เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมานางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีสถาปณาเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ที่ชุมชนโต๊ะบาหลิว เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ พร้อมเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามในข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 18 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไข ผ่อนปรนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ชาวเลที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายต่าง ๆ พร้อมเตรียมส่งเสริมวิถีชีวิตชาวเลให้เป็นซอฟต์เพาเว่อร์ของชาติ สร้างจุดขายและเพิ่มรายได้แก่ชุมชน
“วันนี้เป็นโอกาสที่ดี ที่ทุกท่านได้มาร่วมงานกันในวันนี้ จะได้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนถึงแนวความคิดของเขตพื้นที่คุ้มครองชาติพันธุ์ ปัจจุบันได้มีการประการเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยงไปแล้ว 23 ครั้ง วันนี้ดิฉันขอแสดงความยินดีกับพี่น้องชาวเลชุมชนโต๊ะบาหลิว ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ลำดับที่ 24 ซึ่งเป็นการรับประการว่าพี่น้องจะได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ทั้งทางวัฒนธรรมและการส่งเสริมศักยภาพทางวัฒนธรรมให้มีความมั่งคงในการใช้ชีวิต” สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล กล่าวระหว่างร่วมงานสถาปนาเขตพื้นที่คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิต และวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ชุมชนโต๊ะบาหลิว ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตผู้บุกเบิก
จากการสัมภาษณ์อรวรรณ หาญทะเล คณะทำงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน ทำให้ได้ทราบว่า พื้นที่โต๊ะบาหลิวและชุมชนชาวเลในเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ได้กลายเป็นจุดหมายสำคัญในโครงการอนุรักษ์วิถีชีวิตชาติพันธุ์ โดยพื้นที่นี้ถือเป็นหลักหมุดที่สะท้อนความเป็นเมืองหลวงทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาวเลอูรักลาโวยจ ซึ่งมีความโดดเด่นในเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น ความสัมพันธ์กับทะเล และวิถีชีวิตที่พึ่งพาธรรมชาติ
นอกจากนี้พื้นที่โต๊ะบาหลิว ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ด้วยเป็นพื้นที่ที่พี่น้องชาวเลบุกเบิกตั้งแต่ก่อนจะมีการจัดตั้งอำเภอเกาะลันตา ชุมชนแห่งนี้มีบทบาทสำคัญทั้งในด้านการเป็นจุดขึ้น-ลงเรือ ซ่อมแซมเครื่องมือประมง และเป็นศูนย์กลางของชาวเลจากหลายพื้นที่ด้วย
ทางด้านสกุลรัตน์ ยี่สกุล นักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขยายรายละเอียดเพิ่มเติมว่า กลุ่มชาวเลในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มมอแกน, อูรักลาโวยจ และกลุ่มมอแกลน โดยแต่ละกลุ่มมีวิถีชีวิตและการใช้ทรัพยากรทะเลที่แตกต่างกัน แต่ยังคงมีความผูกพันกับธรรมชาติและทะเลอย่างลึกซึ้ง โดยมอแกน เป็นกลุ่มที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในทะเลโดยมีเรือเป็นบ้าน ต่อมาเมื่อมีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตในทะเล พวกเขาจึงเริ่มตั้งถิ่นฐานบนฝั่ง ส่วนชาวอูรักลาไวยจจะอาศัยอยู่บนชายฝั่งและยังคงดำเนินวิถีชีวิตประมงขนาดเล็ก ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมในการทำประมง คล้ายกับชาวมอแกลน อยู่บนฝั่งเช่นกัน มีวิถีชีวิตที่ผสมผสานการทำมาหากินบนฝั่ง เช่น การทำสวน และการทำประมงในพื้นที่น้ำตื้น เช่น ป่าชายเลนและคลอง
ทั้งสามกลุ่มนี้มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับทะเลและธรรมชาติอย่างแนบแน่น แต่ในปัจจุบันพวกเขากำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและข้อจำกัดในการใช้ทรัพยากรทะเล ซึ่งทำให้การดำรงชีวิตในวิถีดั้งเดิมของพวกเขาไม่ง่ายเหมือนเดิม
“ในปัจจุบันกลุ่มชาวเลต้องปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตสมัยใหม่ เช่น การทำงานในภาคการท่องเที่ยวหรือการทำงานในสายอุตสาหกรรมต่างๆ” แต่การปรับตัวนี้ไม่ได้มาพร้อมกับความพร้อมในด้านศักยภาพหรือเครื่องมือที่ทันสมัย การทำมาหากินในวิถีดั้งเดิมก็กลายเป็นเรื่องยากขึ้น เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติถูกจำกัดโดยพื้นที่อนุรักษ์หรือการจัดสรรพื้นที่ท่องเที่ยว
เดี่ยว ทะเลลึก ผู้ประสานงานชาวเลจังหวัดกระบี่ มองว่าถึงแม้ต้นทุนด้านเศรษฐกิจและการเงินในการปรับตัวเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ของชาวเลไม่เท่ากับกลุ่มอื่น ๆ แต่หากนโยบายรัฐเปิดทางให้ชาวเลสามารถนำองค์ความรู้ทางทะเลมาเป็นจุดขาย และสร้างรายได้เพิ่มจากภาคธุรกิจการท่องเที่ยวได้ โดยที่ไม่ต้องรบกวนระบบนิเวศ ก็จะสร้างโอกาสที่เท่าเทียมมากขึ้น
“จากการพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางการท่องเที่ยววิถีชุมชนของ ชุมชนโต๊ะบาหลิว รัฐมนตรีได้แสดงความเห็นชอบและพร้อมสนับสนุนการท่องเที่ยวที่สะท้อนวิถีชีวิตชาวเลอย่างแท้จริง หนึ่งในตัวอย่างที่ท่านเห็นด้วยคือ โปรแกรมฟรีไดวิ่ง (Free diving) ในทะเล ที่ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์จับปลาหมึกด้วยมือเปล่า ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ เพราะจับได้เพียงครั้งละตัวหรือสองตัวเท่านั้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรในชุมชน จากการขายปลาหมึกตัวละ 100 – 200 บาท กลายเป็นโปรแกรมที่สร้างรายได้สูงถึง 1,290 บาทต่อคน” เดี่ยว ทะเลลึก ให้สัมภาษณ์หลังจากที่นำเสนอแนวคิดนี้ต่อรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม
เช่นเดียวกับวิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน ที่ยันยืนว่าการดำรงวิถีชีวิตของชาวเลนั้นเน้นการพึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมอย่างยั่งยืนที่สุด และการประกาศเขตพื้นที่ครองครองจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยปกป้องมรดกทางภูมิปัญญาเหล่านี้ไว้
“พื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมไม่ได้หมายถึงการแบ่งแยกหรือการจัดการในเชิงเขตปกครอง แต่เป็นการสะท้อนถึงวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติของชุมชนดั้งเดิม เช่น ชาวเลที่อาศัยอยู่ในโต๊ะบาหลิว ชุมชนเหล่านี้ไม่ได้มองทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งที่จะถูกใช้จนหมดสิ้น แต่เป็นทรัพยากรที่ต้องพึ่งพาและรักษาเพื่อความสมดุลในระยะยาว ตัวอย่างเช่น การอนุบาลสัตว์น้ำ การใช้พืชพรรณ พืชพันธุ์อย่างยั่งยืน และระบบนิเวศเฉพาะถิ่นที่ยังคงอุดมสมบูรณ์” วิทวัสกล่าว
สกุลรัตน์ให้ความเห็นเสริมในประเด็นนี้ว่าการใช้ พระราชบัญญัติคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จะเป็นทางเลือกในการรักษาวิถีชีวิตของชาวเล โดยการให้พื้นที่คุ้มครองที่ช่วยให้ชุมชนสามารถดำเนินชีวิตได้ตามวิถีดั้งเดิม ทั้งในด้านการทำมาหากินและการอนุรักษ์วัฒนธรรม ซึ่งไม่ใช่แค่การมุ่งเน้นเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงคุณภาพชีวิตที่เป็นองค์รวมทั้งด้านจิตวิญญาณและเศรษฐกิจของชุมชน
18 หน่วยงาน ลงนามข้อตกลงส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรม ชาวเลโต๊ะบาหลิว
หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของงานรวมญาติชาวเลครั้งที่ 14 ก็คือการสถาปณาเขตพื้นที่พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิต วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลชุมชนโต๊ะบาหลิว ซึ่งนับว่าเป็นพื้นที่คุ้มครองทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรมลำดับที่ 24 นับแต่มีการประกาศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 โดยในครั้งนี้มี 18 หน่วยงานสำคัญร่วมลงนามในข้อตกลง อาทิ ส่วนราชการระดับจังหวัด อุทยานแห่งชาติในพื้นที่ สถานบันการศึกษา เครือข่ายภาคประชาสังคม และผู้แทนชุมชน เป็นต้น
สาระสำคัญของข้อตกลงความร่วมมือ คือ มุ่งสร้างกลไกการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคมในการจัดการเขตพื้นที่วัฒนธรรมให้เกิดความยั่งยืน ตามมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล รวมทั้งมุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงในที่ดินและการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาที่อยู่อาศัย ระบบสาธารณูปโภค ตลอดจนการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาตามวิถีชีวิตชุมชน
บันทึกข้อตกลงฉบับเต็ม
ในตอนท้าย เดี่ยว ทะเลลึก ในฐานะคณะผู้จัดงาน กล่าวว่า งานครั้งนี้ประสบผลสำเร็จอย่างดี โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับหน่วยงานรัฐถึง 18 แห่ง ซึ่งช่วยเปิดช่องทางการสื่อสารและการแก้ไขปัญหาระหว่างรัฐและชาวเลมากขึ้น หน่วยงานที่เข้าร่วมงานได้เข้าใจถึงปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่ เช่น กรณีการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่ทับซ้อนกับที่ดินทำกินและสถานที่ประกอบพิธีกรรมของชาวเล ส่งผลให้มีข้อตกลงในการผ่อนปรน เช่น การอนุญาตให้ชาวเลเข้าไปใช้พื้นที่บางส่วนสำหรับการทำมาหากินดั้งเดิม
เรียบเรียงโดย: คเณศณัฏฐ์ สิมลาโคตร
ภาพถ่ายโดย: อารักษ์ เทพสง / IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง