วุฒิ บุญเลิศ : เขียน / ณฐาภพ สังเกตุ : เรียบเรียง
บันทึกของพระสังฆราชปาลเลอกัวซ์ บาทหลวงในคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิกชาวฝรั่งเศส ที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ในหนังสือเล่าเรื่องกรุงสยาม และเซอร์ จอห์น เบาริง (Sir John Bowring) อัครราชทูตอังกฤษที่เข้ามาเจรจาและทำสนธิสัญญากับประเทศสยาม ในหนังสือเมืองประเทศราชของสยามในสมัยรัตนโกสินทร์ ทั้งสองได้บันทึกเรื่องราวบ้านเมืองอิสระ ที่สังกัดประเทศอื่น หรือที่เรียกกันว่าเมืองขึ้นของประเทศสยาม ที่มีทั้งตรังกานู กลันตัน ปัตตานี เกดาห์ นคร (ศรี ธรรมราช) กัมพูชา โคราช เชียงใหม่ ลำพูน ลคร (หมายถึงนครลำปาง) แพร่ น่าน หลวงพระบาง เมืองหล่ม (สัก) รวมทั้งหัวเมืองเขมร ชนเผ่าชอง กะเหรี่ยงและละว้า
ประชากรของอาณาจักรแบ่งออกเป็นชาติต่าง ๆ 5 ส่วนประมาณ 6 ล้านคน เป็นชาวสยามหรือไทย 1,900,000 คน จีน 1,500,000 คน มลายา 1,000,000 คน ลาว 1,000,000 คน เขมร 500,000 คน มอญ 50,000 คน กะเหรี่ยง ชอง ละว้า 50,000 คน

ในบันทึกของปาลเลอกัวซ์ ได้ระบุว่ากะเหรี่ยงเป็นชนชาติที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศสยามมาแต่ก่อน เมื่อคนไทยถอยร่นลงมาจากทางเหนือและมาสร้างบ้านแปลงเมืองอยุธยาขึ้นนั้น ชาวกะเหรี่ยงต้องยอมเสียพื้นที่ให้ และเข้าไปอยู่ทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ตั้งถิ่นฐานอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน
ชาวกะเหรี่ยงมีรูปร่างสูงใหญ่และทรวดทรงดี เป็นคนว่องไว แข็งแรง ล่ำสัน โดยที่คุ้นกับการพเนจรและทำงานในป่ามาแต่อายุยังน้อย จึงสามารถทนความหิวความกระหายและความขาดแคลน สีหน้าท่าทีของชาวกะเหรี่ยงโดยเฉพาะผู้หญิง มีลักษณะเป็นคนอ่อนโยนและใจดี พวกผู้ชายสวมเสื้อชนิดแขนกว้างและแขนสั้น แต่ตัวยาวลงมาเกือบครึ่งขาอ่อน แล้วผูกรัดไว้ด้วยผ้าคาดหรือเข็มขัดและโพกหัวด้วยผ้าผืนหนึ่ง

พวกกะเหรี่ยงไว้ผมยาวและเจาะหูเพื่อเสียบขนนก หรือต่างหูทำด้วยเงินข้างในกลวง ผู้หญิงนุ่งโสร่งหรือซิ่น สวมเสื้อประดับด้วยเลื่อมหรือเมล็ดผลไม้ร้อยปักเป็นลวดลายแปลก ๆ ใช้กำไลคอหลายวง และโพกหัวด้วยผ้าผืนใหญ่ทิ้งชายไว้เหนือบ่าทั้งสองข้าง กระท่อมของพวกกะเหรี่ยงสร้างด้วยไม้ไผ่ และทางขึ้นเรือนใช้กระไดพาดชักขึ้นลงได้ เครื่องไผ่ น้ำเต้า ตะกร้า กับสาดหยาบ 2 ผืนเป็นเครื่องแต่งเรือนทั้งหมดของชาวกะเหรี่ยง กระท่อมที่สร้างขึ้นนี้ใช้อยู่อาศัยกันเพียงปีเดียวเท่านั้น เพื่อให้ได้พื้นที่ว่างมากพอที่จะทำการปลูกข้าว แล้วย้ายแหล่งที่ทำกินใหม่ในทุกปี
