรุปเสวนา เธอมองว่าเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพนั้นเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน และในวันที่สิ่งมีชีวิตได้สูญหายไปมากกว่า 50 – 60% มันเป็นสถานการณ์ที่ทุกคนได้รับผลกระทบ แต่สำหรับชนเผ่าพื้นเมืองนั้นถือว่าได้รับความเจ็บปวดมากกว่าคนอื่น เพราะอำนาจที่พวกเขาได้รับนั้นน้อยกว่า และไม่ว่าอย่างไรก็ตามมนุษย์โลกยังคงต้องพึ่งพาธรรมชาติเหล่านี้อยู่

“เวทีนี้มันเป็นเพียงแค่กระบวนการหนึ่งที่นักการเมืองและตัวแทนรัฐบาลเข้ามาเจรจาร่วมกัน แต่รัฐบาลฝ่ายเดียวไม่ใช่เป็นตัวกำหนด มันขึ้นอยู่กับตัวเราในฐานะบุคคลด้วยว่าจะมีส่วนร่วมอย่างไร ภาคธุรกิจเองก็มีบทบาทที่สำคัญเพราะเขาเป็นกลไกที่ต้องใช้ทรัพยากรเยอะมาก ต้องมาดูกันต่อว่ารัฐบาลจะมีกลไกบังคับหรือให้ทางภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร”

ภาพโดย: อุดม เจริญนิยมไพร

พิราวรรณมองย้อนจากกรอบงานเมื่อ 10 ปีก่อนที่มีการพูดถึงเรื่องของชนเผ่าพื้นเมืองแค่เป้าหมายเดียว แต่ก็เห็นความก้าวหน้าจากเป้าหมายล่าสุดที่มีการพูดถึงชนเผ่าพื้นเมืองถึง 7 เป้าหมาย บทบาทของชนเผ่าพื้นเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว รัฐบาลเปิดโอกาสให้กับชนเผ่าพื้นเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะในกลไกอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ( CBD ) ที่เสียงของชนเผ่าพื้นเมืองมีพลังมากขึ้น พิราวรรณมองว่าสุดท้ายแล้วทุกฝ่ายก็ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน

“รัฐบาลเองเขาก็มีเป้าหมายเหมือนเราที่อยากจะรักษาโลกนี้ไว้ เพียงแค่เรายังหาวิถีทางทำงานร่วมกันไม่ได้แค่นั้นเอง ตอนนี้พื้นที่เปิดแล้วเมื่อเรามาเป็นภาคี แปลว่าเขาเปิดช่องทางให้เราแล้ว ที่เขาอยากจะร่วมมือกับเรา”

และสุดท้ายทางปริตตาได้เสริมว่า ณ ตอนนี้โลกกำลังมีอนุสัญญาสิ่งแวดล้อมทั้งหมด 3 ฉบับคือ อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ, อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทรายและความแห้งแล้ง และกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ซึ่งอนุสัญญาทั้งสามฉบับนี้ยังคงทำงานแยกส่วนกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือการรักษาโลกไว้ การแยกส่วนทำให้การทำงานยากมากขึ้น และเป็นการลดทอนทรัพยากรในการทำงานให้เหลือน้อยลงทั้งที่ทั้งสามเรื่องนี้คือเรื่องเดียวกัน ดั่งที่ปริตตาสรุปว่า

“ถ้าหากเรามองในสามเรื่องนี้ร่วมกัน มันจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้หลายอย่างมาก ทำให้เราสามารถเลดเรื่องการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพได้ดีมากยิ่งขึ้น”

บรรลุข้อตกลงสำคัญ รับรองบทบาทชนเผ่าพื้นเมือง? 

ตลอดการประชุมอย่างเข้มข้นเกือบสองสัปดาห์ รัฐภาคีได้บรรลุมติสำคัญที่สร้างความหวังให้กับชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น นั่นคือมติให้จัดตั้งกลไกย่อยถาวรภายใต้มาตราที่ 8j ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพฉบับนี้ ซึ่งเป็นการยอมรับบทบาทของชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นทางการ ในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายหลักทั้งสามประการของอนุสัญญาฯ นั่นคือ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เท่าเทียมและเป็นธรรม

ชนเผ่าพื้นเมืองชูป้ายประท้วงรัฐภาคีบางประเทศ ที่คัดค้านการจัดตั้งกลไกย่อยถาวรภายใต้มาตรา 8j – ภาพโดย: ปริตตา หวังเกียรติ สำนักข่าว Mekong Eye 

สำหรับกลไกนี้เป็นสิ่งที่เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นพยายามผลักดันกันมาอย่าวนาน เพื่อสร้างพื้นที่ให้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบนโยบายและแผนงานที่จะนำไปสู่การดำเนินงานภายใต้อนุสัญญาฉบับนี้ได้โดยตรง จากที่เคยเป็นแค่คณะทำงานชั่วคราว และที่สำคัญเมื่อกลไกนี้ได้ถูกรับรองอย่างเป็นทางการแล้ว ก็จะมีผลผูกพันไปยังรัฐภาคีแต่ละประเทศให้ต้องปฏิบัติตาม หรืออย่างน้อยต้องรายงานผลการดำเนินงานตามมติดังกล่าวด้วย 

ในประเด็นนี้ ศักดิ์ดา แสนมี่ เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ที่เข้าร่วมประชุมด้วยมองว่าจะเป็นโอกาสให้รัฐบาลต้องสร้างพื้นที่การทำงานร่วมกับชนเผ่าพื้นเมืองให้มากขึ้น  แม้ว่าในประเทศไทยจะยังไม่มีการยอมรับตัวตนชนเผ่าพื้นเมืองก็ตาม

“ผมมองว่าเป็นโอกาสสำคัญที่จะเอื้อให้ชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลมากขึ้น แต่รัฐอาจจะใช้คำว่าชุมชนท้องถิ่นแทน  แต่ ขณะเดียวกันก็หวังว่าจะส่งเสริมให้เกิดการยอมรับตัวตนและบทบาทของชนเผ่าพื้นเมืองมากขึ้นด้วยเช่นกัน” ศักดิ์ดากล่าว
ภาพโดย: อุดม เจริญนิยมไพร

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ จะต้องมีกระบวนการออกแบบโครงสร้างคณะทำงาน ฝ่ายเลขานุการ ตลอดจนงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานและแผนงานเชิงรูปธรรม ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาราวสองปี หรือครบรอบการประชุมสมัยหน้าใน COP 17 นั่นเอง

ณฐาภพ สังเกตุ; เรียบเรียง