ไททรงดำสุราษฎร์ฯ กว่าร้อยครัวเรือน เสี่ยงโดนไล่ที่ เหตุรัฐอาจประกาศ นสล. ผิดตำแหน่ง

“ในประวัติศาสตร์ ชุมชนชาติพันธุ์ไทดำ ที่ อ.บ้านนาเดิม ของพวกเรา ตั้งรกรากที่นี่มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 ครับ ตอนนั้นมีเลขที่บ้านด้วย ส่วนการประกาศให้ที่ดินบ้านเรามีสถานะเป็น นสล. (หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง) เพิ่งประกาศครั้งแรกเมื่อปี 2529 นี่เอง”

“พวกเราเป็นผู้บุกเบิกด้วยซ้ำ แต่กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุก”

จันทรัตน์ รู้พันธุ์ หรือ อ้น ผู้ประสานงานกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ชุมชนไทดำ อ.บ้านนาเดิม จ.สุราษฎร์ธานี  เล่าถึงประวัติความชอบธรรมการตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวไทดำที่นี่ ว่าเป็นชุมชนที่อพยพมาตั้งรกรากมานานกว่า 70 ปีแล้ว ถือเป็นกลุ่มคนที่เข้ามาบุกเบิกพื้นที่ในบริเวณนี้ด้วยซ้ำ แต่กลับได้รับผลกระทบจากนโยบายที่ดินของรัฐที่มาประกาศที่หลวงทับชุมชนและพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน แถมยังเป็นการประกาศผิดตำแหน่งอีกด้วย

วันนี้ (2 เมษายน 2568) ชาวไทดำ ซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่ 1 และหมู่ 4 ต.ทรัพย์ทวี อ.บ้านนาเดิม ต้องมานั่งชุมนุมกันที่หน้าที่ว่าการอำเภอ เนื่องจากได้รับแจ้งจากฝ่ายปกครองตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2568 ว่า ไม่อนุญาตให้อาศัยอยู่ที่นี่อีกต่อไป ถ้ายังอยู่จะมีความผิดถูกดำเนินคดี และอาจจะถูกไล่รื้อ โดยให้เวลา 30 วัน เพื่อย้ายออกไป และจะครบกำหนดในวันพรุ่งนี้ (3 เมษายน 2568)

หมายความว่า ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2568 หากชาวไทดำ 2 ชุมชน รวม 135 ครัวเรือน บนที่ดินประมาณ 2,800 ไร่ ที่ตั้งรกราก อยู่อาศัย และทำกินในพื้นแผ่นดินนี้มาตั้งแต่ปี 2496 จะมีสถานะกลายเป็น “ผู้บุกรุก” ด้วยประกาศที่เกิดขึ้นในอีก 33 ปี หลังจากที่พวกเขาเข้ามาอยู่ที่นี่

“นสล. มีประกาศ 3 รอบนะครับ ครั้งแรกปี 2529 ประกาศ 4,143 ไร่ รอบที่ 2 และ 3 ประกาศเพิ่มเติมในปี 2547 และ 2548 อีก 1,229 ไร่ และ 2,444 ไร่ รวมๆแล้ว รัฐประกาศให้บริเวณนี้กลายเป็นที่หลวงรวมกันมากกว่า 7,800 ไร่ ทั้งที่มีชุมชนของพวกเราอยู่อาศัยมานานแล้ว”

“คนที่อยู่มาแต่ดั้งเดิมก็มีทะเบียนบ้าน แต่พอครอบครัวเราขยายตัว บ้านที่สร้างใหม่ก็ไม่ได้ทะเบียนบ้าน อาจเพราะพวกเราถูกมองเป็นคนอื่น เพราะเป็นชาติพันธุ์ไทดำหรือเปล่า … แล้วปัญหาจากการไม่ได้ทะเบียนบ้าน ก็ทำให้พวกเราถูกขับไล่” จันทรัตน์ เล่าความเป็นมาของการประกาศ นสล.ทัยที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของพวกเขา

ยิ่งถ้าไปดูประวัติการเรียกร้องสิทธิในที่ดินของชาวไทดำกลุ่มนี้ จะยิ่งเห็นได้ชัดเจนเลยว่า พวกเขาไม่เคยลุกขึ้นต่อต้านการประกาศที่หลวงทับที่ทำกินของพวกเขาด้วยซ้ำ แม้ถูกประกาศทับ พวกเขาก็เลือกต่อสู้ด้วยการใช้สิทธิขอให้ชุมชนใช้ประโยชน์จากที่ดินตรงนี้ต่อไปได้ในสถานะ “โฉนดชุมชน” ไม่ใช่ที่ของเอกชน

“หลังมีประกาศ นสล.เพิ่มเมื่อปี 2547-2548 ทำให้ที่ดินที่เราอยู่ทำกินกลายเป็นของหลวง เราก็ไม่ได้ไปตัดค้าน แต่พอมาถึงปี 2551 รัฐบาลมีนโยบายโฉนดชุมชน พวกเราชาวบ้านก็ไปยื่นเรื่องขอคุ้มครองให้พื้นที่เราถูกประกาศเป็นโฉนดชุมชน เพราะเราอยู่ในที่ นสล.ครับ … จนมาถึงปี 2554 รัฐก็ส่งตัวแทนมาลงนาม MOU กับชุมชน มีทั้งผู้ว่าฯสุราษฎร์ ตัวแทนคณะทำงานแก้ปัญหาที่ดิน ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (สาทิตย์ วงศ์หนองเตย) มาร่วมลงนาม”

จนมาถึงปี 2556 สำนักงานโฉนดชุมชนลงมาตรวจพื้นที่ เราก็คิดว่าจะได้โฉนดชุมชนแล้ว วันนั้นก็เชิญมาหมดทั้ง ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กรมที่ดิน แต่กลับไปพบข้อเท็จจริงใหม่

“พอเขาตรวจสอบย้อนกลับไป กลับไปพบปัญหาว่า จริงๆแล้ว การประกาศ นสล.ที่ตรงนี้ น่าจะเป็นการประกาศ “ผิดตำแหน่ง” ครับ … หมายความว่า ตำแหน่งของการประกาศ นสล. ไม่ได้ทับที่ดินของเรามาตั้งแต่แรกแล้ว”

“ทุกอย่างถูกรื้อใหม่ทั้งหมด เข้าสู่กระบวนการค้นหาความจริง แน่นอนว่า โฉนดชุมชนก็ยังไม่ได้ประกาศ เพราะประกาศไม่ได้ แต่เราชาวบ้านก็เชื่อว่า ผลของการลงนามใน MOU ยังมีผลทำให้พวกเราอยู่ที่นี่ต่อไปได้”

ปัญหาใหญ่มาเกิดขึ้นในปี 2561 จากการเกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้รวมถึง จ.สุราษฎร์ธานีด้วย ทำให้นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) สั่งการให้ใช้พื้นที่ อ.บ้านนาเดิม บางส่วนมาทำเป็นแก้มลิงเพื่อรองรับน้ำ จากนั้นจึงมีเจ้าหน้าที่มาขุดแก้มลิงกว้างประมาณ 200 ไร่ พร้อมตัดโค่นต้นปาล์มที่ชาวไทดำปลูกไว้ ทำให้พวกเขาต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง ด้วยการไปยื่นศาลปกครอง ด้วยความเข้าใจว่า การมาขุดพื้นที่และตัดต้นปาล์ม คือการไม่ปฏิบัติตามที่ MOU (บันทึกข้อตกลงร่วม) ที่รัฐเคยให้สัญญาไว้

“เหตุผลที่เราไปศาลปกครองตอนนั้น เพราะเราต้องการได้รับความคุ้มครองครับ ประเด็นที่เรายื่นฟ้องไป คือ รัฐกำลังละเมิดข้อตกลงที่ลงนามร่วมกันไว้หรือไม่ เราไม่ได้ขอตรวจสอบสถานะของ นสล. ไม่ได้ขอให้เพิกถอน นสล.เลย”

“ก่อนที่เราไปยื่นฟ้องศาลปกครอง มีความเห็นจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยืนยันว่า รัฐต้องต้องจ่ายค่าชดเชยเยียวยาให้ชาวบ้านจากการขุดแก้มลิง แต่ทางจังหวัดไม่จ่าย ชาวบ้านก็ได้รับคำแนะนำว่าจำเป็นต้องยื่นฟ้องไว้ก่อนเพราะถ้าปล่อยนานไปจะเสียสิทธิในการฟ้อง … เราไม่ได้คิดเลยว่า ผลจากการไปยื่นฟ้องศาลปกครองครั้งนั้น จะถูกเจ้าหน้าที่รัฐนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการขับไล่เราในวันนี้ จันทรัตน์ อธิบาย

มาถึงปี 2563 กลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ สุราษฎร์ธานี ในนามกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ไทดำ เข้าร่วมกับพีมูฟโดยหวังว่าจะได้รับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินที่ยืดยื้อมายาวนาน ทำให้เกิดกระบวนการเจรจากับภาครัฐ เกิดการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขปัญหา

จนมาถึงปี 2565 คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมา มีข้อสรุปแล้วว่า การประกาศที่ นสล.ทั้งในปี 2529 2547และ 2548 เป็นการประกาศผิดตำแหน่ง พื้นที่ที่จะต้องประกาศ นสล.จริงๆ ไม่ได้อยู่ในที่อยู่อาศัยทำกินของชุมชนไทดำทั้ง 2 ชุมชน โดยผลของการตรวจสอบครั้งนี้ มีมติคณะรัฐมนตรี 16 ตุลาคม 2566 ให้แก้ไขปัญหาจนได้ข้อยุติ ผ่านการลงนามเห็นชอบจากทุกฝ่ายตั้งแต่ในระดับอำเภอ (นายอำเภอบ้านนาเดิม) จังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี) และระดับกระทรวง (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) จึงนำไปสู่กระบวนการทำแผนที่ใหม่เพื่อเพิกถอน นสล.ปี 2529 จำนวน 1,318 ไร่

แต่ในเดือนธันวาคม 2567 ศาลปกครอง มีคำสั่ง “ยกฟ้อง” ในประเด็นที่ชาวไทดำ ไปยืนฟ้องเรื่องการขุดแก้มลิงไว้ตั้งปี 2561 โดยในคำสั่งศาลปกครองมีข้อความที่ระบุเหตุผลในการยกฟ้อง เพียงว่า “ชาวบ้านยังไม่มีสิทธิในที่ดิน ก็ยังไม่มีสิทธิฟ้อง”

กุมภาพันธ์ 2568 นายอำเภอบ้านนาเดิม ใช้ผลจากคำสั่งของศาลปกครอง ประกาศให้ชาวไทดำทั้ง 2 ชุมชน ต้องย้ายออกไปภายใน 30 วัน โดยอ้างว่า ศาลปกครองวินิจฉัยแล้วว่า ชาวบ้านไม่มีสิทธิในที่ดินนี้ ??   

ทั้งหมดนี้ เป็นที่มาของการเกิดการชุมนุมด้วยเหตุผลที่แสนงุนงง

“ในคำสั่งศาล ศาลท่านแค่ยกฟ้อง เพราะพวกเรายังไม่มีสิทธิในที่ดินจึงยังฟ้องไม่ได้ ไม่มีคำไหนเลยที่บอกว่าให้ขับไล่พวกเราออกไป … และยิ่งมาดูข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหา สรุปตรงกันโดยที่ทุกภาคส่วนก็รู้แล้วว่า นสล.ถูกประกาศปผิดตำแหน่ง กำลังอยู่ในขั้นตอนการเพิกถอรด้วยซ้ำ … การมาขับไล่พวกเราใน 30 วันแบบนี้ จึงมีคำถามตามมามากมายครับ” จันทรัตน์ สรุป

****

ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ซึ่งนำเครือข่ายชาวเลอันดามันเข้าร่วมสนับสนุนการต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ สุราษฎร์ธานีด้วย วิจารณ์การทำงานของนายอำเภอบ้านนาเดิมว่า ไม่ใช่แนวทางการทำงานของนักปกครองที่ดี

แล้วนักปกครอง ตัวจริง ทำไม ถึงกลายเป็นแบบนี้ไปได้ครับ คือประกาศไล่ชาวบ้าน ออกจากที่ที่เขาเกิด ที่ที่้เขาอยู่ ที่ที่เขาเคยทำกินมาตั่งแต่รุ่น พ่อ แม่ ให้ออกภายใน 30 วัน ท่านคิดว่า เขาจะไปอยู่ที่ไหน 135 ครอบครัว หรือเห็นว่าเขาเป็นคนไทดำ หรือเพราะบางคนมีอคติ ว่าไม่ใช่คนสุราษฎร์ฯ หรือเพราะเป็นเพียงต้องทำหน้าที่ เท่านั้น ศิลปะนักปกครอง น่าจะทำได้ดีกว่านี้นะครับ มีเครื่องมือ ให้ท่านพิงหลังเยอะเลย แต่ท่านเลือกใช้เอาอย่างมีศิลปะ นะครับ เพียงขยายเวลา ตามประกาศออกไป ตามการอุทธรณ์ของชาวบ้าน ก็เดินต่อได้ครับ”

“หรือมันจะมีโครงการอะไรกำลังจะมาเกิดขึ้นที่นี่หรือเปล่าครับ” … ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ตั้งคำถามทิ้งท้าย