ป่ากับความมั่นคงทางอาหารของ “ลีซู”

ป่ากับความมั่นคงทางอาหารของ “ลีซู”

ชนเผ่าพื้นเมือง “ลีซู” เป็นอีกกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความผูกพันกับการใช้ประโยชน์จากป่า  ซึ่งความรู้ดั้งเดิมของคนนทั่วไปอาจจำแนกลีซูอยู่ในกลุ่มของประชากรบนพื้นที่สูงที่เป็นกลุ่มทำการเกษตรแบบไร่เลื่อนลอย และการค้าฝิ่น  แต่จริงๆ แล้ว ลีซู ในความหมายลึกๆ ตามอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์นั้น ลีซู หมายถึง ชนผู้ใฝ่รู้แห่งชีวิต มีความหมายมาจากรากศัพท์ 2 คำ คือคำว่า“ลี”มาจากคำว่าอิ๊หลี่ ซึ่งหมายถึง จารีตประเพณี วัฒนธรรม และวิถีปฏิบัติแห่งชีวิต ส่วนคำที่สอง คือคำว่า “ซู” มีความหมายว่า ศึกษา การเรียนรู้ ทั้งการเรียนรู้ในเชิงทฤษฏีและเชิงปฏิบัติ แม้ว่าลีซูจะมีประวัติศาสตร์การอพยพเคลื่อนย้ายมายาวนาน แต่ลีซูที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในผืนแผ่นดินไทยนั้นกระจายกันตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย ลีซูมีความผูกพันกับผืนป่าในประเทศไทยมายาวนาน พวกเขามีจารีตอันดีงามต่อการใช้ประโยชน์จากป่าที่สืบทอดมาสู่ยุคปัจจุบัน และหากมีการเรียนรู้และสร้างสรรค์องค์ความรู้เหล่านี้เข้ากับระบบนิเวศป่าไม้ของไทย ลีซูจึงเป็นอีกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่จะคอยปกป้อง ดูแล รักษาผืนป่าให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน

ชาวลีซูกับบริบทการจัดการทรัพยากรและการเกษตร 

“หงั่ว ฮา เต๋อ หวู่” วันปลูก ของชาวลีซู มาถึงแล้วครับ..”การส่งต่อเมล็ดพันธุ์แห่งความรัก” 

วัน ” หงั่ว ฮา เต๋อ หวู่” วันปลูกของชาวลีซู……ยังคงเป็นการเปลี่ยนผ่านวิถีการเกษตรในการสร้างความมั่นคงทางอาหารที่งดงามเพื่อการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไปของชาวลีซู  หนึ่งในเรื่องราววิถีที่ปฏิบัติของชาวลีซูนั้นมี เรื่องของ วัน “หงั่ว ฮา เต๋อ หวู่” อยู่ด้วย วันที่ 5 เดือน 5 ของทุกปี ตามปฏิทินวิภีชีวิต ชาวลีซู  เป็นวันเริ่มต้นหว่านเมล็ดพันธุ์พืชอาหารเมล็ดแรกลงสู่ดิน ที่เตรียมไว้ ของชาวลีซู..เป็นวันที่มีความหวังอันเต็มเปี่ยมด้วยพลังแห่งความศรัทธาและเชื่อมั่นในความดีงามและการดำรงตามวิถีปฏิบัติของชาวลีซูที่สืบทอดตามกันมาอย่างยาวนานและต่อๆ ไป

