ข้ามพ้นเขตแดนทางภาษา  ในห้วงเวลาที่ภาษาชนเผ่าพื้นเมืองกำลังสูญหายไป

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางภาษา มีกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองจำนวน 46 กลุ่มภาษาของชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นสัญลักษณ์ของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม แต่ยังเป็นเครื่องมือสื่อสารความรู้ ความเชื่อ และส่งต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อสืบสานวิถีชีวิตและวัฒนธรรมต่อการดำรงวิถีชีวิต

ภาพโดย: Surachat Yaepae  รังวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในงาน “วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2562”ภายใต้หัวข้อ “ภาษาชนเผ่าพื้นเมือง ภาษาเรา ภาษาโลก”
ภาพโดย: Surachat Yaepae รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในงาน “วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2562”ภายใต้หัวข้อ “ภาษาชนเผ่าพื้นเมือง ภาษาเรา ภาษาโลก”

ในห้วงเวลาซึ่งทั่วโลกกำลังวิตกว่าภาษาชนเผ่าพื้นเมืองจำนวนมากได้สูญหายไปแล้ว ทั้งยังมีอีกหลายภาษาที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการหายไปจากปัจจัยด้านโลกาภิวัตน์ การอพยพเข้าเมือง การอพยพย้ายถิ่นและภาวะโลกร้อน ทางสหประชาชาติจึงได้กำหนดให้ระหว่างปี ค.ศ. 2022-2032 เป็นทศวรรษสากลของภาษาชนเผ่าพื้นเมือง (International Decade of Indigenous Languages: IDIL) และให้ยูเนสโก (UNESCO) เป็นองค์กรรับผิดชอบในการดำเนินการส่งเสริม ฟื้นฟู อนุรักษ์ ภาษาชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลก

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นที่มาของโครงการจัดประชุมปฏิบัติการเรื่อง ‘การขับเคลื่อนนโยบายและแผนปฏิบัติการด้านภาษาชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย’ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยหนึ่งในไฮไลท์ของงานอยู่ที่การเสวนาในหัวข้อ “สถานการณ์นโยบาย ปัญหาและข้อท้าทายในการขับเคลื่อนด้านภาษาชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย” ที่ได้ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาพื้นเมืองมาร่วมเสนอให้ข้อคิดเห็น วิเคราะห์ความท้าทายและโอกาสในการส่งเสริมและสืบสานภาษาชนเผ่าพื้นเมือง ทั้งในชีวิตประจำวันและในระบบการศึกษา

มลายู ตากใบ พิเทน ลาหู่ ความหลากหลายทางภาษาในภาคใต้ที่กำลังจางหายไป

“ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ได้มีแค่ภาษามลายูปัตตานี ในอดีตมีทั้งภาษาจีน ภาษาพิเทน และภาษาตากใบ ล่าสุดพบว่าที่เบตงมีการใช้ภาษาลาหู่ เนื่องจากชนเผ่าลาหู่ได้อพยพย้ายถิ่นไปพื้นที่ดังกล่าว”

ดร. มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์ ประธานศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤติ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าจากการสำรวจสถานการณ์ภาษาในประเทศไทยมีถึง 70 ภาษา แต่ในปัจจุบันอาจจะลดน้อยลงในแง่ของความเจือจางของภาษา เพราะว่ากลุ่มเยาวชนใช้ภาษาท้องถิ่นน้อยลง

“การมีหลากหลายภาษาถ้าหากเราจัดการไม่ดีจะนำมาสู่ปัญหาต่างๆ แต่ถ้าหากเราจัดการได้ดี ภาษาสามารถสะท้อนความเชื่อ และอัตลักษณ์ของกลุ่มคนที่อยู่ในท้องถิ่น เป็นตัวแทนบ่งบอกถึงความเป็นตัวตนออกมาได้มากที่สุด” 

