1 ทศวรรษ ‘รับลูกสาวม้งกลับบ้าน’ ทลายอคติที่ขวางกั้นสายสัมพันธ์ของครอบครัว

“วันนี้หลานสาวของผมเสียชีวิต ยังไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะนำศพไปทำพิธีกรรมได้ที่ไหน ต้องเอาศพไว้นอกบ้านเพราะเธอเพิ่งหย่ากับสามีมา”

สวัสดิ์ ท้าวภิรมย์  คณะทำงานรับลูกสาวกลับบ้าน ได้เล่าเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้นภายในวันเดียวกัน ระหว่างร่วมพูดคุยอยู่ในรายการ IMN Live Spacial EP.#18 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ในหัวข้อ: 1 ทศวรรษ “รับลูกสาวม้งกลับบ้าน” ความรักของพ่อที่ไม่เคยจางหาย เขาเป็นหนึ่งในคนที่ขับเคลื่อนโครงการนี้ จากประสบการณ์ในวัยเด็กที่พี่สาวตนเองออกไปแต่งงานและสุดท้ายหย่าร้าง ในวันนั้นพี่สาวของสวัสดิ์ถูกมองว่าเป็นตัวเฮงซวย เมื่อเขารับพี่สาวกลับมาอยู่ร่วมกับครอบครัวเดิมของตัวเอง

“หมูตายไก่ตายเขาก็โทษพี่สาวคนนี้ เวลาพี่สาวไม่สบายคนในครอบครัวจะบอกว่าเอามันไปข้างนอกเดี๋ยวมันตายเราจะฉิบหายกัน ตัวผมเองยังน้ำตาไหลเมื่อได้ยินแบบนี้ ได้แต่คิดว่าถ้าสักวันหนึ่งโตขึ้นผมจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้ได้”

มาถึงวันนี้โครงการรับลูกสาวม้งกลับบ้าน ได้ช่วยเหลือผู้หญิงม้งมากกว่า 100 คนกลับบ้าน แต่ก็ยังมีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ต้องทนทุกข์กับโครงสร้างประเพณีเหล่านี้ เฉกเช่นเดียวกับหลานสาวของสวัสดิ์ที่เมื่อหลังหย่าร้างกับสามีและยังไม่สามารถกลับมาอาศัยอยู่กับครอบครัวได้ทันที จนในท้ายที่สุดเธอเสียชีวิต ท่ามกลางคำถามถึงความรับผิดชอบว่าใครจะเป็นคนจัดทำพิธีศพให้กับเธอ ระหว่างครอบครัวของเธอหรือครอบครัวของสามี

วัฒนธรรมม้งมีความซับซ้อนและเชื่อในเรื่องสายตระกูลอย่างเข้มข้น ผู้หญิงม้งเกิดมาเป็นลูกสาวของพ่อแม่ เติบโตมาเป็นเมียของสามี แก่ตัวไปเป็นแม่ของลูก พวกเธอมีสิทธิ์เลือกอะไรได้บ้างภายใต้วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ IMN Live Spacial EP นี้ได้พาเราไปหาคำตอบผ่านโครงการ “รับลูกสาวม้งกลับบ้าน”

สายตระกูลสิ่งกำหนดชะตาชีวิตของชาวม้ง

รัศมี  ทอศิริชูชัย ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการรับลูกสาวม้งกลับบ้าน ได้เริ่มต้นอธิบายต้นสายปลายเหตุของโครงสร้างประเพณีการปกครองของชาวม้งทั่วโลกมีสายตระกูลอยู่ทั้งหมด 18 ตระกูล ต้องแต่งงานข้ามสายตระกูลเท่านั้น ฉะนั้นเวลาที่สายตระกูลหนึ่งไปแต่งงานกับอีกสายตระกูล ลูกสาวจะต้องเป็นคนที่ออกจากตระกูลตัวเองไปอยู่กับตระกูลของผู้ชาย

“ปัญหาอยู่ตรงที่หากเกิดการหย่าร้างขึ้น ลูกสาวจะถูกตัดขาดจากสายตระกูลของสามีเป็นครั้งที่สอง ทำให้กลายเป็นคนที่ไม่มีสายตระกูลมารองรับ” รัศมีกล่าว

