เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2565 ชาวบ้านชุมชนลุ่มน้ำลา 3 ตำบล คือ แม่ลาหลวง สันติคีรี และแม่โถ ของอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบล องค์กรศาสนา และองค์กรภาคประชาสังคม ได้รวมพลังเป็นหนึ่งเดี่ยว จัดให้มีพิธีกรรม 3 ความเชื่อ คือความเชื่อแบบดั้งเดิมชาวกะเหรี่ยง พุทธศาสนา และคริสศาสนา เชื่อมประสานบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสรรเสริญธรรมชาติ “หลือเกอะเจ่อ จิเปอะเตรอเกอะจ่า” ในพื้นที่ขอออกใบอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ฟลูออไรต์ ป่าขุนแม่ยวมฝั่งซ้าย ที่อยู่ในพื้นที่บ้านห้วยมะกอก ต.สันติคีรี อ.แม่ลาน้อย จ.เชียงใหม่
กิจกรรมเริ่ม 09.00 น. ด้วยการประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อแบบดั้งเดิมชาวกะเหรี่ยง คือ การบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เลี้ยงผีเจ้าที่ เจ้าป่า เจ้าเขาขุนน้ำแม่ลา รวมถึงการอธิษฐานสรรเสริญให้เทวดาอารักษ์ช่วยปกป้องดูแลผืนป่าและทรัพยากรทั้งหลาย รวมถึงแร่ธาตุต่างๆ ในผืนป่าให้ฟื้นคืนอุดมสมบรูณ์ ใครที่เข้ามาหยิบฉวยเอาทรัพยากรทั้งหลายในบริเวณนี้ก็ขอให้ถูกพันธนาการด้วย และขอให้ไม่สามารถนำทรัพยากรเหล่านั้นออกจากพื้นที่ไปได้ จากนั้นมีการประกอบพิธีกรรมบวชป่าทางพุทธและคริสต์ การเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้กับชาวบ้านลุ่มน้ำลาได้เกิดพลังในการประสานความร่วมมือช่วยกันดูแลรักษาและสอดส่องทรัพยากรในป่าลุ่มน้ำลา และช่วยกันคัดค้านการให้สัมปทานแร่ฟลูออไรต์และอื่นๆ ในพื้นที่
อนึ่งในพื้นที่ป่าชุมชนลุ่มน้ำลาบริเวณจัดพิธีกรรมนั้น เคยมีการทำสัมปทานเหมืองแร่ฟลูออไรต์มาครั้งหนึ่งแล้วในช่วงปี 2512 – 2538 ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมีการทำลายผืนป่าและแหล่งน้ำเป็นบริเวณกว้าง และชาวบ้านเดือดร้อน
“ช่วงที่เหมืองแร่เข้ามา ต้นไม้บริเวณที่ทำเหมืองแร่ ถูกตัดออกไปหมด แม่น้ำลำธาร ก็เหือดแห้ง สัตว์เลี้ยงของชาวบ้านถูกลักขโมย ทำให้ชุมชนประสบปัญหาหลายอย่าง” นางอำพร ประทุม ผู้นำสตรีบ้านแม่ลาหลวง กล่าว
ปัจจุบันพื้นที่นี้ป่าไม้ได้ฟื้นฟู มีความอุดมสมบรูณ์เป็นต้นน้ำและแหล่งอาหารที่สำคัญที่ใช้หล่อเลี้ยงชุมชนตลอดสายน้ำแม่ลา
“ถ้าหากเหมืองแร่เข้ามา ทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบรูณ์สิ่งเหล่านี้จะหายไป และมีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของชุมชน” นายนพวิทย์ โชติเกษตรกุล ตัวแทนเยาวชนชุมชนห้วยมะกอก กล่าว
ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ได้มีวงเสวนาแลกเปลี่ยนและนำเสนอบทเรียน ประสบการณ์ และผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งการลุกขึ้นมาต่อสู้และเรียกร้องสิทธิ์ของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ โดยหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำแบบบูรณาการประเทศไทย กล่าวว่า
“ในกระบวนการทำเหมืองแร่นั้น ต้องมีการทำการประเมินผลกระทบทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมก่อน ซึ่งมีหลายขั้นตอนและหน่วยงานในพื้นที่ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมและเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะองค์กรส่วนท้องถิ่น และที่สำคัญคือ ต้องรับฟังความคิดเห็นของชุมชน ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ ผู้ประกอบการมักจะใช้กลยุทธ์ในการทำให้ขั้นตอนต่าง ๆ ผ่านโดยที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมและการตัดสินใจอย่างแท้จริง”
ทนายสุมิตรชัย หัตถสาร ได้เสนอวิธีการและเครื่องมือในการต่อสู้หรือหยุดยั้งการทำเหมืองแร่ว่า “ประชาชนมี 4 สิทธิ์ กับ 3 เสรีภาพ คือ