” หงั่ว ฮา เต๋อ หวู่”  คือวันปลูกตามปฏิทินการเกษตร การเพาะปลูกของชาวลีซู จะเริ่มต้นจากวัน “หงั่ว ฮา เต๋อ หวู่” นี้  ในวันนี้ ชาวลีซู เชื่อว่า เป็นวันที่ดีที่สุด เป็นวันเริ่มต้นแห่งการกำเนิดชีวิตใหม่ เป็นวันแห่งการเพาะปลูกเพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงทางอาหารของครอบครัวและชุมชน นอกจากในวันนี้ จะเป็นวันแห่งการเพาะปลูกของแต่ละครอบครัวแล้ว ชาวลีซู ยังนิยมทำบุญในวันนี้ด้วย เช่น การทำศาลา การเรียกขวัญ เป็นต้น การกำหนดวันดังกล่าว ในแต่ละปีจะไม่ตรงกันมีการขยับเข้า- ออก ตามการนับวันและเดือนของชาวลีซู วัน “หงั่ว ฮา เต๋อ หวู่” นี้ มีคำบอกกล่าวจากผู้อาวุโส ชาวลีซู ว่า เป็นวันดีที่สุดแม้นว่าใครผู้ใดนำ สากครกไปปักชำยังงอกเป็นต้น   (โดยส่วนตัวแล้วการที่ผู้อาวุโสกล่าวเช่นนั้นคิดว่า เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับชาวลีซูทุกคนให้มีความหวังและมีพลังในการทำงานการเพาะปลูกเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารต่อไปนั่นเอง ฤดูกาลแห่งการเพาะปลูก วิถีชีวิตเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง การส่งต่อเมล็ดพันธ์แห่งความรัก เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ยังคงทำหน้าที่และเบ่งบานต่อไปไม่สิ้นสุด…ชาวลีซู ทุกคนยังยึดมั่นในความดีงามนี้ตลอดไป

องค์ความรู้ในการจัดการทรัพยากรป่า

ชาวลีซูให้การนิยามป่าว่า  ป่าหมายถึงพืชพันธุ์ต่าง ๆ ที่ไม่มีใครถือครองและมีเจ้าของ  แต่จะมีเทพเจ้าแห่งป่า  “อิ๊ด่ามา”  (สถิตย์อยู่ที่ต้นไม้ใหญ่) ซึ่งเป็นเทพที่พระเจ้าวูซา  ให้มาดูแลรักษา  แลในพื้นที่ป่านั้นทุกคนมีส่วนได้รับผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน  เพียงแต่ทุกคนที่เข้าไปเอาประโยชน์จากป่า  จะต้องแจ้งให้เทพ “อิ๊ด่ามา”  ทราบก่อนเท่านั้น

ความเชื่อเกี่ยวกับการจัดการป่า  ชาวเผ่าลีซูเชื่อว่าผืนป่าทุกผืนจะมีเทพ อิ๊ด่ามา  เป็นผู้ปกป้องคุ้มครอง   และรักษา  ในขณะเดียวกัน  ป่าซึ่งประกอบด้วยต้นไม้นานาชนิดนั้น  ก็จะมีเทพ  “สือดู่สื่อผ่า    สื่อดู่สื่อมา”  เป็นเจ้าของต้นไม้  หากมีการทำกิจกรรมใด ๆ ในเขตป่าจะต้องขอขมา  และต้องแจ้งให้เทพแห่งป่าได้รับทราบก่อน  ไม่เช่นนั้นจะได้รับภัยพิบัติ ต่างๆตามมา

ลีซูกับการใช้ประโยชน์จากผืนป่า

วิถีชีวิตของชนเผ่าลีซู  มีความผูกพันอยู่กับป่ามาช้านาน  ซึ่งจะเห็นได้จาก  การแสดงออกทางวัฒนธรรม  ประเพณี  บทเพลง  ตำนาน  และนิทาน  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลักษณะการแสดงออกในแนวพึ่งพากันและกันอย่างเป็นระบบ  ในที่นี้จะกล่าวถึงการใช้ประโยชน์จากป่าในลักษณะต่าง ๆ  ดังนี้

1.ป่าเพื่อการประกอบพิธีกรรม  มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของชนเผ่าลีซูเป็นอันดับ ต้น ๆ  ประวัติศาสตร์ชุมชน  มีลีซูมากมายไม่สามารถตั้งชุมชนอยู่ได้เนื่องมาจากการ ละเมิดกฎป่าพิธีกรรม  ซึ่งป่าที่ใช้ประกอบพิธีกรรมมีดังนี้

ป่าอาปาโหม่ฮี     คือป่าบริเวณศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน  ซึ่งเป็นเทพที่มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองชุมชน  และมีความสำคัญอย่างมากในชุมชนของชนเผ่าลีซู  เนื่องจากชุมชนจะอาศัยอยู่ได้หรือไม่  ขึ้นอยู่กับป่า “ป่าอาปาโหม่”  ซึ่งป่าบริเวณนี้จะมีผู้ดูแลที่เป็นตัวแทนของเทพหนึ่งองค์ต่อหนึ่งชุมชน  เรียกว่าเทพ “หมื๋อมือ”  ทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยของชุมชน  และบริเวณป่าอาปาโหม่ฮีนี้  จะมีกิจกรรมที่เป็นทำลายไม่ได้  เช่น ห้ามล่าสัตว์  หรือหาพืชพันธุ์ต่าง ๆ  ดังนั้นในบริเวณป่าอาโหม่ฮี  จะมีพืชและสัตว์จำนวนมาก