ดร. มิรินด้ากล่าวว่ามีความจำเป็นที่จะต้องปลูกฝังแนวคิดดังกล่าวให้กับกลุ่มเยาวชน เพื่อสร้างให้พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่จะพยายามรักษาภาษาของตนเองไว้ในอนาคต โดยในพื้นที่ชายแดนใต้มีข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นในพื้นที่สองข้อคือ ให้มีการใช้ภาษาท้องถิ่นหรือภาษามลายูในเอกสารทางราชการควบคู่กับภาษาไทย และให้มีการใช้ภาษามลายููในกลุ่มเด็กชั้นประถม  อย่างไรก็ดีการนำภาษาท้องถิ่นไปช่วยในการพัฒนาภาษาราชการยังไม่ได้รับการยอมรับ นำมาซึ่งปัญหาที่ตามมาคือ การพัฒนาการศึกษาเข้าไม่ถึงตัวนักเรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กลดน้อยลง จากการศึกษาที่ไม่ได้ใช้ต้นทุนของภาษาแม่ของพวกเขา

อย่างไรก็ดีหลังสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) มีข้อเสนอในการใช้ภาษามลายูควบคู่ไปกับภาษาไทยในการจัดการศึกษา เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ความไม่สงบ และยกระดับการศึกษาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จึงเกิดโครงการนำร่องในโรงเรียน 4 จังหวัด ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้ภาษามลายูควบคู่กับภาษาไทยในการจัดการศึกษาต่าง  ซึ่งผลเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาของการดำเนินงาน 10 ปี คือผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีขึ้น รวมถึงทักษะทางการอ่านของเด็กพัฒนาขึ้นทั้งภาษาแม่และภาษาไทย รวมทั้งยังส่งผลดีต่อวิชาเรียนอื่น ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ที่ค่าเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาสูงกว่าโรงเรียนอื่น ๆ ในบริบทจังหวัดเดียวกัน

ช่องว่างที่ถูกมองข้ามคือภาษาแม่ของเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือ 

ผศ.วรรณา เทียนมี ผู้อำนวยการมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ (Foundation for Apllied Linguistics- FAL) ได้ขยายภาพให้กว้างขึ้นผ่านนโยบายภาษาแห่งชาติว่ามีผลกระทบอย่างไรต่อการเรียนรู้ของเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือ

นโยบายภาษาแห่งชาติเริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่ปี 2553 มีการยกร่างโดยราชบัณฑิตยสภา จนผ่านมติคณะรัฐมนตรีสมัยนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  ต่อไปจนถึงนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนกระทั่งวันที่ 29 มิถุนายน 2564 รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการตรีนุช เทียนทอง ได้เปิดเผยมติคณะ รมต. ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติปี 2564 ถึง 2565 

โดยกรอบแนวคิดในการพัฒนาแผนปฏิบัติการตั้งอยู่บนหลักการภาษาเพื่อสันติสุขที่ยั่งยืน มีเป้าหมายหลักอยู่ 3 ประเด็น ด้านแรกเป็นการให้ความสำคัญกับภาษาในฐานะที่เป็นเครื่องมือเพื่อการดำรงอยู่ของอัตลักษณ์ ชุมชน และความสมานฉันท์ของคนในชาติ  ประการที่สองมุ่งเน้นการใช้ภาษาเพื่อการรับรู้เข้าใจและการเข้าถึงสิทธิพื้นฐาน  และประการที่สามคือภาษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ให้มีรากฐานการใช้ภาษาแม่เป็นภาษาสำคัญของรากฐานการเรียนรู้ภาษาใหม่ 

“เมื่อพูดถึงภาษาแม่ที่บอกว่าให้มีการจัดการเรียนรู้หมายความว่า ถ้าเราเปลี่ยนภาษาที่พูดตอนนี้ทันที คาดว่าทุกคนคงไม่ได้มีความสุขกับการได้ยิน มันไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมดเพราะเป็นภาษาที่ไม่คุ้นเคย” ผศ.วรรณากล่าว พร้อมยกผลสำรวจอัตราการเรียนรู้หนังสือของเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟปี 2562 พบว่าช่องว่างของการเรียนรู้ระหว่างกลุ่มสังคมที่แตกต่างกันคือ เด็กที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยปกติประจำวันที่บ้านกับเด็กทั่วไปที่ใช้ภาษาไทย มันจะมีคะแนนที่มีความแตกต่างอยู่ เด็กกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่มักจะได้คะแนนที่ต่ำกว่ามาก