- สิทธิ์ที่จะรู้ ไม่ว่าหน่วยงานราชการในพื้นที่จะมาทำอะไร ต้องให้ข้อมูลบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับชุมชนอย่างทั่วถึง หรือหากเราต้องการรู้ข้อมูลเพิ่มเติมให้ทำหนังสือแจ้งเพื่อขอทราบข้อมูลไปยังหน่วยงานต่างๆของรัฐได้
- สิทธิ์ที่จะร้อง เมื่อได้รับความไม่ธรรม หรือได้รับความเดือดร้อน เรามีสิทธิ์ที่จะร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆได้
- สิทธิ์ที่จะร่วม คือ เรามีสิทธิที่จะร่วมในทุกขั้นตอนกระบวนการต่างๆ แต่ในประเทศไทยให้สิทธิ์แค่ร่วมให้ความคิดเห็นเท่านั้น แต่ไม่มีสิทธิ์ร่วมตัดสินใจ และสิทธิ์ที่
- คือสิทธิ์ที่จะฟ้องถ้าเราเห็นว่ากระบวนตรงไหนที่ไม่ถูกต้องตามกฏหมาย เรามิสิทธิ์ที่จะฟ้องให้เพิกถอน ให้ยกเลิกโครงการได้”
- 3 เสรีภาพ คือ 1. เสรีภาพในการแสดงออก แสดงความคิดเห็น 2. เสรีภาพในการรวมกลุ่ม เป็นเครื่องมือในการสร้างพลังร่วม 3. เสรีภาพในการชุมนุม เป็นเครื่องมือให้เสียงพี่น้องดังมากพอ ที่จะเรียกร้องอำนาจในการตัดสินใจร่วมกับหน่วยงานก่อนที่จะออกประทานบัตรเหมืองแร่”
3 เสรีภาพ คือ
- เสรีภาพในการแสดงออก แสดงความคิดเห็น
- เสรีภาพในการรวมกลุ่ม เป็นเครื่องมือในการสร้างพลังร่วม
- เสรีภาพในการชุมนุม เป็นเครื่องมือให้เสียงพี่น้องดังมากพอ ที่จะเรียกร้องอำนาจในการตัดสินใจร่วมกับหน่วยงานก่อนที่จะออกประทานบัตรเหมืองแร่”
ตอนท้ายของเวทีมีการอ่านแถลงการณ์เพื่อแสดงจุดยืนของชุมชนลุ่มน้ำลา เกี่ยวกับการขอสัมปทานเหมืองแร่ในพื้นที่ โดยมีรายละเอียดดังนี้
คำประกาศเจตนารมณ์
พวกเรา “ชาวลุ่มน้ำลา” ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทั้งคนปกาเกอะญอ ละว้า และคนเมือง ณ ตำบลสันติคิรี ตำบลแม่ลาหลวงและตำบลแม่โถ ที่มารวมตัวกัน ณ ที่นี่ เพื่อประกอบพิธีกรรม “หลือเกอะเจ่อ จิเปอะเตรอเกอะจ่า” บวชภูเขา(บวชป่า) และร่วมกันบูชาจิตวิญญาณแห่งธรรมชาติ เพื่อสืบทอดคำสอนของบรรพบุรุษที่ให้เรารักป่า รักดิน รักน้ำ และดำรงวิถีชีวิตที่ผูกพัน เกื้อกูล และเคารพต่อธรรมชาติ ผืนป่าและสายน้ำ
นับตั้งแต่ที่เราได้รับรู้ว่าจะมีโครงการเหมืองแร่ฟลูออไรต์เข้ามาในพื้นที่หมู่บ้านห้วยมะกอก ตำบลสันติคีรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และภูเขาที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำแม่ลาหลวง อันเป็นสายน้ำหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตของเราชาวลุ่มน้ำลามาตลอดตั้งแต่บรรพบุรุษ พวกเราได้ร่วมกันเรียกร้องคัดค้านโครงการต่อหน่วยงานของรัฐมาโดยตลอดเกือบสองปีที่ผ่านมา เพราะเห็นว่าหากมีการอนุมัติให้ทำเหมืองแร่ฟลูออไรต์ได้จะมีการขุดเจาะภูเขาและทำลายป่าไม้ อันเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว โดยไม่อาจฟื้นคืนได้อีก แต่เสียงของเรากลับไม่ได้รับการตอบสนองและรับฟังอย่างแท้จริง พวกเขากลับยังคงเดินหน้าดำเนินการเพื่อจะอนุมัติให้มีการทำเหมืองแร่ให้ได้
เราชาวลุ่มน้ำลาจึงขอประกาศเจตนารมณ์ต่อจิตวิญญาณของภูเขา ป่าไม้และแม่น้ำ อันเป็นที่สถิตของดวงวิญญาณแห่งบรรพบุรุษทั้งหลายของเราว่า เราจะร่วมกันต่อสู้เรียกร้องคัดค้านโครงการเหมืองแร่ฟลูออไรต์ อย่างเข้มแข็งและมีพลัง จนกว่าโครงการเหมืองแร่ฟลูออไรต์จะยุติลงและออกไปจากพื้นที่ของเราตลอดไปท้ายนี้ ขอให้พวกเราประกาศจุดยืนพร้อมกันว่า “พวกเราชาวลุ่มน้ำลาไม่เอาเหมืองแร่ฟลูออไรต์” ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของชุมชน21 สิงหาคม 2565ณ พื้นที่เหมืองแร่เก่า ลานป่าชุมชนกลุ่มรักษ์ห้วยมะกอก
#IMNVOICES #INDEGENOUS_PEOPLES_RIGHTS #สานพลังต้านเหมืองแร่ฟลูออไรต์ #ชุมชนกลุ่มรักษ์ห้วยมะกอก #ไม่เอาเหมืองแร่ #รวมพลัง #สามัคคี #ต้านเหมืองแร่ฟลูออไรต์ #ลุ่มน้ำแม่ลา