พิธีกรรม (ปุเหละ ปราฮู)
พิธีกรรม (ปุเหละ ปราฮู) : ก่อนนำเรือออกเพื่อทำงานประมงนั้น ชาวอูรักลาโว้ย มีการทำบุญเรือ เพื่อที่ขอให้เรือจับสัตว์ทะเลได้ดังหวัง และเป็นศิริมงคลแก่เจ้าของเรือและครอบครัว
การทำพิธี ปุหยา ปราฮู หรือ ทำบุญเรือ นั้นจะทำช่วงข้างขึ้นของเดือนเท่านั้น ส่วนวันเวลาในการทำนั้นจะขึ้นอยู่กับโต๊ะหมอ หรือผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชน เรือที่ทำบุญ (ปุหยา ปราฮู) จะมีอยู่ 2 ลักษณะคือ เรือใหม่ที่เพิ่งต่อเสร็จหรือ เรือที่นำขึ้นมาซ่อมแซม เมื่อต้องการจะนำเรือไปใช้ชาวอูรักลาโว้ย มีความเชื่อว่าต้องทำบุญให้เรือก่อนเพื่อที่จะขอพรให้เป็นเรือที่จับสัตว์ทะเลได้ดีและเป็นเรือที่นำโชคลาภมาให้แก่เจ้าของเรือ เวลาเดินเรือให้รอดปลอดภัย อย่าได้เจอสิ่งไม่ดี สิ่งที่เป็นอันตรายต่อเจ้าของเรือและครอบครัว
ในวันก่อนทำพิธี ผู้หญิงจะเตรียมเครื่องประกอบพิธี หาไก่บ้านเพื่อมาเตรียมทำแกงกะทิไก่ และข้าวเหนียวนำมาหุงด้วยกะทิใส่ขมิ้นใส่เกลือเล็กน้อย หรือไม่ก็เอาข้าวเหนียวมานึ่งก่อนแล้วก็คั้นน้ำกะทิ ใส่เกลือเล็กน้อยและใส่น้ำตาลตามความชอบของผู้ทำ แล้วราดลงบนข้าวเหนียวที่นึ่งร้อนๆ คนน้ำกะทิให้ทั่วข้าวเหนียว เตรียมหมาก พลู เทียนขี้ผึ้ง ยาเส้น ยาสูบที่ใช้ใบจากพันยาเส้นเป็นยาสูบ เตรียมถ้วยใส่ถ่านไฟเพื่อเป็นการรมกำยาน เตรียมผ้าผูกหัวเรืออย่างน้อย 3 สี ให้ลงเป็นเลขคี่
เมื่อถึงวันที่โต๊ะหมอกำหนดแล้วก็นำทุกอย่างลงในเรือเพื่อประกอบพิธีปุหยา ปราฮู หรือทำบุญเรือ โต๊ะหมอทำพิธีขอให้เรือลำนั้นจับสัตว์ทะเลให้ได้มากๆ และนำโชคดีมาสู่เจ้าของเรือและครอบครัวเสร็จแล้วโต๊ะหมอก็จะให้เจ้าของเรือ นำถ้วยกำยานเวียนรอบเรือ 3 รอบเพื่อสื่อสารถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เสร็จแล้วโต๊ะหมอจะทำพิธีผูกผ้าหัวเรือ ใส่ดอกไม้ พรมน้ำหอมหรือแป้งเพื่อให้มีกลิ่นหอมหลังจากนั้นก็จะเป็นการกินอาหารร่วมกัน การกินอาหารร่วมกันเป็นการทำให้เกิดศิริมงคลแก่ผู้ร่วมพิธีด้วย
บาฆัด
บาฆัด : เป็นคำในภาษาอูรักลาโว้ย หมายถึง การเดินทางจากบ้านไปทำมาหากินและพักแรมตามสถานที่ต่างๆ และสร้างที่พักพิงอาศัยชั่วคราวง่ายๆ เพื่อหลับพักผ่อนและทำอาหาร มีการนำข้าวของเครื่องใช้ติดตัวไปตามความจำเป็น อาทิ มีดพร้า ขวาน แห เบ็ด อวน ฯลฯ ส่วนใหญ่สมาชิกในครอบครัวจะเดินทางไปด้วยกันทั้งหมด
เส้นทางบาฆัดมีหลากหลายเส้นทาง ทั้งระยะใกล้และไกล ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่หมู่เกาะอาดัง-ราวี เกาะหลีเป๊ะ เกาะลันตา เกาะพีพี เกาะนุ้ยนอก เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ เกาะภูเก็ต เกาะไม้ท่อน หมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์ เรื่อยไปจนถึงหมู่เกาะมะริดในประเทศเมียนม่าร์หรือพม่า เมื่อชาวเลอูรักลาโว้ยได้ของที่หามาได้จากทะเล เช่น หอย ปู ปลาฯลฯ ก็จะนำมาบริโภคและแบ่งกันภายในชุมชน แต่ของบางอย่างที่หาได้ ที่ขายได้และมีราคาดีก็จะเก็บไว้ขาย หรือแลกเปลี่ยนกับพ่อค้าคนกลาง เช่น ปลิงและหอยตากแห้ง เปลือกหอยมุก เปลือกหอยนมสาว ฯลฯ
