“มานพ” ส.ส. ชาติพันธุ์มีข้อสงสัยเรื่องการเสียชีวิตของ “มานิ”

ทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานในความเป็นมนุษย์ตามธรรมชาติและมีสิทธิตามกฎหมายที่รับรองไว้ ชาวมานิที่สูญหายและพบว่าเสียชีวิตทั้ง 2 คน ต้องมีแนวทางในการพิสูจน์และยืนยันให้มีความกระจ่างชัด เพราะทุกคนมีคุณค่าต่อการเป็นมนุษย์อย่างมีศักดิ์ศรี รวมถึง “มานิ” ด้วย

จากกรณีมีชาวมานิในกลุ่มรักษ์กงหราที่มีถิ่นฐานการทำมาหากินอยู่บริเวณเทือกเขาบรรทัด ในพื้นที่อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุงได้ออกไปล่าสัตว์หาของป่าจำนวน 2 คน (ซึ่งเป็นปกติวิสัยของพวกเขา) ได้เข้าไปในป่าบนเขาด้านหลังของน้ำตกไพรวัลย์ ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2565 จนกระทั่งวันที่ 3 มกราคม 2566 ก็ยังไม่กลับออกมา ชาวมานิในทับรักษ์กงหราได้ช่วยกันออกค้นหาแต่ไม่พบ พวกเขาจึงได้มาขอความช่วยเหลือจากชาวบ้านที่รู้จักและได้มีการประสานงานเข้าแจ้งความกับสถานีตำรวจภูธรกงหราในวันที่ 5 มกราคม 2566 และมีการรายงานให้นายอำเภอกงหราทราบ พร้อมกับการระดมกำลังบรรเทาสาธารณภัยอำเภอกงหราให้ช่วยติดตามหาตัวชาวมานิทั้ง 2 คน คือ นายทง รักษ์กงหรา และนายแว้ง  รักษ์กงหรา

จากนั้นนายอำเภอกงหรา จึงรายงานให้ปลัดจังหวัดทราบ พร้อมกับประสานงานหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด และผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรกงหรา กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ รวมทั้งกลุ่มมานิในพื้นที่ป่าบอนมาร่วมค้นหาด้วย การสนธิกำลังครั้งนี้รวมกว่า 167 คน ได้เร่งระดมค้นหาบริเวณที่มีการแจ้งไว้ พร้อมกับตั้งศูนย์บรรชาการบรรเทาสาธารณภัยขึ้น ณ หน่วยพิทักษ์ป่าบ้านพูด หมู่ที่ 13 ตำบลคลองเฉลิม อ.กงหรา จ.พัทลุง จนกระทั่งถึงเย็นวันเดียวกันทีมค้นหาได้พบกระบอกไม้ไผ่ (กระบอกตุด) และบอเลาที่ชาวมานิใช้เป็นเครื่องมือในการล่าสัตว์ ในบริเวณใกล้ๆ กับโพรงหิน และได้กลิ่นเหม็นเน่าเหมือนกลิ่นซากศพในบริเวณโพรงหิน จึงถอนกำลังการค้นหาและวางแผนค้นหาบริเวณโพรงหินในวันที่ 6 มกราคม 2566

ในวันที่ 6 มกราคม 2566 ทีมค้นหาได้ประชุมวางแผนการค้นหา พร้อมกับการสนับสนุนเครื่องมือการค้นหาประกอบด้วยไฟส่องสว่าง และกล้องวีดีโอค้นหาในที่มืด เพื่อตรวจสอบจุดโพรงหินที่สันนิษฐานว่าจะเป็นจุดที่มานิ 2 คนได้กลายเป็นศพแล้ว บริเวณโพรงหินดังกล่าวมีความลึกลงไปจากพื้นดินประมาณ 30 เมตร  ภารกิจการค้นหาพบว่ามีโครงกระดูกอยู่ในโพรงซอกหิน และไม่มีทีมกู้ภัยสามารถเข้าไปในโพรงซอกหินเพื่อนำร่างของผู้เสียชีวิตออกมาได้ ที่ประชุมทีมค้นหาโดยนายอำเภอกงหรา ได้ประกาศยุติการค้นหา 2 ชาวมานิ และสรุปว่าโครงกระดูกที่พบเป็นชาวมานิที่ไปล่าสัตว์แล้วตามไปจับสัตว์ในโพรงซอกหินแต่ไม่สามารถออกมาได้ จึงทำให้ขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตในโพรงซอกหินดังกล่าวทั้ง 2 คน เมื่อได้ปรึกษาหารือกับญาติชาวมานิแล้ว จึงปล่อยให้ร่างของชาวมานิทั้ง 2 ฝังอยู่ในโพรงซอกหินตามธรรมชาติ เนื่องด้วยตามวิธีปฏิบัติชาวมานิเมื่อมีการตายเกิดขึ้น จะปล่อยให้ศพของผู้เสียชีวิตเป็นไปตามธรรมชาติไม่มีการทำพิธีกรรมใดๆ จึงมีการประกาศยุติการค้นหาในช่วงเที่ยงของวันที่ 6 มกราคม 2566

จากกรณีดังกล่าว ส.ส. มานพ คีรีภูวดล ซึ่งเป็น ส.ส. กลุ่มชาติพันธุ์ ได้ให้ข้อสังเกตในเบื้องต้นว่า การค้นหาชาวมานิ 2 คนที่สูญหาย ยังไม่ควรยุติลง หากยังไม่สามารถพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลได้ ทั้งนี้เนื่องจากชีวิตมนุษย์มีความสำคัญ และจำเป็นต้องพิสูจน์ให้เกิดความกระจ่างว่ามานิซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ดำรงชีวิตและทำมาหากินในป่าเทือกเขาบรรทัดมายาวนานหลายร้อยหลายพันปี พวกเขามีคุณค่าต่อการเป็นมนุษย์อย่างมีศักดิ์ศรี พวกเขาเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันยังคงรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์และมีคุณค่าทางวัฒนธรรมไว้ จึงควรให้ความสำคัญต่อการสูญหายและการเสียชีวิตของพวกเขา เรื่องนี้ตนจะนำเข้าสู่สภาฯ และกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธที่จะถึงนี้ต่อไป  ตนจึงอยากตั้งคำถามว่า การค้นหาดังกล่าวมีการยืนยันหรือไม่ว่ามานิทั้ง 2 คนได้เสียชีวิตอยู่ในโพรงซอกหินดังกล่าว หรือโครงกระดูกที่พบพิสูจน์ได้อย่างไรว่าเป็นมานิทั้ง 2 คนที่สูญหาย หรือว่ามีแนวทางในการดำเนินการเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในภายหลัง เพราะตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล “ทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานในความเป็นมนุษย์ตามธรรมชาติและมีสิทธิตามกฎหมายที่รับรองไว้ ชาวมานิที่สูญหายและยังไม่ได้รับการพิสูจน์ความจริง จึงควรได้รับการปฏิบัติในฐานะเพื่อนมนุษย์อย่างเท่าเทียม การค้นหาและพิสูจน์เรื่องการสูญหายและเสียชีวิตของมานิ จึงควรเร่งดำเนินการเพื่อให้สังคมได้รับทราบอย่างถูกต้องและเป็นธรรม”