ชาวกะเหรี่ยงไม่มีตัวบทกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร ขนบประเพณีที่ตกทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ คือกฎหมายของชนเผ่านี้ โดยจะเลือกบุคคลที่เก่งและมีผู้นับหน้าถือตาขึ้นเป็นหัวหน้า และผู้เป็นหัวหน้านี้ก็มักเป็น บุคคลที่ไม่ฉวยโอกาสที่จะใช้อำนาจตามความเป็นใหญ่ของตน พอใจตั้งตนเป็นที่ปรึกษาและปกครองลูกบ้านเท่านั้น
ชาวกะเหรี่ยงนับถือผีอยู่ 2 ตน คือผีแห่งความดีและผีแห่งความชั่วร้าย ผีดีนั้นไม่ได้รับการเซ่นไหว้ ส่วนผีร้ายนั้นกลับได้รับเครื่องเซ่นไหว้เป็นไก่ ผลไม้ ดอกไม้ ฯลฯ เพื่อประจบมิให้ผีโกรธหรือเพื่อขอลาภ กะเหรี่ยงไม่มีนักบวช วัด ศาสนาหรือมนตร์สำหรับใช้สวดบริกรรม ผู้เป็นประมุขของบ้าน มีภาระจัดเครื่องเซ่นให้แก่ผีร้าย ทุกครั้งที่เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้น ในเรือนของตนหรือเมื่อต้องการให้ช่วยปัดเป่าภยันตราย
ชาวกะเหรี่ยงเป็นคนมัธยัสถ์ ชังการลักขโมยและลัทธินิยมการมากผัวมากเมียไม่มีในชนเผ่านี้ กล่าวกันว่า ชาวกะเหรี่ยงเป็นญาติพี่น้องกันทั้งนั้น เรือนใดไม่มีกินจะมีการแบ่งสันปันส่วน อาหารการกินให้แก่กันและกัน
ชาวกะเหรี่ยงทำศพด้วยวิธีเผา จากนั้นจะเก็บกระดูกส่วนกะโหลกศีรษะไปแขวนกับต้นไม้ พร้อมด้วยเสื้อผ้ากำไลคอและอาวุธของผู้ตาย แล้วก็ร้องรำทำเพลงกันด้วยสำเนียงอันละห้อย เสร็จแล้วผู้เฒ่าจะนำเอากะโหลกศีรษะ กับข้าวของเครื่องใช้ของผู้ตายไปไว้ในที่ลับตาคน บอกกับมิให้ผู้ตายกลับไปรบกวนคนทางบ้านอีก เพราะว่าอะไร ๆ ก็ได้ฝังตามตัวไปให้จนหมดสิ้นแล้ว
ต่อมาสำหรับชนเผ่าละว้า ปาลเลอกัวซ์กล่าวว่า มักตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบเขาทิศตะวันตกค่อนไปทางทิศเหนือ มีความสัมพันธ์กับชาวกะเหรี่ยงในด้านธรรมเนียมประเพณีอย่างใกล้ชิด พวกละว้านิยมการปลูกฝ้าย เพราะคนสยามใช้ผ้าห่มนวมกันมาก ละว้ามีพื้นเพเดิมมาจากลาว มักดำเนินการค้าขายด้วยการแลกเปลี่ยนสินค้ากับคนสยามและจีนที่เดินทางเข้าไปติดต่อกับชาวละว้าจนถึงถิ่นที่อยู่
ในส่วนของชนเผ่าชองนั้นน่าจะมีพื้นเพผสมกันมากับชาวกะเหรี่ยง ต่อมาก็ปะปนกับพวกที่หลบหนีราชการทหาร และพวกที่หลบหนีมาจากเมืองใกล้ ๆ เพราะฉะนั้นจึงบรรยายรูปลักษณะด้วยว่าเป็นชนเผ่าพันธุ์ผสมกับกะเหรี่ยง, สยาม และเขมร การแต่งกายของผู้ชายมีเตียวพันกายอยู่ผืนเดียวเท่านั้น ส่วนผู้หญิงสวมผ้าถุงเนื้อหยาบ และมีลายสลับสีต่าง ๆ