การเดินทางโยกย้ายไปตามแหล่งทำมาหากินนี้สอดคล้องกับฤดูกาล การเคลื่อนที่ทำให้ชาวเลอูรักลาโว้ยสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารที่สมบูรณ์และหลากหลาย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากร เนื่องมาจากการใช้สอยที่ต่อเนื่อง วิถีดั้งเดิมของชาวเลอูรักลาโว้ยจึงเป็นวิถีแห่งการอนุรักษ์ แต่ภายหลังระบบตลาดเข้ามาครอบงำวิถีชีวิตมากขึ้น ทำให้ต้องเก็บหาทรัพยากรมากขึ้นและขูดรีดแรงงานตัวเองมากขึ้น เช่น มีการใช้เครื่องปั๊มลมช่วยในการดำน้ำซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคน้ำหนีบ (Decompression sickness) และทำให้ชายชาวเลอูรักลาโว้ยหลายคนพิการและเสียชีวิต
ผ.ศ.ดร.นฤมล อรุโณทัย “ทักษะวัฒนธรรมชาวเล ร้อยเรื่องราวชาวเล -มอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย ผู้กล้าแห่งอันดามัน”
หลาโต๊ะ (สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลปกป้องคุ้มครองรักษาในพื้นที่ ที่อ่าวโล๊ะลาน่า)
ชาติพันธุ์ชาวเลเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิมในปัจจุบันสามารถแบ่ง ชาวเลที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ อูรักลาโว้ย (Uruk Lawoi) มอแกลน (Moklen) และมอแกน (Moken) ชาวเลทุกกลุ่มตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ไม่ห่างจากฝั่งทะเลมากนัก ตั้งแต่จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล คาดว่ามีประชากรชาวเลประมาณ 12,000 คน ในฝั่งทะเลอันดามันในประเทศไทย จากหลักฐานทางวิชาการ ทักษะวัฒนธรรมชาวเล ร้อยเรื่องราวชาวเล มอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย ผู้กล้าแห่งอันดามัน จะพบได้บริเวณจังหวัดสตูล กระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง
ในอดีต ชาวเลเดินทางโยกย้ายไปมาอยู่บ่อยๆ บางคนเรียกวิถีเช่นนี้ว่า “เร่ร่อน” แต่เมื่อใช้คำว่า “เร่ร่อน” หลายคนอาจจะติดว่าเป็นการเดินทางไปเรื่อยๆ อย่างไร้จุดหมาย ไร้ทิศทาง ทั่งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว ชาวเลใช้เส้นทางเดินเรือในอดีตที่บรรพบุรุษของพวกเขาเคยล่องเรือ ทำมาหากินอยู่ในท้องทะเลอันดามันอันสมบูรณ์มานานมากกว่า 300 ปี ดังนั้นการเดินทางโยกย้ายไปมาของชาวเลจึงไม่ใช่วิถีแบบเร่ร่อน ไร้จุดหมาย
