หมูกอง – วิถีแห่งการแบ่งปัน และความมั่นคงทางอาหารของชุมชน
“โอ๊ย…หมูข้างนอกแพง ซื้อกินไม่ไหวหรอก อยากกินก็ต้องเป็นหมูในบ้านเรานี่แหละ เลี้ยงกันเอง กินกันเอง แบ่ง ๆ กันไป อร่อยด้วย ไม่มีกลิ่นอาหารเหมือนหมูในฟาร์ม”
ผัด สุยะชอแล เล่าพลางหัวเราะเมื่อถูกถามถึงราคาหมูในตลาดสด
ชุมชนลุงผัด ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไม่ไกลนัก เดินทางด้วยรถยนต์ประมาณสองชั่วโมง ขับขึ้นไปตามถนนเส้นแม่มาลัย – ปาย แล้วเลี้ยวขวาตัดขึ้นไปที่บ้านป่าแป๋ อำเภอแม่แตง เดินทางต่อบนถนนคอนกรีตสลับลูกรังประมาณ 10 กิโลเมตร ก็จะเจอกับหมู่บ้านเล็ก ๆ ล้อมรอบไปด้วยต้นยางนา สวนเมี่ยง และป่าไม้ที่เขียวขจี ที่นี่เป็นชุมชนกะเหรี่ยงที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนัก แต่ก็เป็นหนึ่งในหลายชุมชนที่ยังคงรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมไว้ได้หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือวิถีการแบ่งปันและการพึ่งพาตนเอง

การเข้าไปเยี่ยมชุมชนในครั้งนี้ ประจวบเหมาะกับวันที่ชาวบ้านกำลังล้มหมู เพื่อแบ่งขายกันเองในชุมชน “ลุงผัด” เล่าให้ฟังว่าวิธีการนี้เรียกว่า “ตกซู หรือ ตกก๋อง” คือการแบ่งสรรปันส่วนเนื้อหมูเป็นกองละเท่าๆ กัน ในหนึ่งกองนั้นทุกคนได้กินทั้งเนื้อ หนัง เครื่องใน กระดูกและซี่โครง ยกเว้นหัวกับขาจะตกเป็นของเจ้าบ้าน ส่วนจะแบ่งเป็นจำนวนกี่กองนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดของหมูและจำนวนคนที่มาจับจอง
“เราก็ถามกันว่าใครจะเอาบ้าง ก็มาหารกัน ครั้งละสามสิบกองบ้างสี่สิบกองบ้างแล้วหมูด้วย กองหนึ่งหนักประมาณโลครึ่ง ถึง โลแปดขีด ก็ขายกันกองละสองร้อยบาท เฉลี่ยก็กิโลละร้อยสามสิบกว่า”
ลุงผัดกำลังพูดการซื้อขายหมูบนดอยในราคากิโลกรัมละร้อยสามสิบกว่าบาท ในวันที่หมูในเมืองราคาสูงขึ้นเกือบสองร้อยห้าสิบบาทต่อกิโลกรัม พร้อมทั้งเฉลยให้เราคลายข้อสงสัยว่าหมูดอยราคาถูกกว่าเพราะอะไร

เลี้ยงแบบธรรมชาติ
หมูที่กำลังพูดถึงนี้ คือ “หมูดำ” หรือหมูพันธุ์พื้นเมือง บ้างก็เรียกหมูดอย อาหารหมูล้วนมาจากธรรมชาติ เช่น ผัก หญ้า ใบบอน และหยวกกล้วยป่าที่นิยมกันมากที่สุด เพราะปลูกง่าย ขยายพันธุ์เร็วแถมช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่ารอบบ้านด้วย วิธีการเลี้ยงด้วยหยวกกล้วย ก็ทำแบบง่ายๆ หั่นเป็นแผ่นบางและสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ บางคนไปหมักกับน้ำตาล ใส่เกลือนิดหน่อย เติมแกลบเข้าไปด้วย เท่านี้ก็ได้อาหารหมูที่มาจากธรรมชาติแล้ว
“อาหารหมูเราเอามาจากธรรมชาติทั้งหมดเลย อย่างกล้วยป่าก็เอามาปลูกไว้ใกล้ๆ บ้าน แกลบก็เอามาจากโรงสีในชุมชน เพราะเราก็ทำไร่ทำนา ก็ไม่ต้องซื้ออีก ต้นทุนก็เลยไม่สูง เนื้อหมูก็อร่อยนะ ไม่อ้วนมาก มีแต่เนื้อ เป็นหมูไร้มัน ไม่มีกลิ่นคาวหัวอาหารเหมือนหมูขาว (หมูพันธุ์ในฟาร์ม)”

แพคเก็จจากธรรมชาติ
ระหว่างที่กลุ่มผู้ชายขะมักเขม้นกับการชำแหละหมูอยู่นั้น ทางฝั่งป้าเอื้อย – ปวีณา ทะโน ก็หยิบมีด สะพายก๋วย (ตะกร้า/ชะลอม) เดินลงไปท้ายสวนเมี่ยงที่อยู่ติดกับหมู่บ้าน ลึกลงไปนั้นมีลำห้วยเล็ก ๆ ที่มีต้นกล้วยป่าและพืชหลายชนิดปกคลุม ป้าเอื้อยกำลังจะตัดใบตองสาดมาเตรียมห่อเนื้อหมูที่มีคนสั่งไว้ เหตุที่ต้องใช้ใบตองสาดเพราะว่ามีความเหนียวกว่าใบตองธรรมดา เวลาห่อไม่ปริแตกง่าย

ดูแลธรรมชาติ
อาจฟังดูเหมือนทุกอย่างจะฟรี แทบไม่ต้องมีต้นทุนที่ต้องออกเงินซื้อเลย แต่ลุงผัดมองว่านี่คือผลตอบแทนที่ได้จากการดูแลป่า เพราะชุมชนที่นี่แบ่งพื้นที่ออกเป็นสัดส่วนชัดเจน ที่ดินทำกิน เช่น สวนเมี่ยง ไร่หมุนเวียน มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าใช้สอย นอกจากนี้หน้าแล้งมาก็ต้องช่วยกันเฝ้าระวังและดับไฟป่าด้วย

“มันก็ดีนะ เราดูแลป่า ป่าดูแลเรา ไม่ใช่แค่หมูนะ วัว ควาย ไก่ก็ปล่อยให้มันหากินเอง ตอนเย็นก็ไปต้อนกลับมา ไม่ต้องซื้อหญ้าให้มันกิน แต่เราก็ต้องดูแลป่าให้ดีนะ อย่างต้นกล้วยนี่ปลูกง่ายก็จริง แต่ก็ต้องมีต้นไม้ด้วย ถ้าไม่มีต้นกล้วยจะให้ไปซื้ออาหารหมูข้างนอกมาเลี้ยงก็ไม่ไหว”
ลุงผัดชี้ให้เห็นว่าส่วนหนึ่งที่ชุมชนยังสามารถดำรงชีพได้ในภาวะข้าวยากหมากแพง นั่นเป็นเพราะผลตอบแทนที่ได้รับจากการดูแลป่า รักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ และเชื่อว่าชุมชนจะมีความมั่นคงทางอาหารได้อีกนานตราบเท่าที่ยังรักษาป่าไว้ได้
“ขอเพียงให้ดูแลป่าให้ดีเถอะ ข้าวของแพงยังไงก็ไม่อดตาย” ลุงผัดกล่าวทิ้งท้าย
อ้างอิง
1. ราคาเนื้อหมู วันที่ 10 มกราคม 2565 / ฐานเศรษฐกิจ
https://www.thansettakij.com/economy/509588
2. ก๋วย (ตะกร้าไม้ไผ่) / ส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร
https://sites.google.com/site/ironmanmju/kwy-takra-miphi/prawati-khwam-pen-ma-khx-ngkwy
สนับสนุนโดย
