ภายใต้งานกิจกรรมรณรงค์และเฉลิมฉลองเนื่องในวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลกและวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย วันที่ 9 สิงหาคม 2566 ภายใต้ธีมงาน “พลังเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมสร้างสรรค์สังคมสู่การเปลี่ยนแปลง” ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ
ถือเป็นโอกาสอันดีที่ทางตัวแทน 3 เยาวชนจากเครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง (TKN) ได้ออกมาเล่าเรื่องราวการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง ทำงานร่วมกับชุมชนของตัวเองภายใต้หัวข้อ “สานฝันและความหวังของชนเผ่าพื้นเมือง”
เรื่องราวของพวกเขาทั้ง 3 คน จากเหนือจรดใต้จากขุนเขาสู่ท้องทะเล ได้ถูกถ่ายทอดไว้ในเรื่องราวต่อจากนี้

กาแฟชุบชีวิตชุมชนบ้านแม่จันใต้ ของสุชาติ มาเยอะ
สุชาติ มาเยอะ ชาติพันธุ์อาข่า เยาวชนจากบ้านแม่จันใต้ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เขาเกิดและเติบโตมาชุมชนที่คนรุ่นพ่อแม่นั้น ยึดอาชีพการปลูกพืชผลไม้เมืองหนาว รวมทั้งชาและกาแฟเป็นหลัก แต่ที่ผ่านมาก็จะส่งขายให้กับพ่อค้าคนกลางเป็นหลัก และยังไม่ไม่มีกระบวนการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สุชาติเห็นว่าถ้าชุมชนยังทำแบบนี้ต่อไป เป็นการยากที่จะดึงคนรุ่นใหม่ให้กลับมาอยู่ในชุมชน
“ยุคสมัยของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปแล้ว เราจึงออกไปศึกษาดูงานข้างนอก ว่าชุมชนของเรานั้น จะสามารถทำอะไรได้บ้าง”
สุชาติออกเดินทางจากหมู่บ้าน เพื่อไปเรียนรู้ดูงานในชุมชนอื่นๆ และเขาก็ได้พบวิธีการที่จะยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มจากกาแฟ พืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนในจำนวนที่มากกว่าการปลูกข้าวหรือข้าวโพด เขากล่าวว่าที่ชุมชนก็มีการปลูกกาแฟอยู่แล้วในจำนวนไม่มาก และไม่สามารถนำไปแปรรูปได้เอง จึงต้องส่งขายให้แก่พ่อค้าคนกลาง เขาใช้เวลา 2 ปี ในการศึกษาเกี่ยวกับการแปรรูปการทำตลาดกาแฟ
“บางทีเราก็แอบน้อยใจว่า ชาวบ้านตื่นเช้ามาถือจอบเข้าสวนไปดูแลต้นกาแฟ แต่พอได้ผลผลิตออกมา ไม่รู้ว่าจะไปขายให้ใคร”
หลังจากกลับมาสุชาติทำโครงการเสนอมูลนิธิโครงการหลวง และได้เมล็ดพันธุ์ต้นกาแฟมา 500 ต้น เขาเริ่มต้นมาพัฒนากาแฟในชุมชน ด้วยการนำผลผลิตที่ได้มาแปรรูป ด้วยการคั่วเมล็ดกาแฟด้วยตนเอง จากช่วงเวลาเริ่มต้นที่เขามียอดสั่งซื้อ 500 กิโลกรัมต่อปี ยอดสั่งซื้อก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนไปถึงกว่า 50 ตันต่อปี
สุชาติเล่าว่าเขาสามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้จากสิ่งนี้ ทำให้คนรุ่นใหม่คนอื่นๆ เริ่มกลับมาเห็นต้นทุนที่มีอยู่ในชุมชน
“จากเมื่อก่อนที่บ้านแม่จันใต้ มีวัยรุ่นในชุมชนไม่ถึง 5 คน แต่เดี๋ยวนี้วัยรุ่นกลับมาอยู่บ้านเกือบ 70- 80 % เลยทีเดียว”