ดังนั้นแนวทางการจัดเรียนรู้ทวิพหุภาษาโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐาน จึงเป็นการจัดการเรียนรู้โดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานของการเรียนรู้ รวมถึงผลิตสื่อการเรียนการสอนทีมีบริบทที่ใกล้ตัวเด็ก เพื่อเชื่อมโยงความรู้ประสบการณ์ที่ใกล้ตัว ภาษาที่คุ้นเคยเพื่อให้เชื่อมโยงไปสู่ภาษาไทย เพื่อลดช่องว่างทางภาษา  ซึ่งรูปแบบการจัดการเรียนรู้นี้อาจทำให้การจัดการเรียนการสอนทำได้ช้าและยากลำบากขึ้น เพราะครูผู้สอนต้องเข้าใจภาษาแม่ของเด็กด้วย

อย่างไรก็ดีผลที่จะตามมาหากใช้ภาษาแม่ของเด็กในการเรียนการสอน  ผศ.วรรณามองว่า จะทำให้เด็กพัฒนาทักษะการคิดได้มากขึ้น เพราะถ้าหากไม่ได้ใช้ภาษาแม่ในการเรียน โอกาสในการคิดได้อย่างอิสระก็เกิดขึ้นได้ยาก รวมทั้งเรื่องของความมั่นใจและความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเองที่จะลดหายไป

มากกว่าการสูญสิ้นทางภาษา คือการสูญหายภูมิปัญญาของชนเผ่าพื้นเมือง

“ภาษาคือรหัสพันธุกรรมทางปัญญา ภาษาคือรหัสพันธุกรรมทางโลกทัศน์ ภาษาคือรหัสพันธุกรรมทางระบบคิด ถ้าภาษาหายไปรหัสพันธุกรรมทั้งหมดเหล่านี้ก็จะหายไป”

ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ทำการสรุปเนื้อหาในงานเสวนาวันดังกล่าว เขากล่าวว่าภาษาไม่ใช่แค่รหัสพันธุกรรมทางปัญญาเท่านั้นแต่มันคือสิทธิมนุษยชน

“ภาษาคือการสถาปนาอำนาจของชุมชนในการเรียกร้องสิทธิของตัวเอง”

ผศ.ดร.สุวิชาน มองเห็นความท้าทายทางภาษาที่เกิดขึ้น อย่างแรกพื้นที่ในการใช้ภาษาลดลงและมีข้อจำกัดมากขึ้น แม้กระทั่งในพื้นที่ของครอบครัวที่เลือกสื่อสารภาษาสากลมากกว่าภาษาท้องถิ่นของตนเอง

ความท้าทายต่อมาคือค่านิยมใหม่ที่เข้ามาแทนที่การใช้ภาษา มีภาษาใหม่ ๆ คำแสลงใหม่ ๆ ที่เข้ามา 

กลายเป็นความท้าทายที่กำลังลดคุณค่าของภาษาดั้งเดิมออกไป และสุดท้ายคือการพัฒนาและยกระดับเรื่องของภาษา ให้ภาษาท้องถิ่นกลายเป็นภาษาที่ใช้ได้ ขายได้และกินได้ เพราะเด็กบางคนเรียนรู้ภาษาท้องถิ่น แต่ในการเรียนการสอนกลับไม่มีภาษาเหล่านี้ “ถ้าผมเป็นเด็กชนเผ่า ผมจะเรียนภาษาท้องถิ่นไปทำไมเพราะมันใช้ไม่ได้กินไม่ได้” ผศ.ดร.สุวิชานกล่าวทิ้งท้าย

โดยในตอนท้ายของการเสวนา ตัวแทนจากศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มาแสดงความคิดเห็นว่าหน่วยงานสนับสนุนการขับเคลื่อนและเห็นผลดีของการใช้ภาษาแม่ในระบบการศึกษา แต่กลไกในการนำมาใช้จะต้องมีการปรึกษาหารือเพื่อพัฒนาต่อไป ก่อนที่ผศ.วรรณา ได้เสริมว่ายิ่งถ้ามีพื้นที่การใช้ภาษาท้องถิ่นมากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสของการสูญหายก็จะน้อยลง ดังนั้นถ้าเด็กได้มีโอกาสในการใช้ภาษาของตัวเองเป็นสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบพหุภาษา ระหว่างภาษาท้องถิ่นกับภาษาไทยผ่านกระบวนการการจัดการการเรียนรู้ โดยวิธีการส่งเสริมให้เด็กใช้ภาษาที่ตัวเองมีอยู่ทั้งหมด ข้ามเขตแดนภาษาได้อย่างอิสระ 

ณฐาภพ สังเกตุ – เรียบเรียง