ป่าอิ๊ด่ามา   เป็นป่าที่ใหญ่ที่สุดในบริเวณที่มีการทำพิธีกรรม  ป่าอิ๊ด่ามาจะตั้งอยู่ไกลจากชุมชนอย่างน้อย  2 กิโลเมตร  ซึ่งจะนิยมตั้งไว้บนสันเขาใหญ่ เหนือหมู่บ้าน มีต้นไม้นานาชนิด  ชนเผ่าลีซูจะทำพิธีกรรมอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง  มีผู้ดูแลศาลเจ้านี้ 1 คน  ซึ่งผู้ที่รับผิดชอบดูแลศาลอิ๊ด่ามานี้  จะทำหน้าที่คุ้มครองปกป้องพฤติกรรมของสังคมลีซู  หากมีการละเมิดกฎในขั้นแรกผู้ดูแล (มือหมือ) จะทำโทษเอง  แต่หากมากไปกว่านี้จะทำพิธีกรรมให้เทพเป็นผู้ลงโทษต่อไป  ป่าในบริเวณนี้ห้ามใครเข้าไปทำลายต้นไม้และล่าสัตว์  ดังนั้นในบริเวณป่านี้  จะมีความหลากหลายทางชีวภาพอยู่พอสมควร

ป่าหลี่จูว เป็นป่าบริเวณฝังศพ  ชนเผ่าลีซูไม่ฝังศพในบริเวณสถานที่เดียวกัน  อันเนื่องมาจากความพอใจของญาติพี่น้อง  และการเลือกพื้นที่ของผู้ตายเอง  ดังนั้นเวลาฝังศพคนตาย  จะมีการเสี่ยงทายหาสถานที่เพื่อฝังศพโดยการโยนไข่  ถ้าไข่แตกบริเวณใดก็หมายความว่าผู้ตายมีความพอใจในบริเวณสถานที่นั้น ๆ   อย่างไรก็ตามในบริเวณที่มีการฝังศพจำนวน  3  ศพขึ้นไป  สังคมลีซูจะไม่นิยมไปรบกวนป่าบริเวณนั้น  ซึ่งก็จะทำให้ป่าบริเวณนั้นเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพสูง  คือจะมีทั้งพืชพันธุ์และสัตว์มาก

ป่าอาจาอู้ดูว คือป่าอนุรักษ์หรือป่าหวงห้าม ส่วนใหญ่จะเป็นป่าต้นน้ำ  และป่าที่มีความชันมากเนื่องจากชาวลีซูเชื่อว่า  ป่าในบริเวณดังกล่าวจะมีเทพอาศัยอยู่  แต่ป่าในบริเวณนี้จะห้ามเฉพาะการทำลายป่าเท่านั้น  เนื่องจากจะทำให้เทพโกรธเคืองและจะทำโทษด้วยการทำให้เจ็บป่วย  แต่จะสามารถทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น  หาอาหาร  และยาสมุนไพรได้

ป่ามู่วยีกู เป็นป่าเพื่อการเกษตรกรรมหรือป่าหมุนเวียนของชาวลีซู ป่าในบริเวณนี้จะสามารถแบ่งได้ทั้งพื้นที่เขตเย็น – ร้อน  หรือกึ่งร้อนกึ่งเย็นก็ได้  เพียงแต่ว่าป่าในบริเวณที่ทำการเกษตรจะต้องไม่ชันจนเกินไปและจะต้องไม่อยู่ในป่าต้นน้ำ  ป่าทำการเกษตรของชนเผ่าลีซู  ส่วนใหญ่จะเป็นป่าไผ่สำหรับปลูกข้าวและพริก  เนื่องจากการทำไร่ข้าวและพริกนั้น  ต้องการพื้นที่ที่มีการเผา  เพราะ บริเวณป่าไผ่  เวลาเผาไฟจะไหม้ดี  และเหมาะแก่การทำการเกษตร  ส่วนการปลูกพืชผักอื่น ๆ จะนิยมปลูกในบริเวณที่ป่าหลบแดด  และไม่จำเป็นว่าไฟจะไหม้ดีหรือไม่ดีอย่างไรก็ตาม  การใช้พื้นที่เพื่อการเกษตรจะต้องมีการทำพิธีขอขมา “เทพอิ๊ด่า”  ก่อน

2. ป่าเพื่อหาอาหารและยาสมุนไพร 

นชุมชนลีซู  จะหาอาหารและยาสมุนไพรได้ทุกพื้นที่ แต่ถ้าเป็นสัตว์  จะไม่นิยมหาในบริเวณที่เป็นป่าพิธีกรรม  การหาอาหารและยาสมุนไพรของชนเผ่าลีซู  จะมีการกำหนดรัศมีการหาอาหารที่แตกต่างกันระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงคือผู้ชายจะนิยมหาอาหารประเภทเนื้อสัตว์และพืชหายาก  ส่วนผู้หญิงจะหาในระยะที่ห่างจากชุมชนไม่เกิน 6  กิโลเมตร  อาหารที่หาส่วนใหญ่จะเป็นพวกพืชผัก  เห็ด  และไม้ผล  เป็นหลัก  อย่างไรก็ดีเป็นที่สังเกตว่าผู้หญิงลีซูจะมีบทบาทในการหาสมุนไพร  และมีความเชี่ยวชาญด้านสมุนไพรพื้นบ้านมากกว่าผู้ชาย 

3. ป่าเพื่อการใช้สอย

ในวิถีชีวิตเผ่าลีซู จะมีกฎเกณฑ์ในการใช้ไม้และการเลือกใช้ต้นไม้ ชาวลีซูจะไม่นิยมใช้ต้นไม้ที่ถูกฟ้าผ่า  ต้นไม้ที่เคยถูกทำพิธีกรรมมาก่อน  ชาวลีซูนิยมใช้ไม้ในกิจกรรมต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน  ซึ่งส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการเลือกใช้ดังนี้

การสร้างบ้านเรือน  นิยมใช้ไม้ไผ่ในการทำฝา  กับโครงหลังคา  และใช้หญ้าคาเป็นหลังคาบ้าน  ส่วนเสาบ้านนิยมใช้ต้นก่อและต้นเดือย  เนื่องจากผ่าง่ายและมีความทนทานการทำโลงศพ  ชาวลีซูนิยมใช้ไม้กึ่งแข็งกึ่งอ่อน  ส่วนใหญ่นิยมใช้ต้นจำปี  จำปา  และต้องไม่เป็นต้นไม้ที่เคยถูกฟ้าผ่า  หรือทำพิธีกรรมมาก่อน  การใช้ไม้เพื่อการทำโลงศพจะต้องทำพิธีขอจากเทพต้นไม้ “สื่อ ดู่ สื่อ ผ่า”  ก่อน

จารีติหรือกฎข้อห้ามการเข้าป่าของลีซู

เวลาเข้าป่าเพื่อประกอบกิจกรรมต่าง ๆ มีกฎข้อห้ามคือ  ไม่ ตะโกน  ไม่กลิ้งก้อนหินลงเขา  การไม่ทำกิจกรรม 2 สิ่งในเวลาเดียว กัน   เช่น การตักน้ำ   และเก็บฟืน   หรือการลากฟืน  นอกจากนี้ยังห้ามตักน้ำโดยใช้หม้อ เป็นต้น  กฎเกณฑ์ เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อของชาวลีซูว่า  ในป่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ดังนั้นต้องให้ความเคารพต่อป่า

ป่าก็คือชีวิตของ “ลีซู”

ชาวลีซู หรือชนเผ่าพื้นเมืองลีซู ในบริบทความหมายและความเข้าใจที่ลึกซึ้งแล้ว จึงไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงที่ทำเกษตรกรรมในระบบไร่เลื่อนลอยตามที่คนทั่วไปเข้าใจจากการเรียนรู้แบบผิดพลาด  เมื่อยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีและการสื่อสารที่ก้าวข้ามพรมแดนความรู้ “ลีซู” จึงเป็นอีกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่มีการดูแลรักษาป่า จัดการป่า และอนุรักษ์ป่าของประเทศไทยไว้ได้ แต่สิ่งที่สังคมต้องเข้าใจนั่นคือ “วิถีวัฒนธรรมเพื่อการอยู่รอดและความมั่นคง” ของชีวิตลีซู