รัศมีเปรียบเทียบว่าผู้หญิงม้งที่ไร้สายตระกูล ก็เปรียบเสมือนคนไร้สัญชาติที่จะไม่ได้รับสิทธิต่างๆ ขั้นพื้นฐาน กล่าวคือผู้หญิงสามารถกลับมาอยู่บ้านกับครอบครัวได้ แต่ไม่มีสิทธิในการเข้าร่วมพิธีกรรมต่างๆ ทั้งยังถูกตีตราจากครอบครัวและชุมชนว่าเป็นคนไม่มีความอดทน และเป็นผู้หญิงไม่ดีทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ

“การรับลูกสาวกลับมาอยู่กับพ่อแม่ เขาถือว่าลูกสาวเป็นคนอื่นไปแล้ว ทำให้เวลาเกิดอุบัติเหตุ เขาจะโทษว่าเพราะลูกสาวนำหายนะมาสู่ครอบครัว ทำให้ครอบครัวไม่ยอมรับ ทำมาหากินไม่ขึ้นประตูเงินประตูทองล่มสลาย”

‘ผู่’ พิธีกรรม รับลูกสาวกลับบ้าน ภาพโดย: เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย

ด้วยความเชื่อที่ไร้การพิสูจน์เช่นนี้ ทำให้รัศมีที่ทำงานกับผู้หญิงชนเผ่ามากว่า 20 ปี ริเริ่มโครงการพาลูกสาวม้งกลับบ้านเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่หมู่บ้านแม่สาใหม่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่  โดยมีสวัสดิ์เป็นตัวตั้งตัวตีในฐานะผู้ใหญ่บ้านขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว

“ตอนที่ผมตัดสินใจรับลูกสาวของตนเองกลับบ้าน มีคนบอกว่าพ่อหลวงระวังตัวเองจะซวย ผมบอกจะทำเป็นตัวอย่างให้คุณดู”

สวัสดิ์แบ่งปันประสบการณ์ของตนเองหลังจากรับลูกสาวกลับมาอยู่บ้านว่า ทำให้เขามีกำลังใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น ทุกคนในบ้านมีความสุขดี รวมทั้งสิ่งนี้ไม่ได้เป็นการไปละเมิดวัฒนธรรมความเชื่อดั้งเดิมของชาวม้งแต่อย่างใด

รัศมีอธิบายเพิ่มเติมว่า ในช่วงแรกที่เริ่มทำโครงการ เธอพยายามหาวิธีการพาลูกสาวกลับบ้านที่จะได้รับการยอมรับจากชาวม้ง จนมีผู้เฒ่าคนหนึ่งได้แนะนำ ‘พิธีผู่’ ขึ้นมาซึ่งเป็นประเพณีที่มีอยู่แต่เดิม โดยการเตรียมเงินสามร้อยบาท และหาคนในตระกูลแซ่ตัวเองหนึ่งคน และแซ่อื่นๆ อีก 2-3 คนในหมู่บ้านมาร่วมเป็นสักขีพยาน ทำพิธีผู่ให้ลูกสาวสามารถกลับเข้าสู่ตระกูลได้

‘ผู่’ พิธีกรรม รับลูกสาวกลับบ้าน ภาพโดย: เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย

“โครงการนี้ไม่ได้ไปแตะต้องวัฒนธรรมดั้งเดิมของม้ง เพียงแค่การรับลูกสาวกลับสาย

ตระกูลของตนเอง ไม่ต้องกลัวว่าโครงการนี้จะทำให้ผู้หญิงมีความคิดหย่า มันไม่ใช่การส่งเสริมให้ผู้หญิงหย่า แต่อยู่ที่ว่าหากหย่ากันแล้วผู้หญิงจะไปอยู่ที่ไหน” รัศมีกล่าว

