ในยุคสมัยที่ชาวเกาะยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ผืนทะเลฝั่งอันดามันแถบอาดัง-ราวี หลีเป๊ะ เตลิดเลยไปจนถึงภูเก็ต เป็นเส้นทางเดินเรือหาปลาของชาวเลอูรักลาโวยจทั้งสิ้น หลายชีวิตเกิด อยู่ กิน และตายอยู่บนเรือ มีเพื่อนสนิทเป็นสัตว์ทะเล ได้รับการเห่กล่อมก่อนนอนจากหมู่ดาว และก้าวสู่วันใหม่ไปพร้อมเกลียวคลื่น
แต่ไม่ใช่ทุกคืนที่ทะเลจะเป็นมิตร โดยเฉพาะในช่วงเดือนแรกของปีปฏิทินไปจนถึงต้นเดือนสี่ ซึ่งพี่น้องชาวเลจะมีประเพณีกลับมารวมตัวพร้อมครอบครัว อยู่เป็นกลุ่มใหญ่ร่วมกันบริเวณหน้าหาด ภาษาอูรักลาโวยจเรียกกิจกรรมนี้ว่า “บาฆัต” สำหรับคนเมืองอาจนิยามช่วงเวลาที่ลมตะวันออก (ลมบารั๊ย) เริ่มสำแดงเดชว่า ฤดูมรสุม ชาวเลจึงมาอยู่ร่วมกันเพื่อจอดเรือหลบลม และลดทอนความเสียหายจากภัยธรรมชาติ เพราะเรือคือเรือนใจ ชาวเลเลยให้ความสำคัญสูงสุด มรสุมเป็นศัตรูตัวร้ายที่หากไม่จำเป็นก็ต้องเลี่ยง
โดยปกติชาวอูรักลาโวยจจะใช้แนวเขาช่วยป้องกันลม การนอนรวมกันหน้าหาดจึงเป็นการหาทำเลหมุนเวียนไปเรื่อยทุกฤดู ไม่ใช่ปักหลักอยู่เป็นแหล่ง เพราะก่อนหน้านี้มีการยืนยันจากนักเรียนเลขที่ 1 ของโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง (ตั้งอยู่บนเกาะหลีเป๊ะปัจจุบัน) ว่าโดยรอบมีเกาะน้อยเกาะใหญ่ให้แล่นเรืออพยพหลบลมมากกว่า 50 เกาะ ในยุคสมัยไร้ไฟฟ้าใช้ กิจกรรมที่ทำกันยามค่ำคืนเมื่อบาฆัต คือจุดไฟประกอบอาหาร เกาะกลุ่มกันดูแลลูกหลาน เด็ก ๆ ชาวเลจะชอบบาฆัตมาก เพราะได้ช่วยงานครอบครัว ได้รวมตัววิ่งเล่นกับเพื่อนแบบเต็มอิ่ม
เล่ากันเป็นเรื่องไร้บันทึกว่า ชาวต่างชาติผมทองกลุ่มแรก ๆ มีอยู่ 6 – 8 ราย ที่โดยสารเรือนำเที่ยวหลงหน้าพายุ มาพบเห็นคืนสุดท้ายของการนอนหาด ก่อนชาวเลจะแยกย้ายกลับอาดัง กลับหลีเป๊ะ กลับสู่ผืนน้ำ คนแปลกหน้าเหล่านั้นสนอกสนใจกิจกรรมบาฆัตนี้ เป็นอย่างมาก สอดคล้องกับหนึ่งตำนานต้นกำเนิดของ ฟูลมูนปาร์ตี้ ว่าถูกจัดขึ้นครั้งแรกที่พาราไดซ์ บังกะโล ของนายสุทธิ เกื้อสกุล บนหาดริ้น เกาะพงันราว 30 – 40 ปีก่อน
ไม่มีหลักฐานหรือการยืนยันว่า ปาร์ตี้สุดเหวี่ยงท่ามกลางคืนพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้หลายหมื่นคนตลอดปี จนกลายเป็นหนึ่งหมุดหมายในการเดินทางมาเที่ยวเกาะทางภาคใต้ มีที่มาจากที่ใดกันแน่ แต่หากพิจารณาก็จะเจอว่า บาฆัต เป็นกิจกรรมลักษณะเดียวกับฟูลมูน ปาร์ตี้ แม้มีวัตถุประสงค์ต่างออกไป แต่เริ่มต้นขึ้นมาก่อน เพราะชาวเลอูอูรักลาโวยจตั้งถิ่นฐานตามหมู่เกาะอาดัง-ราวี-หลีเป๊ะ กันตั้งแต่ พ.ศ. 2452
อูรักลาโวยจผู้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่าน