การเดินทางจากบ้านไปทำมาหากินและพักแรมตามสถานที่ต่างๆ และสร้างที่พักพิงอาศัยชั่วคราวง่ายๆ เพื่อหลับพักผ่อนและทำอาหาร มีการนำข้าวของเครื่องใช้ติดตัวไปตามความจำเป็น อาทิ มีดพร้า ขวาน แห เบ็ด อวน ฯลฯ ส่วนใหญ่สมาชิกในครอบครัวจะเดินทางไปด้วยกันทั้งหมด และชาวเลจะมีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในธรรมชาติทุกพื้นที่ ทุกเกาะทุกอ่าว ทุกหัวแหลมทะเล ว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่คอยดูแลรักษาคุ้มครอง ชาวเลจะเรียกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในธรรมชาตินั้นว่า โต๊ะหรือ ดาโต๊ะ บนเส้นทางการเดินเรือเพื่อทำมาหากินและพบญาติตามหมู่เกาะต่างๆ นั้นจำเป็นต้องมีพื้นที่พักพิงเพื่อหลบลม เพื่อทำมาหากินนั้น ก็จะต้องจอดเรือเพื่อพักพิงและพื้นที่นั้นจะมีดาโต๊ะหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่
โต๊ะ หรือ ดาโต๊ะ หมายถึง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองดูแลรักษาพื้นที่
หลาโต๊ะ หมายถึง ที่อยู่พำนักที่เป็นสัญลักษณ์ให้ชาวเลได้ ตั้งเครื่องบูชา เพื่อให้เป็นศิริมงคล เป็นการเชื่อมต่อระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ธรรมชาติ ชาวเล วิถีชาวเลเป็นวิถีเคารพธรรมชาติ จะทำอะไรก็ต้องกล่าวขอจากธรรมชาติ ไม่ว่าไม้ หิน ทะเล สัตว์ทะเล การพักแรมอาศัย หากเกิดอันตรายใดๆ ขึ้นมาก็จะทำพิธีขอขมาลาโทษแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนได้ทำผิด
ในการบูชาแต่ละที่จะไม่เหมือนกันแต่หลักๆแล้วจะเป็น หมาก พลู ยาเส้น ใบจาก น้ำ ข้าวตอก ข้าวปลา อาหาร น้ำ กำยาน เทียนขี้ผึ้ง เป็นเครื่องบูชาหลัก เรื่องราวเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นโดยการบอกกล่าวลูกหลานและลงมือปฏิบัติจริง
หลาโต๊ะ (สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลปกป้องคุ้มครองรักษาในพื้นที่อ่าวโล๊ะลาน่า ) จึงมีความสำคัญต่อชาวเลอูรักลาโว้ยในอันดามันมาก เป็นทั้งขวัญกำลังใจ การเชื่อมต่อระหว่างธรรมชาติกับวิถีการใช้ทะเลหมุนเวียนของชาวเล มีทั้งภูมิปัญญา ที่ผ่านการเรียนรู้มายาวนาน การเคารพธรรมชาติ การเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ระบบนิเวศน์ทางทะเล การเดินเรือ การเรียนรู้เรื่องภูมิศาสตร์ การใช้ชีวิตในทะเล และการดูแลสุขภาพ
ปลาเค็ม (อีกัด มาเซด)
ในอดีตการดำรงชีวิตแบบการเก็บหาอาหารท่ามกลางธรรมชาติที่กว้างขวางและอุดมสมบูรณ์สัตว์น้ำ การจับและการหาสัตว์น้ำก็เพื่อเป็นอาหารและเอาไว้แลกเปลี่ยนกับสิ่งของที่มีความจำเป็น และยังแบ่งปันให้กับญาติสมาชิกอื่นๆในชุมชน
ขนบการแลกเปลี่ยนสิ่งของที่มีสำคัญอีกอย่างของชาวเลอูรักลาโว้ยคือ “ทาปด” เป็นการแลกเปลี่ยนสิ่งของในประเพณีสาร์ทเดือนสิบ ชาวเลจะเตรียมทำปลาเค็ม ปลาแห้ง ปลากระเบนรมควัน เปลือกหอย มุกหอย กำไล หัวเบน ก่อนที่จะถึงประเพณีสาร์ทเดือนสิบของชาวไทยพุทธ เพื่อที่จะเอาไปแลกกับข้าวสาร ขนม เสื้อผ้า ผ้าห่ม หรือแล้วแต่จะตกลงกันว่าจะแลกกับอะไร และจะมีอีกส่วนหนึ่งที่ต้องนำไปเป็นของฝากให้กับ “เกลอ” หรือ”ไอ้เฒ่า”เป็นภาษาถิ่นภาคใต้ คือเพื่อนที่สนิทมาก ซึ่งจะนับถือจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ภาษาอูรักลาโว้ยเรียกว่า “ซาบัยจ” ซึ่งต้องเอาไปให้ทุกปี
