กฎหมายชนเผ่าพื้นเมือง เข้าสู่วาระ 2 แล้ว

วันนี้ 25 กันยายน 2567 ในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 26  ในวาระของเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว มีรายชื่อ “ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …” อยู่ในรายการที่จะต้องพิจารณาด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการผ่านเข้าสู่ว่าระที่ 2 ตามกระบวนการเสนอกฎหมาย โดยในวาระแรกคณะกรรมาธิการใช้เวลาพิจารณากันเกือบ 6 เดือน จนกระทั่งมีมติโหวตผ่านขั้นแรกในทุกมาตรา เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา

สำหรับร่างกฎหมายที่ผ่านเข้าสู่วาระที่ 2 นี้ เป็นการหลอมรวมร่างกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี พร้อมด้วยร่างอื่น ๆ ที่เสนอด้วยภาคประชาชน  พรรคการเมือง และการเข้าชื่อกันโดยสมาชิกสภาชนผู้แทนราษฎร โดยมีหมวดหมู่สำคัญอยู่ 6 หมวด ที่พอสรุปได้ดังต่อไปนี้

หมวดที่หนึ่ง ว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริม เช่น คุ้มครองไม่ให้โดนดูกเหยียดหยาม โดนเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม  คุ้มครองสิทธิในการแสดงออกซึ่งภูมิปัญญา ความหลากหลายทางภาษา วัฒนธรรม วิถีความเชื่อตามประเพณี เป็นต้น

หมวดที่สอง คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์  หรือพูดง่าย ๆ เป็นเป็นกลไกหลักที่จะขับเคลื่อนการดำเนินเงินตามกฎหมายฉบับนี้ โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตามด้วยกระทรวงหลักที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงวัฒนธรรม และมีประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองร่วมด้วย

หมวดที่สาม เป็นกลไกภาคประชาชน ในร่างกฎหมายใช้ชื่อว่า “สมัชชาสภากลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทย” ถูกคาดหวังให้เป็นกลไกการมีส่วนร่วม  เรียนรู้แลกเปลี่ยน สะท้อนสถานการณ์ปัญหาและเป็นกลไกประสานงานของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในไทย  โดยจะทำงานเชื่อมกับคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมฯ ในหมวดที่สอง ซึ่งกลายร่างมาจากร่างกฎหมายสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

หมวดที่ 4 กล่าวถึงการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ทั้งในมิติของวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ และสถานการณ์ปัญหาที่แต่ละกลุ่มกำลังเผชิญอยู่ เพื่อนำไปประกอบการกำหนดนโยบาย การพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามกฎหมาย และการดำเนินการในการรับรองสถานะบุคคล หรือสิทธิในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ

หมวดที่ 5 พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบหลักของร่างกฎหมายฉบับนี้เลยก็ว่าได้ กล่าวถึงการให้ความคุ้มครองและส่งเสริมชุมชนที่มีวิถีชีวิต วัฒนธรรมในการอยู่ร่วมและจัดการทรัพยากรธรรมได้อย่างยั่งยืน ตามวิถีดั้งเดิมของตนเอง  โดยการจะกำหนดพื้นที่คุ้มครองนั้น จะต้องมีการทำความตกลงกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ พร้อมทั้งมีแผนแม่บทและกติกาในการบริหารจัดการที่ชัดเจนด้วย

หมวดที่ 6 บทลงโทษ มีการกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนข้อบัญญัติในกฎหมายฉบับนี้  เช่น กระทำการเหยียดหยาม เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ให้มีบทลงโทษทั้งจำและปรับในอัตราแตกต่างกันไปด้วย

ข้อสังเกตสำคัญประการหนึ่ง คือ คำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” ที่มีการผลักดันกันมาตั้งแต่ต้น และปรากฎอยู่ในร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนนั้น แทบไม่มีการเอ่ยถึงเลยในฉบับร่างล่าสุด เพียงแต่ห้อยไว้ในตอนท้ายของมาตรา ที่ 3 ในคำนิยามของคำว่า “ชาติพันธ์. ให้หมายรวมถึงกลุ่มที่ระบุตนเองว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมืองด้วย  จึงน่าจับตามองว่าในการพิจารณาของสภาฯ ในวันนี้ จะมีการอภิปรายเรื่องนี้ต่อหรือไม่ อย่างไร