ขึ้นชื่อว่า “ลูกทะเล” แต่ไม่ได้หมายความว่า กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองอูรักลาโวยจจะถนัดเพียงการหาหอย จับปลา เพราะจากเรื่องเล่าที่ย้อนได้ไกลสุด คือ นักการภารโรงคนแรกของโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง ซึ่งมีสถานะเป็นยายของผู้เขียนเล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นบนเกาะหลีเป๊ะมีการเพาะปลูกพืชสวนต่าง ๆ ทั้งมะพร้าว มะม่วง สะตอ ลูกเนียง มะม่วงหิมพานต์ ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งการบาฆัต ทุกแรม 2 ค่ำไปถึง 15 ค่ำ ช่วงเวลาพระจันทร์กำลังทำงานนั้นเหมาะแก่การทำกิจกรรมที่สุด อย่างน้อยหากเดินเรือออกไปหาหอยตกปลาแนวฝั่ง ก็จะสามารถอยู่ใกล้กับครอบครัวได้ …ใกล้มากเสียจนเด็ก ๆ หลายคนมองเห็นพ่อเห็นพี่ของตัวเองได้จากบนหาด และพากันส่งเสียงยินดีได้เมื่อมีเรือของครอบครัวตัวเองวิ่งกลับเข้ามาพร้อมวัตถุดิบสดใหม่
แต่เมื่อ เกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดัง – ราวี ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2517 คนแปลกหน้ากลุ่มใหม่ก็เข้ามาด้วยชุดข้าราชการ เริ่มจากสั่งหรือขอความร่วมมือไม่อาจทราบ พวกเขายืนกรานให้ชาวเล อาดัง-ราวี ทั้งหมดย้ายมาอยู่รวมกันยังเกาะหลีเป๊ะ ส่วนพรรคพวกของตนก็ได้ลงหลักปักฐานติดป้าย สำนักที่ทำการอุทยาน บนพื้นที่ที่ชาวเลเคยอยู่เคยกิน
ซึ่งก็ไม่ใช่ชาวเลทั้งหมดที่จะทำตาม เพราะปัจจุบันยังมีกลุ่มชาวเลบางส่วนยังอยู่ระแวกหมู่เกาะอาดัง ปักหลักกันบริเวณ อ่าวตือโล๊ะปูยะ และ อ่าวโต๊ะจืองัน ยืนหยัดและยึดมั่นและไม่ยอมถูกย้ายออกจากพื้นที่ การเข้ามาของคนแปลกหน้าแต่กลับมีอำนาจสั่นคลอนชีวิตชาวเลโดยอ้างอาญาแผ่นดิน ตั้งกฎเกณฑ์หลายข้อที่ขัดขวางวิถีหากิน พ่อต้องออกเรือไกลขึ้น ครอบครัวต้องรอนานขึ้น การนอนหาดเหลือเวลาสั้นลง สิ่งปลูกสร้างที่เรียกว่าบ้านเริ่มถูกย้ายออกห่างฝั่ง การท่องเที่ยวถูกประชาสัมพันธ์จนผู้มาเยือนล้นหลาม ตามมาด้วยการครอบครองผืนดินที่ชาวเลเคยอยู่กิน แม้กระทั่งบ่อน้ำศักดิ์สิทธิและสุสานตอนนี้ก็คล้ายมีเจ้าของ …และพื้นที่จอดเรือเหลือเพียงเป็นแนวลึก
แม้ปกติ วิธีจอดเรือของชาวเลมักคุ้นกับการจอดเรียงหน้ากระดานตามชายฝั่ง เนื่องจากทำให้การเดินขึ้น-ลงเรือ เพื่อไปตกปลาหรือทำการประมงต่าง ๆ ง่ายแล้ว ยังสะดวกเมื่อต้องไประแวดระวังภัย เคลื่อนย้ายเรือเมื่อพายุมา แต่สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทำได้อีกแล้ว เพราะหน้าหาดในปัจจุบันมีกรรมสิทธิ์ การจอดเรือเป็นแนวยาวลึกลงไปในทะเล เลยกลายเป็นภาพปกติ เชือกหนึ่งเส้นจะลากยาวจากชายฝั่งลงสู่ผืนน้ำ หนึ่งแถวจะมัดเรือได้ 5-6 ลำ เพื่อประหยัดพื้นที่ ชาวเลจะจอดเรือเป็นหย่อมตามหน้าหาด หัวเรือหันออกด้านนอกเพื่อสู้ลม ตัวเรือจะจอดห่างกัน 2-3 เมตร ป้องกันการกระแทก แม้ภาพเหล่านี้จะสวยงามเมื่อถูกถ่ายทอดแล้วบันทึกลงบนโปสการ์ดหรือเอกสารโปรโมทแหล่งท่องเที่ยว แต่มันก็สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตที่ชาวเลอูรักลาโวยจต้องอยู่อาศัยบนข้อจำกัดนานาประการ
เกาะหลีเป๊ะ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่รองรับนักเดินทางสูงสุดถึง 1,500 คน ต่อวัน สร้างรายได้หมุนเวียนให้ธุรกิจการท่องเที่ยวกว่า 6 พันล้านบาทต่อปี แต่ชาวเลอูรักลาโวยจมีส่วนร่วมสูงสุด คือ การแบกรับค่าครองชีพราคาสูง ทั้งสินค้าอุปโภค – บริโภค ที่ทะลักเข้ามาจากฝั่ง ชี้นิ้วไปตรงไหนก็จะได้เจอข้าวของแพงทุกอย่าง แม้กระทั่งค่าไฟฟ้า
โปรโมชั่นเติมความเจริญ ด้วยบัตรเติมไฟ
หากความเจริญของเมืองถูกประเมินด้วยการมีไฟฟ้า – น้ำประปาใช้ เกาะหลีเป๊ะคงถูกนับเป็นหนึ่งในแดนศิวิไลซ์ได้เช่นกัน เพราะปัจจุบัน มีโรงไฟฟ้าเอกชนเข้ามาดำเนินงานผลิตและจ่ายไฟให้กับทั้งเกาะ ด้วยอัตราค่าใช้งานหน่วยละ 25 บาท
โดยปกติบ้านของชาวเลจะมีทีวีหนึ่งเครื่อง พัดลม 2 – 3 ตัว ไม่มีตู้เย็นและเครื่องซักผ้า ต่อวันจะใช้ไฟอยู่ที่ประมาณ 6 หน่วย หรือเฉลี่ยวันละ 150 บาท (4,500 บาท/เดือน) วิธีการนั้นแสนง่าย ผู้ลงทะเบียนใช้ไฟทุกหลังคาเรือนจะได้รับบัตรหนึ่งใบ คล้ายบัตรเติมเงินโทรศัพท์ เจ้าหน้าที่จะมาติดตั้งตู้จ่ายไฟให้ที่เสาใกล้บ้าน แล้วเชื่อมสายไปยังตัวบ้าน การเติมไฟต้องเดินทางไปที่ทำการโรงไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งหากจากชุมชนราว 10 นาที ชำระเงินก่อนแล้วกลับมาเสียบบัตรเข้ากับตู้เพื่อใช้งาน บนตู้มีเลขแจ้งเตือนปริมาณคงเหลือของหน่วยไฟ ค่าใช้จ่ายถูกคิดตามจำนวนใช้จริง และจะตัดทันทีที่ยอดหมด
ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยหุงข้าวด้วยหม้อไฟฟ้า แต่ว่ามื้อนั้นต้องออกไปหาซื้อกิน เพราะไฟตัดเสียก่อนตอนข้าวยังไม่สุก ด้วยความหิวจึงต้องพาทั้งบ้านไปรับประทานที่อื่น ทั้งที่เตรียมกับข้าวเอาไว้แล้ว หรือประสบการณ์จากข้างบ้าน ที่ทีวีตัดตอนหนังเรื่องโปรดพึ่งแนะนำนักแสดงเสร็จกำลังจะเริ่มก็มี
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สะท้อนภาพความเจริญของหลีเป๊ะแบบก้าวกระโดด ขณะที่ชาวเลคล้ายเป็นได้เพียงคนอื่นทั้งที่เหยียบยืนอยู่บนผืนดินตัวเอง ซ้ำร้ายในหลายครั้งต้องถูกดำเนินคดีจากกรณีพิพาทเรื่องที่ดิน เพราะคนบางกลุ่ม กลายเป็นผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์และฟ้องร้องชาวเลว่าเป็น “ผู้บุกรุก”
เขียนโดย: นภัสนันท์ ยาดำ