
เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ร่วมด้วยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจากทั่วประเทศ ได้เดินทางมาปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา ฝั่งประตูวัดแก้วฟ้าจุฬามณี เพื่อรอฟังผลการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๖ ปีที่ ๒ ครั้งที่ ๑๔ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ซึ่งมีวาระพิจารณา “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ….” ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯพิจารณาแล้วเสร็จ (ต่อเนื่องจากวันที่ 8 มกราคม 2568) โดยเริ่มพิจารณาในมาตรา 27 (ในหมวด 5 ว่าด้วยเรื่องพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์)
บรรยากาศเมื่อวานเต็มไปด้วยความคึกคัก เกรียงไกร ชีช่วง ประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) และโฆษก กมธ.กล่าวกับ IMN ว่า ‘วันนี้ถือเป็นโค้งสุดท้ายที่มีนัยสำคัญสำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่ต้องพิจารณาอีกไม่กี่มาตรา โดยมาตราที่สำคัญที่สุดและมีปัญหามากที่สุดในการพิจารณาวันนี้ อยู่ที่มาตรา 27 เรื่องพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิต’
ฝ่ายการเมืองบางกลุ่มไปตีความมาตรานี้ในมิติอื่น ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงตามหลักการและจุดยืนตามหลักสิทธิมนุษยชน
เกรียงไกรเน้นย้ำว่าพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตฯ ไม่มีนัยเรื่องของความมั่นคงด้านดินแดน หรือการถืออภิสิทธิ์เหนือคนกลุ่มอื่น กลับกันพื้นที่คุ้มครองคือ การให้กลุ่มคนท้องถิ่นที่เป็นพี่น้องชาติพันธุ์ สามารถบริหารจัดการพื้นที่ของพวกเขาร่วมกับภาครัฐ ซึ่งเป็นทางออกสำหรับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
ทางด้านเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า บรรยากาศภายในรัฐสภาตอนนั้น เต็มไปด้วยความตึงเครียด มี ส.ส.จำนวนหนึ่งคัดค้านไม่ยอมรับการแก้ไขเนื้อหามาตรา 27 ของ กมธ.เสียงส่วนมาก โดยกลุ่มที่คัดค้านประกอบไปด้วย กลุ่ม สส. ที่ยึดความคิดแบบกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ที่ไม่อนุญาตให้คนอยู่กับป่า และใช้วาทกรรมว่ากลุ่มชาตพันธุ์เป็นคนทำลายป่า มายับยั้งมาตราดังกล่าว

กลุ่มต่อมาคือ กลุ่มที่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจกับทางนายทุน เลาฟั้งกล่าวว่า กลุ่มนี้เลือกที่จะคัดค้านเนื่องจากหลายพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ทับซ้อนกับพื้นที่เหมือง และกลัวว่าพวกเขาจะสูญเสียผลประโยชน์ และ ส.ส.กลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มที่ไม่ไว้ใจชาวบ้าน และไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ โดยมองว่าการยกพื้นที่ป่าให้ชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นดูแลร่วมกัน จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า
“ภัยความมั่นคง อภิสิทธิ์ชน และการแย่งยึด” วิวาทะเดิม ๆ จาก สส.พรรคเพื่อไทย
กิจกรรมภายนอกสภายังดำเนินต่อไปจนถึงช่วงเที่ยง การประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้เริ่มต้นขึ้น มีการหยิบยกประเด็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์ ฯ มาตรา 27 ว่าด้วยเรื่องพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เสนอโดย กมธ.เสียงส่วนมาก โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางส่วนขึ้นอภิปรายไม่เห็นด้วย
ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ส.ส.จังหวัดกาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย มองว่าไม่ควรมีมาตรา 27 อยู่ในพรบ.ฉบับนี้ เพราะกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีการแก้ไขกฎหมาย พรบ.อุทยานฯ และพรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยในป่าได้แล้ว โดยผ่านการแจ้งการครอบครอง

“ผมไม่เชื่อหรอกว่าคนอยู่กับป่าและไม่ถางป่า”
ศักดิ์ดากล่าว พร้อมระบุว่าถ้าปล่อยให้มีการประกาศพื้นที่คุ้มครองให้กลุ่มชาติพันธุ์ จะยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้-อุทยานทำงานได้ยากขึ้น รวมทั้งกฎหมายฉบับนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการถูกร้องเรียนจากองค์กรอิสระเป็นอย่างมาก รวมทั้งที่ผ่านมาภาครัฐพยายามที่จะรักษาให้มีพื้นที่ป่าต้นน้ำมาโดยตลอด การประกาศพื้นที่คุ้มครองย่อมส่งผลกระทบต่อพื้นที่อยู่อาศัยของคนภาคกลาง และคนกรุงเทพฯ โดยเขามองว่า มาตราดังกล่าวเป็นปัญหาสำหรับคนบางคนที่ต้องการพื้นที่ป่ามาครอบครอง
ไม่ต่างจากประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่กล่าวว่า พื้นที่คุ้มครองไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นกระบวนการรัฐซ้อนรัฐ ที่จะยกพื้นที่ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งดูแล เขามองว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ ตอนนี้มีการแต่งเติมจนผิดหลักการจากร่างเดิมของคณะร้ฐมนตรี ที่ทำให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

