ของขวัญวันเด็กปีนี้ หนูขอ “สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า”

ของขวัญวันเด็กปีนี้ หนูขอ “สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า”

ปีนี้เรามีคำขวัญวันเด็กแข่งกับนายกรัฐมนตรี คือ “อนาคตของหนู อยู่ที่สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า” เพราะเด็กที่เกิดในไทยทุกคนควรได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน

สุนีย์ ไชยรส


ภาพ:  (ภาพปก) พนม ทะโน // หมายเหตุ: ขออนุญาตเจ้าของภาพแล้ว

ในประเทศไทยมีเด็กเล็กอายุ 0 – 6 ปี ประมาณ 4 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีเพียงประมาณ 9 หมื่นคน ที่ได้รับเงินสวัสดิการอุดหนุนเด็กเล็กเดือนละ 600 บาทจากรัฐบาล ส่วนที่ไม่ได้รับเงินส่วนนี้เพราะตกหล่นจากการสำรวจ หรือมีคุณสมบัติไม่ตรงตามเกณฑ์การพิจารณาให้เงินอุดหนุนเด็กเล็ก จึงเป็นที่มาของเครือข่ายภาคประชาสังคมจำนวน 341 องค์กรทั่วประเทศ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลจัดสรร “สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า” ให้เด็กทุกคนที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทย โดยไม่ต้องแบ่งแยกฐานะครอบครัว หรือสิทธิสถานะบุคคล

ก้าวแรกเงินอุดหนุนเด็กเล็ก

สุนี ไชยรส อาจารย์สอนจากมหาวิทยาลัยรังสิต และประธานคณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า (341 องค์กร) เล่าว่า เดิมนั้นรัฐบาลมีสวัสดิการในการดูแลผู้สูงอายุ และผู้พิการ มีโนโยบายเรียนฟรี หรือบัตรประกันสุขภาพ เป็นต้น แต่ยังไม่มีมาตรการดูแลและให้ความช่วยเหลือเด็กเล็กที่มีอายุระหว่าง 0 – 6 ปี อย่างเหมาะสม จึงมีการเรียกร้องให้จัดสรรเงินอุดหนุนพร้อมทั้งสวัสดิการรอบด้าน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กเล็ก เช่นเดียวกับกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ ในสังคม 

“เนื่องจากเด็กเล็กที่อายุระหว่าง 0 – 6 ปี ถือว่าอยู่ในช่วงวัยวิกฤตที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เราจึงเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนเงินเด็กเล็กถ้วนหน้า เดือนละ 600 บาทต่อคน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2559 เราก็ได้มา 400 บาท ครอบคลุมเด็กประมาณ 9 หมื่นคน จากเด็กเล็กทั้งหมดที่มี 4.2 ล้านคน โดยประมาณ”

อาจารย์สุนี  อธิบายเพิ่มเติมว่า เด็กที่ตกหล่นนั้นมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขการจ่ายเงินของรัฐ ที่กำหนดไว้ว่า จะต้องเป็นเด็กที่มีสัญชาติไทย รายได้ของบิดามารดาต้องไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี และบางส่วนก็อาจตกหล่นระหว่างกระบวนการตรวจสอบข้อมูล หรือขาดการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เช่น ผู้ปกครองที่เป็นแรงงานนอกระบบ คนเก็บขยะที่ไม่มีรายได้เป็นรายเดือน หรือมีข้อมูลรายรับที่ชัดเจน ก็ยากต่อการพิสูจน์คุณสมบัติ รวมถึงเด็ก ๆ ชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ ก็ทำให้พลาดสิทธินี้ไปด้วย

เครือข่ายฯ จึงเรียกร้องอย่างต่อเนื่องให้ปรับระบบเป็นการอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า กล่าวคือเด็กเล็กทุกคนที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทย ก็จะต้องได้รับสิทธินี้ทันทีที่เกิดมา ซึ่งจะเป็นการลดความยุ่งยากในขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติด้วย จนกระทั่งล่าสุดรัฐได้เพิ่มวงเงินอุดหนุนจากเดิม 400 บาท ขยับขึ้นมาเป็น 600 บาทต่อคน และครอบคลุมกลุ่มเด็กเล็ก ประมาณ 2.2 ล้านคนแล้ว

มีนโยบายแต่ไม่ได้จัดสรรงบประมาณ

อาจารย์สุนี ได้เท้าความกลับไปถึงปี พ.ศ. 2563 ที่มีการแต่งตั้งคณะทำงานชื่อว่า “คณะกรรมการส่งเสริมเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรองนายกฯ เป็นรองประธาน มีรัฐมนตรี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย รวมทั้งมีผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมกันเป็นคณะทำงาน ได้มีมติให้จ่ายเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 แต่ปรากฎว่าในแผนงบประมาณประจำปี 2565 -2566 ไม่มีการจัดสรรงบประมาณตามมติ กดยช. แต่อย่างใด โดยพบว่าสาเหตุส่วนหนึ่งก็ยังคงติดเงื่อนไขรายได้ครอบครัวเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด หรือไม่สามารถพิสูจน์ทราบรายได้

รัฐบาลมีงบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท มีเงินกู้อีก 5 แสนล้านบาท จัดสรรให้กระทรวงกลาโหมมากถึง 2 แสนล้านบาท ในขณะที่เงิน(อุดหนุน)เด็ก ได้เพียง 1.5 หมื่นล้านบาท และยังขาดอีก 1.4 หมื่นล้านบาท ผ่านมาแล้วสองปี ยังไม่มีการจัดสรรงบมาเลย ดังนั้นไม่ใช่เรื่องของการไม่มีงบ แต่รัฐบาลไม่ดำเนินการ ทั้ง ๆ ที่ กดยช. ก็มีมติอออกมาแล้ว

จากเงินอุดหนุน – สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า

จากเดิมที่ผลักดันเพียงแค่เรื่องเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ตอนนี้คณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า กำลังยกระดับข้อเรียกร้องไปยังพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่จะสมัครรับการเลือกตั้งสมัยหน้า บรรจุเรื่อง “สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า” เป็นนโยบายของพรรค เพื่อให้ครอบคลุมถึงสวัสดิการในทุกด้าน ที่จะส่งเสริมให้การดูแลเด็กเล็กเป็นไปอย่างมีคุณภาพ

อาจารย์สุนี เล่าเพิ่มเติมว่า ข้อเรียกร้องสำคัญของคณะทำงานคือ เพิ่มจำนวนเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าจาก 600 บาท เป็น 3,000 บาท เนื่องจากพบว่าเงิน 600 บาทนั้น ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูเด็กได้ในสภาวะเศรฐกิจปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ระบุว่าค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กเล็กเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3,000 – 4,000 บาท/คน/เดือน โดยตนมองว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เพราะอัตราการเกิดใหม่ของเด็กลดลงทุกปี  

ตอนนี้เด็กเกิดใหม่น้อยมาก ปีละ 5 แสนคน จากเดิมปีละล้าน เรายิ่งต้องดูแลเด็กของเราให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เติบโตไปเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม

สำหรับข้อเรียกร้องของคณะทำงานฯ ต่อพรรคการเมืองต่าง ๆ นอกจากให้เพิ่มจำนวนเงินอุดหนุนแล้ว มีการเรียกร้องให้รัฐ ปรับปรุงสวัสดิการในการดูแลเด็กเล็กด้วย โดยเฉพาะศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่ยังมีข้อจำกัดทั้งทางด้านเวลาเปิด-ปิด และยังมีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ด้วย โดยคณะทำงานเห็นว่ายังไม่สอดคล้องกับความต้องการของพ่อแม่ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีฐานะยากจน  เพราะไม่สามารถฝากลูกหลานไว้ที่ไหนได้ ยกเว้นเด็กที่มีปู่ย่าตายายดูแล ส่งผลให้ผู้ปกครองเด็กเล็กเหล่านี้ สูญเสียโอกาสในการทำงานหารายได้ มาเลี้ยงดูลูกอย่างเต็มที่  จึงเสนอให้มีการทบทวนเวลาเปิด – ปิด รับฝากเด็กเล็ก ที่ไม่ต้องยึดโยงกับเวลาราชการ โดยที่รัฐเป็นฝ่ายสนับสนุนงบประมาณและบุคลากรเพิ่มเติม รวมทั้งให้พิจารณาปรับเกณฑ์อายุแรกรับ จากเดิมกำหนดไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 2 ขวบ มาเป็นไม่ต่ำกว่า 6 เดือน หรือ 3 เดือน ตามความยินยอมของผู้ปกครองเป็นต้น

อีกประเด็นหนึ่งคือ เมื่อไม่มีสวัสดิการถ้วนหน้า ทำให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กถ้วนหน้า ดูแลเด็กได้เพียง 2.4 ล้านคน ส่วนที่เหลืออีกเกือบ 2 ล้านคน ยังไม่มีข้อมูลยืนยันแน่ชัดว่าเด็กหลุดออกนอกระบบ หรือเข้าไปอยู่ในระบบใด

ประธานคณะทำงานฯ ย้ำว่า การผลักดันเรื่องสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า จะช่วยให้การทำงานของภาครัฐตั้งอยู่บนฐานข้อเท็จจริง และช่วยลดภาระของบุคลากรในระบบราชการด้วย ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนที่มีทั้งเด็กที่มีสัญชาติไทยและเด็กที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยเรียนร่วมกันอยู่ แต่งบประมาณด้านอาหาร หรือ แม้กระทั่งจำนวนครู บุคคลกร จะถูกคำนวณจากจำนวนนักเรียนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ดังนั้น ในทางปฏิบัติจึงต้องมีการจัดอาหารกลางวัน ครูในโรงเรียนเองก็ต้องแบกรับภาระเพิ่มเติมอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ หากมีสวัสดิการเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าเกิดขึ้น ปัญหาเหล่านี้ก็จะหมดไป


งานแถลงนโยบายในเรื่อง “ฟังพรรคการเมือง !!! หยุดวิกฤตเด็ก…ด้วยสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า” ในวันที่ 21 พฤศจิกายน2565 / ขอบคุณภาพจากเพจ #เด็กเท่ากัน

หลังจากที่เดินสายพบปะพรรคการเมือง และหัวหน้าพรรคการเมืองกว่า 10 พรรค อาจารย์สุนีกล่าวว่า เบื้องต้นได้รับการตอบรับที่น่าพอใจ กล่าวคือ อย่างน้อยมีจำนวน 10 พรรคการเมืองเห็นพ้องกันว่า เงินอุดหนุนเด็กเล็กจำนวน 600 บาทนั้นไม่เพียงพอ โดยแต่ละพรรคเสนอจำนวนเงินอุดหนุนที่ควรจะจัดให้แตกต่างกันไป โดยมีตั้งแต่ 1200 – 3000 บาท ตามนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง

ในส่วนของท่าทีของหน่วยงานในระดับท้องถิ่น อาจารย์สุนียืนยันว่าส่วนใหญ่นั้นเห็นด้วยกับหลักการสวัสดิการถ้วนหน้า เช่น หน่วยเทศบาล หรือ องค์การบริหารส่วนตำบล ที่ต้องทำหน้าที่รับลงทะเบียนและคัดกรองเด็กเล็กให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ควรจะได้รับเงินอุดหนุน แต่อำนาจการตัดสินใจขึ้นอยู่กับกระทรวงพัฒนาสวัสดิการและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งเขาก็แบกรับความเสี่ยงในกรณีที่การคัดกรองมีความผิดพลาด รวมทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่มองว่า สวัสดิการถ้วนหน้าจะช่วยส่งเสริมสุขอนามัยและป้องกันการเจ็บป่วยได้ เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บไม่ได้เลือกว่าเด็กจะมีสัญชาติไทยหรือไม่

ของขวัญวันเด็กปีนี้ หนูขอสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า

สำหรับวันเสาร์ ที่ 14 มกราคม 2565 ซึ่งเป็นวันเด็กแห่งชาติ คณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ก็เตรียมจัดงานวันเด็ก ที่บริเวณชุมชนรถไฟ 6 ชุมชน รอบพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย โดยมีคำขวัญวันเด็กว่า “ทางอนาคตของหนู อยู่ที่สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า”  ซึ่งคาดว่าภายในงานคาดว่าจะมีเด็ก ๆ และผู้ปกครองมาร่วมหลายร้อยคน และจะมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนด้วย