ความหวังของผู้นำชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลก กับการประชุมความหลากหลายทางชีวภาพของสหประชาชาติ COP16

เหลืออีก 1 วัน เวที COP16 จะเริ่มอย่างเป็นทางการที่เมืองกาลี ประเทศโคลอมเบีย ในวันที่ 21 ตุลาคม ถึง 2 พฤศจิกายน 2567 โดยงานนี้จะเป็นการประชุมครั้งแรก หลังจากการรับรองกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพโลกคุนหมิง – มอนทรีออล (KMGBF) ในปี 2022 ซึ่งจะมีตัวแทนรัฐบาลจาก 196 ประเทศเข้าร่วม โดยเวที COP16 จะเป็นเวทีสำคัญในการรับรองและให้ข้อเสนอแนะ เพื่อนำสู่การปฏิบัติในระดับประเทศเพื่อลดการสูญเสียและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนั้นรัฐภาคีจะต้องนำเสนอความคืบหน้าในการทำแผนงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (National biodiversity strategies and action plan: NBSAP) ตัวชี้วัดระดับชาติ (National Targets) ของแต่ละประเทศให้มีความเชื่อมโยงกับ KMGBF, การรับรองตัวชี้วัดหลักที่แต่ละประเทศต้องนำไปปฏิบัติและรายงาน การกระจายงบประมาณ และกลไกการขับเคลื่อนงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งตัวชี้วัดที่สำคัญสำหรับชนเผ่าพื้นเมืองคือ ตัวชี้วัดพื้นที่คุ้มครอง ฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรม ในพื้นที่จารีตชนเผ่าพื้นเมือง , ตัวชี้วัดเกี่ยวกับองค์ความรู้ดั้งเดิม(รวมถึง ภาษา, อาชีพดั้งเดิม, การเปลี่ยนแปลงของการใช้ที่ดิน, การครอบครองที่ดิน และ การมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพของชนเผ่าพื้นเมือง

ภาพโดย: IIFB

ภาพโดย: IIFB

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความหลากหลายทางชีวภาพมีความเชื่อมโยงกับที่ดิน เขตแดน ผืนน้ำ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่จิตวิญญาณที่สำคัญของชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งในกรอบแผนงาน KMGBF ได้มีเป้าหมายที่กล่าวถึงการเคารพและยอมรับสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองต่อที่ดินและทรัพยากร องค์ความรู้ชนเผ่าพื้นเมือง รวมถึงบทบาทของชนเผ่าพื้นเมือง การมีส่วนร่วมอย่างเป็นธรรมของเยาวชนและสตรี และการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการประชุมในครั้งนี้จึงมีตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองกว่า 700 คน จากทั่วโลกที่ได้เดินทางมาติดตามและเฝ้าระวัง เพื่อให้การตัดสินใจของรัฐภาคีได้ตระหนักและยอมรับถึงสิทธิ องค์ความรู้ และปฏิบัติการของชนเผ่าพื้นเมืองในการจัดการและดูแลความหลากหลายทางชีวภาพของโลก

ภาพโดย: IIFB

สำหรับประเทศไทยนั้น ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการจัดทำแผน NBSAP และตัวชี้วัดระดับชาติ ซึ่งถือว่าตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองได้มีโอกาสให้ความเห็นและเสนอแนะต่อร่างแผนงาน เพื่อให้เกิดการเคารพและยอมรับสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง การยอมรับการจัดการทรัพยากรตามจารีตประเพณีว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการอนุรักษ์และจัดการที่ยั่งยืน ที่แตกต่างจากมาตรการอนุรักษ์นอกเหนือพื้นที่คุ้มครอง (OECMs) การผลักดันกลไกถาวรของมาตรา 8(j) ภายใต้อนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ การเป็นหุ้นส่วนในการจัดการและการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วม การเข้าถึงแหล่งทุน การคุ้มครองวิถีชีวิต การจัดข้อมูลพื้นที่ปฏิบัติการที่ดีของชนเผ่าพื้นเมือง การปรับปรุงกฏหมายและนโยบาย และการปกป้องคุ้มครองนักปกป้องด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งหวังว่าการเข้าร่วมประชุม COP16 ครั้งนี้ รัฐบาลไทยจะนำข้อเสนอของชนเผ่าพื้นเมืองเข้าไปอยู่ในแผนงานและตัวชี้วัดระดับชาติ นำไปสู่การสร้างความร่วมมือให้ชนเผ่าพื้นเมืองเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญในการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ และสนับสนุนให้ชนเผ่าพื้นเมืองสามารถดำรงวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

นิตยา เอียการนา – รายงาน