“ถ้าเราต้องยกพื้นที่ภูเขาให้กับคนกลุ่มนี้แล้วประเทศชาติจะเหลืออะไร”
ประยุทธ์กล่าวก่อนที่จะสรุปว่า เขาเห็นด้วยกับหลักการของกฎหมายฉบับนี้ และเป็นห่วงวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ให้คำแนะนำว่าควรกลับไปใช้หลักการเดิมที่เป็นร่างกฎหมายของรัฐบาล
โดยท้ายที่สุดแล้วที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .… ในมาตรา 27 กรณีการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรมีมติโหวต 268 ต่อ 154 เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ที่นำโดยนิคม บุญวิเศษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ขอสงวนความเห็นให้มีการแก้ไข โดยตัดข้อความที่ระบุ ‘งดเว้นการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ในพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์’ ออก เพราะเกรงว่าเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ จะเข้าไปทำงานตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้
แถลงการณ์ประชาชนไม่ร่วมสังคายนากฎหมายที่ไม่ฟังเสียงประชาชน
เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ส.ส.พรรคประชาชน และ กมธ.ร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ สัดส่วนภาคประชาชน ร่วมกับเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พร้อมด้วยกลุ่มพีมูฟ ได้แถลงประณาม และแสดงความผิดหวัง หลังสภาฯ โหวตคว่ำมาตรา 27 ไม่เห็นด้วยกับหลักการ “พื้นที่คุ้มครองชาติพันธุ์” ตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก แต่ไปเห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่ต้องไม่กระทบกับกฎหมายอื่น
เลาฟั้งได้แถลงยืนยันว่าให้สภาฯ คว่ำร่างกฎหมายชาติพันธุ์ในวาระ 3 ที่จะมีการโหวตรับรองทั้งฉบับ

โดยให้เหตุผลว่า หากเสียงส่วนมากในสภาฯ ไม่เห็นด้วยกับหลักการ “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” ตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ซึ่งเป็นหัวใจหลักของกฎหมายดังกล่าว กฎหมายฉบับนี้ก็ไม่สามารถคุ้มครองส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ตามเจตนารมณ์ได้
ทางด้านศักดิ์ดา แสนมี่ เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และ กมธ.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง IMN ว่า รัฐบาลชุดนี้ต้องการให้มีกฎหมายนี้ แต่ไม่ต้องการให้ออกมาตามเจตนารมณ์ของภาคประชาชนที่ร่วมผลักดันกฎหมายนี้ด้วย
“กฎหมายนี้ถ้าไม่มีพื้นที่คุ้มครอง แล้วจะมีกฎหมายนี้ไปทำไม สำหรับพวกเรามันไม่มีความหมายใดๆ แต่สำหรับรัฐบาลหรือพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล มันอาจใช้เป็นเครื่องมือสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีหรือเป็นหน้าตาให้กับพวกเขาได้ว่าตัวเองได้ผลักดันจนมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาได้”

ศักดิ์ดาเน้นย้ำว่า สาระหลักของมาตรา 27 พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ คือ การจัดการที่ดินและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน โดยไม่ให้นำกฎหมายอื่นๆ มาใช้บังคับ เช่น กฎหมายด้านป่าไม้ทั้งหลาย เพื่อไม่ให้มีการละเมิดสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองเหมือนดังที่ผ่านมา โดยพื้นที่คุ้มครองนี้ ประชาชนไม่ได้หวังครอบครองพื้นที่ป่าไม้แต่อย่างใด แต่เป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐและคนในท้องถิ่น ร่วมกันจัดการพื้นที่ที่เป็นบ้านเกิดของพวกเขาเอง โดยมีการจัดทำเป็นแผนแม่บท แผนที่ และธรรมนูญของชุมชนเพื่อการจัดการพื้นที่คุ้มครองฯ ที่อยู่บนข้อตกลงร่วมระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่อยู่แล้ว
“เราจึงมีความเห็นตาม กมธ.เสียงส่วนใหญ่ที่ว่า ไม่ควรนำกฎหมายอื่นมาบังคับใช้ในพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิต เพราะที่ผ่านมากฎหมายเหล่านี้รังแกกลุ่มชาติพันธุ์มามากพอแล้ว” ศักดิ์ดากล่าวทิ้งท้าย
ในขณะที่สุนี ไชยรส อีกหนึ่ง กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ระบุว่า เป็นเวลากว่า 15 ปีที่ภาคประชาชนร่วมกันผลักดันกฎหมายฉบับนี้จากเสียงของประชาชนที่ร่วมเข้ารายชื่อ แต่ก็เป็นที่น่าผิดหวังที่สภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากไม่ได้รับฟังเสียง โดยสุนีได้ประกาศกับทางมวลชนที่มาร่วมชุมนุมว่า ขอให้พวกเขายังคงยืนหยัดยืนยันตัวตนด้วยคำว่า ‘ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง’ และประกาศขอคว่ำกฎหมายฉบับนี้

โดยในตอนท้ายขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ร่วมด้วยพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่มาร่วมชุมนุม ได้ออกแถลงการณ์โดยมีเนื้อหาใจความว่า