ทางทิศเหนือของจังหวัดจันทบูรณ์ (จันทบุรี) กล่าวกันว่ามีภูเขาล้อมรอบเป็นวงกลมเป็นที่ตั้งถิ่นที่อยู่อาศัยของเผ่าชอง ซึ่งรักษาเส้นทางเข้าออกตามพื้นที่ของตนเองทุกด้านไว้อย่างหวงแทน จะยอมให้บุคคลภายนอกผ่านเข้าไปได้ เฉพาะผู้ที่เคยติดต่อทำมาค้าขายเล็ก ๆ น้อยๆ ที่คาดว่าจะไม่เป็นภัยแก่พวกเขา ภูเขาที่พวกชองอาศัยอยู่นั้นว่ากันว่าเป็นแหล่งพลอยอันมีค่า ซึ่งนานๆ ครั้งพวกชองจะนำไปเป็นบรรณาการแก่เจ้าเมืองจันทบูรณ์
พวกชองเคารพในตัวผู้เป็นหัวหน้าเผ่ามาก หัวหน้าเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาด สั่งให้ดำเนินการตามกฎและประเพณีโดยเคร่งครัด กฎหมายของชนเผ่านี้กล่าวกันว่าเข้มงวดนัก แต่ไม่ค่อยมีการละเมิดเท่าใดเลย
ชองมักประกอบอาชีพเก็บขี้ผึ้ง ผลกระวาน ยางไม้ ไม้กฤษณาและผลิตผลอย่างอื่น ครั้นถึงฤดูน้ำก็นำสินค้าเหล่านี้ไปขายที่จันทบูรณ์ เพื่อหาซื้อตะปู ขวาน เลื่อยและพร้า เกลือ กะปิ และสิ่งจำเป็นอื่นๆ ไว้ใช้สอย
สำหรับชนเผ่าชองอาชีพเก็บขี้ผึ้งนับว่าเป็นอาชีพที่มีอันตราย เพราะผึ้งตัวโตเกือบเท่าแมลงด้วงพร้าว สร้างรังของมันไว้ตามต้นไม้ใหญ่ วิธีการตีผึ้งของพวกชองจะเตรียมลิ่มไม้เนื้อแข็งไว้เป็นจำนวนมาก นำเอาไปตอกเข้ากับลำต้นไม้ที่จะปืนขึ้นไป เมื่อจะดำเนินการตีผึ้งต้องตั้งศาลเพียงตาเซ่นไหว้เสียก่อน แล้วไต่ต้นไม้ขึ้นไปตามลิ่มที่ตอกไว้ให้เข้าใกล้รังมากที่สุด
จากนั้นใช้ไม้สอยจนรังผึ้งหลุดจากกิ่งไม้ตกลงไปข้างล่าง เป็นที่สังเกตว่าก่อนที่จะลงมือสอยรังผึ้งนั้น พวกเขาจะต้องสุมไฟรมควันไล่ฝูงผึ้งให้หนีไปเสียก่อนตั้งแต่วันก่อนทำการ
ผู้เขียนเลือกนำเสนอเรื่องราวดังกล่าวในบทความชิ้นนี้เพื่อสื่อให้เห็นว่า จากสายตาของชาวต่างชาติที่ได้อยู่ร่วมสมัยในช่วงเวลาที่ยังไม่มีการเกิดขึ้นของรัฐไทยสมัยใหม่นั้น ความเป็นราชอาณาจักรไทยคือการกวาดต้อนผนวกเอาดินแดนอื่น ๆ มาอยู่ภายใต้ข้อตกลงที่บ้านเมืองอิสระเหล่านี้ ต้องส่งต้นไม้เงินและทองไปถวายต่อเจ้ากรุงสยามในทุก 3 ปี พวกเขาเหล่านั้นล้วนเป็นชนเผ่าพื้นเมืองของดินแดนตนเอง การที่ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ชอง ละว้า ปรากฏอยู่ในบันทึกนั้นก็เพราะว่าเป็นช่วงเวลาที่สหราชอาณาจักรให้ความสำคัญกับพื้นที่ทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออกที่มีพรมแดนติดกับพม่าและกัมพูชา กะเหรี่ยง ละว้า ชอง ล้วนเป็นชนเผ่าพื้นเมืองก่อนการเกิดขึ้นของรัฐไทยสมัยใหม่ทั้งสิ้น