สุชาติกล่าวด้วยความภูมิใจ เขาเล่าต่อว่าทุกวันนี้ป่าในชุมชนกลับมาอุดมสมบูรณ์ เมื่อชาวบ้านกลับมาช่วยกันดูแลรักษาชุมชน พวกเขาจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และได้รับการสนับสนุนจากองค์กรญี่ปุ่น ที่นำเครื่องจักรมาให้ ทุกวันนี้กาแฟจากบ้านแม่จันใต้ มีร้านกาแฟเป็นของตัวเองตั้งอยู่ในตึกเอ็มไพร์ทาวเวอร์ ใน จ.กรุงเทพฯ และมีแนวโน้มจะขยายสาขาต่อไปที่จ.เชียงราย และ จ.ขอนแก่น หรือแม้กระทั่งไปไกลถึงประเทศญี่ปุ่น สุชาติกล่าวในตอนท้ายถึงเรื่องราวของตัวเองว่า
“เป็นความภาคภูมิใจที่ได้กลับมาพัฒนาชุมชน จากชุมชนที่ไม่ได้มีอะไรมาก่อน แต่วันนี้สามารถนำเยาวชนกลับมาพัฒนาพื้นที่ได้ เมื่อเราสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับคนในชุมชน เยาวชนก็อยากกลับบ้าน”

ทวงคืนบ้านเกิดชนเผ่ามอแกลน โดยจุฑามาส เรือนนุ่น
“ชีวิตของพวกเราก็มีความสุขดีนะคะ ถ้าไม่มีใครมากีดกัน”
เสียงจากจุฑามาส เรือนนุ่น เยาวชนมอแกลนบ้างทุ่งหว้า อำเภอตะกั่วป่า จ.พังงา พยายามสื่อสารถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาวเลอันดามัน ที่ถูกกีดกันและคุกคามจากคนภายนอกที่มาหลังพวกเขา จากกฎกติกาที่ไม่เป็นธรรม
“ทางภาครัฐจะย้ายพวกหนูไปอยู่ที่ตีนเขา ทำให้พวกหนูต้องอยู่ห่างจากทะเล ทำให้คนในชุมชนเกิดความวิตกกังวล และกลัวว่าจะมีคนนอกเข้ามายึดที่อยู่อาศัยไป”
การออกมาส่งเสียงของจุฑามาส ไม่ใช่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งใด แต่เพื่อการอนุรักษ์ไว้ซึ่งวิถีชีวิต ที่อยู่อาศัย และขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของชาวมอแกลน โดยหน้าที่หลักของจุฑามาส คือการเป็นพี่เลี้ยงให้กับเยาวชน ได้ทำกิจกรรมร่วมกันภายในชุมชน
“ความฝันของหนูคือ อยากเห็นกลุ่มชาวเลอันดามันได้มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีพื้นที่จิตวิญญาณที่ถูกต้องและไม่ถูกเอาเปรียบ อยากให้ทุกคนมีบัตรประชาชน มีคุณภาพชีวิตที่เข้มแข็ง และยังคงรักษาวัฒนธรรมที่เป็นอยู่ดั้งเดิม โดยที่ไม่มีบุคคลอื่นเข้ามาทำลายวิถีชีวิตชาวมอแกลน”
สิ่งที่ชาวมอแกลนต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง แม้กระทั่งพื้นที่สุสาน ที่มีการฝังร่างของบรรพบุรุษมานานกว่าสามร้อยปี กำลังถูกแย่งไปพัฒนาพื้นที่เป็นที่จอดรถ
สิ่งที่เธอร้องขอ ขอเพียงแค่พื้นที่ที่เคยอยู่อาศัยกันมาอย่างยาวนานเป็นสิทธิของพวกเขา ไม่ใช่เป็นพื้นที่สาธารณชนที่ใครก็สามารถเข้ามาอยู่อาศัยได้ และนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ที่ชาวเลอันดามันหลายกลุ่มต้องเผชิญอยู่ จุฑามาสกล่าวในตอนท้ายว่า
“ความฝันเล็กๆ ของหนู อยากให้มันไปถึงฝัน และไม่ใช่แค่หนูแต่มันคือความฝันของเด็กมอแกลนอีกหลายๆ คน”

ประหยัด เสือชูชีพ การผลักดันพื้นที่คุ้มครองพิเศษทางวัฒนธรรมให้กับชาวปกาเกอะญอ