ปัจจุบัน มีการพัฒนาของถนนหนทางดีขึ้น ทำให้การสัญจรไปมามีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ทำให้การไปมาหาสู่กันได้ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องรอช่วงงานสาร์ทเดือนสิบเท่านั้น และการพัฒนาของประเทศรัฐมีนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวทำให้การพัฒนาเข้าถึงทุกพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ทำให้ชาวเลก็ต้องอยู่ภายใต้การพัฒนาการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน
ในช่วงสถานการณ์โควิด – 19 จะเห็นได้ว่าจากวิถีขนบปฏิบัติเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนสิ่งของชาวเล (ทาปด ) เมื่อยามวิกฤติสามารถที่จะช่วยพี่น้องที่โดนผลกระทบจากโควิด-19 ได้ ซึ่งเรียกโครงการนี้ว่า โครงการปลาแลกข้าว และอีกทั้งยังสามารถเป็นการสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องชาวเลได้ในช่วงวิกฤติโควิด -19 อีกด้วย
คติความเชื่อ
ชาวเลยึดถือคติความเชื่อที่ว่า “ทรัพยากรในธรรมชาติล้วนไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ ทุกคนมีสิทธิในการเก็บหา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างเท่าเทียม และหากผู้ใดเก็บหาทรัพยากรได้มากกว่าคนอื่นๆ จะต้องเอื้อเฟื้อแบ่งปันให้สมาชิกอื่นๆในชุมชน” จึงเป็นขนบวีถีการแลกเปลี่ยน แบ่งปัน
ซีโปย (หอย)
ในสมัยก่อนเครื่องมือทำมาหากินของชาวเลอูรักลาโว้ยเป็นเครื่องมือที่เรียบง่าย เช่น ในการทำมาหากินทางทะเลก็จะใช้แว่นดำน้ำ ฉมวก เหล็กยิงปลา เบ็ดตกปลา ลอบดักปลา ถ้าเป็นการเก็บหาตามชายหาดและป่าชายเลนก็ใช้ค้อนเล็ก เหล็กตอกหอย กระดานถีบบนเลน เหล็กขุด หรือ คราดมือ โดยมีตะกร้าเล็กๆ ใส่หอยและปู ส่วนการเก็บหาในป่าก็จะใช้มีดพร้า ขวาน แต่ในปัจจุบันพื้นที่บนบกและในป่านั้นถูกจับจองหรือกลายเป็นพื้นที่คุ้มครองทำให้ไม่สามารถจะเก็บหาได้อีกต่อไป ส่วนการทำมาหากินทางทะเล ก็ต้องอาศัยเครื่องมือที่ทันสมัยมากขึ้นเพราะทรัพยากรลดน้อยลง เช่น เรือก็ต้องติดเครื่องยนต์เพื่อที่จะเดินทางได้เร็ว ออกทะเลไปไกลกว่าเดิมและต้องมีอุปกรณ์ประมงเช่น อวนชนิดต่างๆ ซึ่งต้องลงทุนมากขึ้น ลอบดักปลาก็ต้องมีขนาดใหญ่ขึ้น ใช้วัสดุที่ทนทานมากขึ้น เช่น ลวด ตะปู ฯลฯ
ในการดำน้ำก็ต้องใช้เครื่องอัดอากาศหรือปั๊มลม เพื่อให้ดำน้ำได้ลึกลงนานขึ้น เสี่ยงอันตรายมากขึ้นด้วย นอกจากนั้น พื้นที่ในการทำมาหากินทางทะเลแคบลงเพราะมีการประกาศเขตคุ้มครองมากขึ้น บางแห่งก็กลายเป็นแหล่งดำน้ำเพื่อการท่องเที่ยว ส่วนพื้นที่บนบกนั้น บางพื้นที่ที่เป็นชายหาดชายฝั่งทะเลที่มีโรงแรมหรือร้านอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่อยากให้เรือประมงเข้าไปใกล้ ทำให้การทำทะเลหมุนเวียนของชาวเลอูรักลาโว้ยมีพื้นที่ทำมาหากินแคบลงในการเก็บหาทรัพยากรทางทะเล