อย่ากลัวที่จะรับลูกกลับบ้าน

เป็นที่แน่ชัดว่าวัฒนธรรมเมื่อลูกสาวม้งแต่งงานออกจากบ้านไปแล้ว จะไม่สามารถกลับมาเป็นสมาชิกในครอบครัวที่ตนเกิดและเติบโตมาได้อีกต่อไป คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือลูกสาว แต่ในขณะเดียวกันวัฒนธรรมดังกล่าวได้สร้างบาดแผลให้แก่คนเป็นพ่อแม่ รัศมีได้เล่าย้อนไปถึงช่วงเวลาที่เธอลงพื้นที่ทำงานช่วงแรก นอกจากน้ำตาของผู้หญิงม้งที่เธอได้เห็นอยู่ตลอด คนเป็นพ่อเองก็น้ำตาตกไม่ต่างกัน เพราะเมื่อต้องเลือกระหว่างลูกสาวกับการสืบสายตระกูล ผลสุดท้ายแล้วคนเป็นพ่อโดยส่วนใหญ่ก็เลือกสายตระกูลสำคัญกว่าลูกสาวของตนเอง 

“ฟังแบบนี้มันเจ็บปวด” รัศมีกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ “วัฒนธรรมนี้ไม่ใช่ผู้หญิงเท่านั้นที่เจ็บปวด คนเป็นพ่อเองก็เจ็บปวดที่ไม่สามารถรับลูกของตัวเองกลับมาได้”

สวัสดิ์ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ในการรับลูกสาวกลับบ้านนั้นดูเหมือนจะได้รับการยอมรับจากฝั่งผู้เป็นพ่อง่ายกว่าฝั่งของแม่ สวัสดิ์มองว่าเพราะผู้หญิงมีความเชื่อที่เข้มข้นว่าการรับลูกสาวกลับมาอยู่บ้านนั้นจะทำให้ครอบครัวแตกแยก ซึ่งสะท้อนมาจากการที่ผู้หญิงต้องอยู่ภายใต้โครงสร้างที่ถูกกดทับมาหลายร้อยปี จึงทำให้พวกเธอกลายเป็นกลุ่มคนที่มีความกลัวมากที่สุด

“มันไม่มีหรอกสิ่งเลวร้ายเหล่านั้น เรากลับมาบ้านทุกคนก็ดีใจ หลังจากที่พ่อกับแม่รับเรากลับบ้าน เขาทำอะไรเราก็ดีใจว่าจะได้ไปร่วมกับเขา”

คือเสียงจากชลิตา เฟื่องฟูกิจการ อดีตผู้เข้าโครงการรับลูกสาวกลับบ้าน เธอเป็นหนึ่งในลูกสาวม้งที่ได้กลับบ้านและมาร่วมเสวนาครั้งนี้ เธอกล่าวสั้นๆ ว่าหลังจากที่เธอกลับมาอยู่กับครอบครัว ไม่ได้มีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้น ทุกคนอยู่ดีมีสุขไม่มีใครเจ็บป่วย และไม่มีการประสบอุบัติเหตุต่างๆ ที่คาดไม่ถึงในครอบครัวของเธอ

“เราไม่ได้มีความกลัว” ชลิตากล่าวถึงความรู้สึกของเธอเมื่อกลับบ้าน “คนรอบข้างจะพูดอย่างไรก็ช่าง เรามั่นใจในตัวครอบครัวเราก็พอ”

ในตอนท้ายของการพูดคุย สวัสดิ์ได้ตั้งคำถามกลับไปยังพ่อแม่ที่ยังไม่ยอมรับการรับลูกสาวม้งกลับบ้านว่า 

“เวลารับลูกบุญธรรมยังรับเข้ามาอยู่ในบ้านได้ แต่ทำไมลูกแท้ๆ ถึงกลับมาอยู่บ้านไม่ได้ หมูหมาเกิดและตายในบ้านได้ แต่ทำไมลูกของตัวเองกลับมามันผิดที่ตรงไหน?”

เป็นคำถามทิ้งท้ายที่มีผู้หญิงม้งอีกหลายคนรอคอยการกลับบ้าน และการได้รับการยอมรับจากครอบครัวและชุมชนได้อย่างเต็มภาคภูมิ

เรียบเรียง: ณฐาภพ สังเกตุ