สภาถอนร่าง – ตีตก นิยามกฎหมาย “ชนเผ่าพื้นเมือง” 

สภาฯ มีมติถอนร่างกฎหมายคุ้มครองชาติพันธุ์ หลังโต้วุ่น-ตีตกนิยาม “ชนเผ่าพื้นเมือง” รวมไทยสร้างชาติชี้ จะเป็นภัยความมั่นคง ด้านสภาชนเผ่าพื้นเมือง “เสียความรู้สึก”

กรุงเทพฯ – สภาผู้แทนราษฎรมีมติเสียงข้างมากถอนร่าง “พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …” จากการพิจารณาในวาระขั้นสอง เพื่อกลับไปทบทวนใหม่  เลื่อนกฎหมายคุ้มครองชนเผ่าพื้นเมืองฉบับแรกในไทยที่ใกล้คลอด

การพิจารณาใช้เวลาราวสี่ชั่วโมง โดยประเด็นโต้เถียงหลักในวันนี้ เกี่ยวข้องกับการเพิ่มนิยาม “ชนเผ่าพื้นเมือง” 

ผลลงมติให้ถอนร่างฯ เพื่อกลับไปทบทวนใหม่ ด้วยคะแนนเสียง 255 เสียง ไม่เห็นด้วย 137 เสียง

ร่างกฎหมายฯ มีทั้งหมดหกหมวด ครอบคลุมการคุ้มครองชาติพันธุ์ไม่ให้ถูกเหยียดหยามและเลือกปฏิบัติ รวมถึงกำหนดบทลงโทษผู้ที่ละเมิดดังกล่าว ก่อตั้งสมัชชาที่เป็นกลไกประสานงานและสร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ จัดทำฐานข้อมูลและส่งเสริมพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

“มันเสียความรู้สึกไปแล้ว แทนที่เราจะรีบให้กฎหมายผ่าน เพื่อเป็นจินตนาการใหม่ของสังคมไทย ว่าชนเผ่าพื้นเมืองได้รับการยอมรับแล้วมีตัวตนอยู่จริง” เกรียงไกร ชีช่วง ชาวกะเหรี่ยงโพล่งจากจ.ราชบุรีและประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เผยความรู้สึกหลังการพิจารณา 

“มันกลายเป็นว่าไม่ง่ายแล้ว สุดท้ายมันก็เข้าอีหรอบเดิมว่ารัฐบ่ายเบี่ยงได้ก็จะบ่ายเบี่ยง” ตัวแทนสภาชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งเป็นการรวมตัวของชนเผ่าพื้นเมืองในไทยกว่าห้าสิบกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าว

ตีตกนิยาม “ชนเผ่าพื้นเมือง”

ข้อโต้เถียงเรื่องการใช้คำ “ชาติพันธุ์” (ethnic groups) และ “ชนเผ่าพื้นเมือง” (indigenous people) ระบุอยู่ในมาตรา 3 ของร่างพ.ร.บ. ซึ่งมีนัยยะที่แตกต่างกัน โดยคำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” มีนัยยะว่ากลุ่มชาติพันธุ์มีประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับถิ่นฐาน-ทรัพยากรในพื้นที่ และมีลักษณะเป็นคนชายขอบ คือ ไม่ได้เป็นกลุ่มที่มีอำนาจครอบงำทางเศรษฐกิจและสังคม (ดูข้อความในพ.ร.บ.ได้ในหน้า 34 ของเอกสารนี้)

คณะกรรมาธิการได้หารือประเด็นดังกล่าว และส่วนมากมีความเห็นให้เสริมคำ “ชนเผ่าพื้นเมือง” ประกอบกับนิยามชาติพันธุ์ เพื่อให้ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมากยิ่งขึ้น

ผลลงมติปรากฏว่าเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยที่จะเพิ่มคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองในร่างพ.ร.บ. ด้วยคะแนนเสียง 258 ราย เห็นด้วย 139 ราย ไม่ลงคะแนน 1 และไม่ออกเสียง 2 ราย

ส.ส.จากพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคเพื่อไทยแสดงความคิดเห็นคัดค้านการเพิ่มนิยามชนเผ่าพื้นเมือง มีใจความสรุปว่าคำๆ นี้ไม่เหมาะสมกับบริบทประเทศไทยซึ่งไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของต่างประเทศเช่นประเทศอื่น และการเพิ่มนิยามนี้อาจจะให้สิทธิคนกลุ่มหนึ่งมากกว่าคนกลุ่มอื่น อันจะเป็นภัยต่อความมั่นคง 

“พรรครวมไทยสร้างชาติไม่เห็นด้วยกับการมีคำว่าชนเผ่าพื้นเมือง เพราะเรามองเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก ทุกชาติพันธุ์ถือว่าทุกคนเป็นไทย แต่ทุกคนมีพหุวัฒนธรรม” อัครเดช วงพิทักษ์โรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ จ.ราชบุรี แปรญัตติ “ผมเป็นคนไทย ชาติพันธุ์จีน หลายคนมีชาติพันธุ์ลาว ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ไม่มีใครอยากเป็นชนเผ่าพื้นเมือง”

ด้านส.ส.พรรคประชาชนและพรรคเป็นธรรม ได้แสดงความคิดเห็นสนับสนุนการเพิ่มนิยามนี้ ให้เหตุผลว่าไม่ได้เป็นการคุกคามความมั่นคงของชาติหรือให้อภิสิทธิ์กับชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ ทว่าเป็นการคุ้มครองกลุ่มเปราะบางที่ทุกวันนี้กำลังเผชิญปัญหาในหลายมิติ ทางปัญหาที่ดินและทรัพยากร รวมถึงการสูญหายทางวัฒนธรรม เป็นผู้ที่ยึดโยงทางภูมิวัฒนธรรมกับพื้นที่ในประเทศไทย และการที่ไทยไม่รับนิยามชนเผ่าพื้นเมือง อาจทำให้ประเทศเสียความน่าเชื่อถือในเวทีสากลที่ยอมรับคำนี้กันอย่างแพร่หลาย

กลายเป็น “เกมการเมือง”?

ตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีการผลักดันการคุ้มครองชาติพันธุ์-ชนเผ่าพื้นเมืองทางกฎหมายทั้งในไทยและต่างประเทศมาตลอด เมื่อปี 2553 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงและชาวเล เป็นประตูเปิดรับสังคมพหุวัฒนธรรมและพัฒนาเป็นกฎหมายและคุ้มครองชาติพันธุ์อื่นๆ 

ร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองชาติพันธุ์มีเสนอทั้งหมดห้าร่าง โดยรัฐบาล พรรคการเมืองและภาคประชาสังคมที่มีประชาชนนับหมื่นรายร่วมลงชื่อสนับสนุน ซึ่งแต่ละร่างมีรายละเอียดแตกต่างกัน เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาในสภาฯ คณะกรรมาธิการศึกษาได้ยึดหลักฉบับของรัฐบาล นำโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และกระทรวงวัฒนธรรมเป็นหลักและนำข้อพิจารณาจากร่างฉบับอื่นๆ มาปรับปรุงผ่านการประชุม 36 ครั้งในระยะเวลาแปดเดือน

“ส่วนตัวผมมองว่าอาจตกเป็นเกมการเมืองที่พรรคอาจพลิกเป็นสถานการณ์เป็นประโยชน์เพื่อสร้างคะแนนเสียงหรือได้ชื่อเสียงจากการเข้ามาผลักดันให้ร่างพ.ร.บ.ชาติพันธุ์ผ่าน” เกรียงไกรกล่าว มองว่าพรรคเพื่อไทย ดูมีการวางจังหวะเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ถอนร่าง ทั้งที่ส.ส.ของพรรคเป็นประธานคณะกรรมาธิการร่างฯ ฉบับนี้

หลังช่วงพักสิบนาที นายแพทย์ชลน่าน ส.ส.เพื่อไทย จ.น่าน ได้อภิปรายตั้งคำถามถึงบทบาทของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ในการผลักดันร่างและเสนอให้ถอนร่างเพื่อหารือเพิ่มเติม ท่ามกลางเสียงคัดค้านของ ส.ส.พรรคประชาชนและคณะกรรมาธิการร่างฯ ซึ่งในขั้นตอนพัฒนาร่าง ได้มีความเห็นส่วนมากสนับสนุนให้เพิ่มนิยามชนเผ่าพื้นเมืองในกฎหมาย 

“ตอนแรกคิดว่าจะไม่มีปัญหา แต่จะพยายามต่อ ถามว่าเสียใจไหม ไม่เสียใจ แค่เสียดายที่วันนี้เป็นโอกาสที่ดี” ปิยารัตน์ ติยะไพรัช ส.ส.เพื่อไทย จ.เชียงราย ประธานคณะกรรมาธิการร่างฯ และตัวแทนพรรคเพื่อไทยที่เสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองชาติพันธุ์ฉบับเพื่อไทย กล่าว 

“มองอีกด้าน เป็นอีกโอกาสที่ได้คือหลากหลายมุมมองที่จะได้เป็นประโยชน์กับพี่น้องชาติพันธุ์เราจริงๆ เราอยู่ในสังคมเดียวกัน ก็มีหลายมุมหลายมิติ” เธอย้ำ

คณะกรรมาธิการร่างฯ มีกำหนดประชุมอีกครั้งวันที่ 3 ตุลาคม ขณะที่หลายฝ่ายลุ้นว่าจะสามารถเสนอร่างเข้าพิจารณาทันการเปิดสภาสมัยนี้ภายในเดือนตุลาคมหรือไม่ 

“ถ้าหากพ.ร.บ.คุ้มครองชาติพันธุ์ผ่าน โดยไม่ได้มีคำว่าชนเผ่าพื้นเมือง พวกเราก็ต้องสู้ต่อ ทำงานสร้างการยอมรับเพิ่มในมิติอื่นๆ ในอนาคตก็ยังมีโอกาสทบทวนกฎหมาย” เกรียงไกร ทิ้งท้าย 

ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่าหกสิบกลุ่ม กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ตามข้อมูลของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และในจำนวนนี้ มีกลุ่มที่นิยามตนเองว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมืองและขึ้นทะเบียนกับสภาชนเผ่าพื้นเมืองแล้ว 46 กลุ่ม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สำรวจไว้ในปี 2545 พบว่า ประเทศไทยมีประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ประมาณหกล้านคน หรือ 9.68 % ของประชากรประเทศ

บทความนี้เผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษบนเว็บไซต์ HaRDstories 

รายงานโดย ณิชา เวชพานิช