ภาพภูเขาสีเขียวขจี ที่ตรงกลางของภูเขามีน้ำตกขนาดใหญ่ เป็นภาพวิวทิวทัศน์ที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของบ้านแม่ปอคี อำเภอท่าสองยาง จ.ตาก ที่ประหยัด เสือชูชีพ กำลังนำเสนอเรื่องราวของชุมชนของตัวเอง เขาเคลื่อนไหวในประเด็นเพื่อชุมชนของเขาไปพร้อมกับการเล่นดนตรี ‘เตหน่า’ เครื่องดนตรีท้องถิ่นของชาวปกาเกอะญอ โดยสิ่งแรกที่เขาสื่อสารออกมานั้นคือเรื่องราวของไร่หมุนเวียน
“การทำไร่หมุนเวียนเปรียบเสมือนปัจจัยสี่”
โดยปัจจัย 4 ที่ประหยัดกล่าวถึงนั้นคือ 1.ที่อยู่อาศัยภายใต้ไร่หมุนเวียนที่สัตว์ป่าและผู้คนใช้ในการอยู่อาศัย 2.เครื่องนุ่งห่ม ที่ล้วนเป็นผลผลิตมาจากวัตถุดิบในไร่หมุนเวียน เช่น ผลผลิตจากฝ้าย เป็นต้น 3.ยารักษาโรค ประหยัดกล่าวว่า ในไร่หมุนเวียนล้วนเต็มไปด้วยสมุนไพรหลายชนิด ทั้งที่ปลูกเองและขึ้นเองตามธรรมชาติ และสุดท้ายข้อที่ 4 คือความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งในไร่หมุนเวียนชาวปกาเกอะญอไม่ได้ปลูกข้าวอย่างเดียว แต่มีพืชพรรณต่างๆ กว่า 70 ชนิด โดยล้วนแล้วแต่เป็นพืชผลตามฤดูกาล
“เราอยู่กับธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มาทั้งชีวิต แต่วันหนึ่งมีคนมาหาเราและบอกว่า ‘พวกคุณทำไม่ได้แล้ว เพราะว่ามันขัดกับข้อกฎหมายและนโยบายระดับชาติ’”
สิ่งที่ประหยัดกำลังผลักดันอยู่คือการทำให้พื้นที่ชุมชนของเขาเป็นพื้นที่คุ้มครองพิเศษทางวัฒนธรรม เพื่อรักษาไว้ซึ่งภูมิปัญญาในการทำไร่หมุนเวียน การใช้ชีวิตตั้งแต่การเกิด แต่งงาน ไปจนถึงความตายของคนปกาเกอะญอ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนสุ่มเสี่ยงที่จะหายไปตามการพัฒนาสมัยใหม่
“พื้นที่คุ้มครองพิเศษทางวัฒนธรรม เราไม่ได้ต้องการสิทธิเหนือคนอื่นๆ แต่มันเป็นพื้นที่พิเศษทางวัฒนธรรมของคนปกาเกอะญอ”
ประหยัดเชื่อว่าพื้นที่คุ้มครองพิเศษทางวัฒนธรรม จะปกป้องความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าต้นน้ำ น้ำตก และผืนป่าในชุมชน ให้อยู่คู่สังคมไทยไปให้นานที่สุด
ทั้ง 3 เรื่องราวจาก 3 พื้นที่ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนของเยาวชนอีกนับหลายสิบคนภายใต้เครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง (TKN) ในตอนท้ายของงาน ตัวแทนจากเครือข่ายได้ออกมาร่วมขับร้องเพลงต้นกล้าเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองร่วมกัน
ก่อนที่สุรชาติ สมณา ประธานเครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง จะขึ้นมายื่นหนังสือข้อเสนอความต้องการต่างๆ ของเยาวชนชนเผ่า ให้แก่ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม อันเป็นหมุดหมายที่ภาครัฐจะต้องหันมารับฟังเสียงของเยาวชนเหล่านี้อย่างจริงจัง เพราะพวกเขาคือผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงในชุมชนของพวกเขาเอง