โอกาสที่จะสูญเสีย เมื่อพื้นที่คุ้มครองฯ ถูกลบออกจาก กม.ชาติพันธุ์

“มาตรา 27 (พื้นที่คุ้มครอง) เป็นหัวใจสำคัญที่จะคุ้มครองวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่กับป่า แต่มีการสร้างวาทกรรมให้กลุ่มชาติพันธุ์เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นผู้ที่ทำลายป่า วาทกรรมเหล่านี้อยู่บนความเชื่อที่บิดเบือนข้อเท็จจริง” วรวิทย์ นพแก้ว จาก P-Move กล่าว

เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรมีมติผ่านร่างกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ท่ามกลางกระแสคัดค้านและความเห็นต่าง การพิจารณากฎหมายฉบับนี้เต็มไปด้วยความตึงเครียด หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถูกแก้ไขคือการลบ “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” ออกจากร่างกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิและการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย

พื้นที่คุ้มครองฯ แต่เดิมเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยรับรองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ในการดำเนินชีวิตตามวิถีดั้งเดิม ท่ามกลางนโยบายการพัฒนาและกฎหมายที่มักส่งผลกระทบต่อที่ดินทำกิน หากปราศจากพื้นที่คุ้มครองหลายพื้นที่ที่อาจเผชิญกับปัญหาการรุกล้ำ การถูกไล่รื้อ และการสูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมายาวนาน เป็นเหตุผลให้เสียงตัวแทนชาติพันธุ์ส่วนหนึ่งเรียกร้องให้คว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้ 

หากสรุปสถานการณ์ในวันพิจารณากฎหมาย มี 3 ปรากฏการณ์สำคัญเกิดขึ้น คือการที่ ส.ส. พรรคเพื่อไทยอภิปรายวิจารณ์ว่ากฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะในมาตรา 27 เรื่องพื้นที่คุ้มครองฯ อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ในเย็นวันเดียวกันนั้น พรรคเพื่อไทยกลับแสดงความยินดีว่าประเทศไทยได้มีกฎหมายส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์ 

พรรคภูมิใจไทยออกแถลงการณ์คัดค้านร่างพ.ร.บ.ชาติพันธุ์ โดยให้เหตุผลว่ากฎหมายให้อภิสิทธิ์แก่กลุ่มชาติพันธุ์มากเกินไป และภาคประชาชนคว่ำบาตรต่อร่างกฎหมายดังกล่าว นำโดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ และ P-Move กลุ่มที่ผลักดันกฎหมายนี้มาตั้งแต่ต้น โดยมองว่ากฎหมายฉบับนี้ถูกแก้ไขจนเสียเจตนารมณ์เดิม จึงเรียกร้องให้คว่ำร่างดังกล่าว

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ที่ผ่านมา IMN live ชวนวิทยากรจากภาคประชาชนที่ร่วมติดตามและผลักดันกฎหมายฉบับนี้อย่างใกล้ชิด มาตอบคำถามที่ว่า วันนี้กฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านแล้ว แต่ทำไมยังมีเสียงคัดค้าน? และความเห็นจากหลายฝ่ายที่มีทั้งข้อเท็จจริงและอคติที่ยังมีต่อกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง

สรุปประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายและกระบวนการพิจารณา

สุริยันต์ ทองหนูเอียด กรรมาธิการภาคประชาชน จาก P-Move ได้สรุปประเด็นสำคัญของการเสนอร่างกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ไว้ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับการพิจารณาและผ่านวาระ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีผู้เข้าร่วมพิจารณา 402 คน เห็นด้วย 312 คน ไม่เห็นด้วย 84 คน งดออกเสียง 2 คน และไม่ลงคะแนน 4 คน อย่างไรก็ตาม กระบวนการพิจารณาเต็มไปด้วยความพยายามสร้างความหวาดกลัวต่อร่างกฎหมายมากเกินความเป็นจริง

โดยที่มาของร่างกฎหมายฉบับนี้เริ่มจากการรับร่างทั้งหมด 5 ฉบับ ในเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลักและผนวกเข้ากับร่างของภาคประชาชน ได้แก่ ร่างของสภาชนเผ่าพื้นเมือง ร่างของกลุ่ม P-Move รวมถึงร่างจากพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล (ในขณะนั้น)

โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการพิจารณากฎหมายฉบับนี้เผชิญอุปสรรคหลักในเรื่องมาตรา 3 ซึ่งเกี่ยวข้องกับนิยามของ “ชนเผ่าพื้นเมือง” แม้ว่าร่างของรัฐบาลและภาคประชาชนจะเห็นตรงกันเกี่ยวกับนิยามนี้ แต่กลับมีการคัดค้านจากหน่วยงานต่างๆ รวมถึงฝ่ายความมั่นคงและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ต้องสงวนความเห็นในประเด็นนี้

เมื่อร่างกฎหมายเข้าสู่สภาครั้งที่ 1 และ 2 มีเสียงคัดค้านจาก ส.ส. บางกลุ่มที่มองว่าประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง และอ้างว่าการให้สิทธิ์ชนเผ่าพื้นเมืองอาจนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน การสร้างอภิสิทธิ์ชน หรือการบุกรุกทำลายทรัพยากร ปัญหานี้สะท้อนอคติและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์

โดยหมวดว่าด้วย “พื้นที่คุ้มครอง” เป็นประเด็นที่มีความเห็นแตกต่างกันมาก พรรคประชาชนเสนอให้พื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมต้องให้สิทธิชุมชนจัดการตนเอง โดยมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และทำข้อตกลงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลส่วนใหญ่ไม่ยอมรับข้อเสนอนี้ และสุดท้ายมีการแก้ไขให้ต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเดิม เช่น พ.ร.บ. อุทยานฯ และ พ.ร.บ. สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า ทำให้การคุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์ไม่ได้รับการรับรองตามที่ภาคประชาชนต้องการ

สุริยันต์กล่าวว่า “หลักของพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม คือเมื่อชุมชนได้มีการปฏิบัติในการที่จะสถาปนาพื้นที่ขึ้นมา โดยมีการทำความพร้อมเตรียมข้อมูล กติกา ธรรมนูญที่ว่าด้วยกติกาของชุมชน รวมจนถึงแผนต่างๆ แล้วให้ทางคณะกรรมการพิจารณา โดยก่อนที่จะพิจารณาต้องรับฟังความเห็นทำข้อตกลงกับหน่วยงาน เมื่อพิจารณาแล้วก็ให้มีคณะกรรมการขึ้นมาบริหาร ซึ่งไม่ควรเอากฎหมายอื่นที่มีอยู่ในพื้นที่มาบังคับใช้ เช่น กฎหมายป่าสงวนหรือกฎหมายอุทยาน  ฯลฯ เพราะว่าทุกฝ่ายมีส่วนร่วมทำข้อตกลงแล้ว”

สุริยันต์ ยังตั้งข้อสังเกตว่า พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลส่วนใหญ่ไม่มีความเข้าใจเรื่องพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของชาติพันธุ์ หลายคนไม่ทราบแม้แต่นิยามของคำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” นอกจากนี้มีการใช้เวทีสภาฯ เพื่อสร้างความหวาดกลัว และปลุกระดมให้สังคมเข้าใจผิดเกี่ยวกับสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ 

แม้ว่าร่างกฎหมายจะผ่านวาระ 3 แล้ว แต่ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการตีความและการบังคับใช้ ซึ่งยังไม่สามารถรับรองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองได้อย่างแท้จริง

บรรยากาศในสภาตอกย้ำความไม่เข้าใจพี่น้องชาติพันธุ์

เกรียงไกร ชีช่วง กรรมาธิการภาคประชาชนสัดส่วนสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ กล่าวถึงบรรยากาศในวันอภิปรายที่เต็มไปด้วยการกล่าวหา และบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง กล่าวหาว่าพวกเขารุกรานป่าไม้หรือมีแนวโน้มต้องการปกครองตนเอง 

นอกจากนี้เขายังชี้ให้เห็นว่ามีการใช้วาทกรรมแบบ “ตบหัวแล้วลูบหลัง” กล่าวอ้างความเข้าใจและเห็นใจกลุ่มชาติพันธุ์ แต่กลับเพิกเฉยต่อปัญหาที่พวกเขาเผชิญมาหลายสิบปี เกรียงไกรตั้งข้อสังเกตว่าการบิดเบือนเหล่านี้ สะท้อนถึงความกลัวของนักการเมืองบางกลุ่ม ที่เกรงว่าหากชนเผ่าพื้นเมืองได้รับสิทธิและโอกาส พวกเขาจะเสียผลประโยชน์

ทั้งนี้เกรียงไกรอธิบายว่าร่างกฎหมายนี้มีหัวใจหลัก 4 ประการ ได้แก่ คำนิยาม คณะกรรมาธิการภาคประชาชนยึดมั่นในหลักการที่ถูกต้อง แม้จะถูกปัดตกไป แต่ก็ต้องยอมรับในฐานะเสียงข้างน้อย  การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่เน้นการให้ความสำคัญในการจัดการที่ทำให้เกิดการเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสต่าง ๆ โครงสร้าง ซึ่งสามารถต่อรองจาก “สมัชชา” เป็น “สภาคุ้มครองและส่งเสริม” และพื้นที่คุ้มครอง เป็นหัวใจสำคัญที่ไม่สามารถยอมถอยได้ เพราะหากไม่มีการคุ้มครองพื้นที่ ชนเผ่าพื้นเมืองจะไม่มีโอกาสแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เผชิญอยู่

เกรียงไกรย้ำว่า หากไม่มีมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับพื้นที่คุ้มครอง รัฐบาลและกลุ่มอิทธิพลจะยังคงเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนและขัดขวางการเข้าถึงสิทธิของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง

ชาติพันธุ์ในเวทีการเมือง

“วันนี้ชาติพันธุ์ได้เข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ในเวทีการเมืองและไม่สามารถมองข้ามการเมืองได้อีกต่อไป เนื่องจากการเมืองมีผลต่อชาติพันธุ์โดยตรง”

วรวิทย์ นพแก้ว กรรมาธิการภาคประชาชน สัดส่วน P-Move กล่าวและชวนย้อนกลับไปในกระบวนการร่าง พ.ร.บ. ชาติพันธุ์ว่าหลายฝ่ายได้ทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิชุมชนที่ถูกละเมิดในกระแสการพัฒนาและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างไรก็ตามกฎหมายที่ผ่านมากลับมุ่งปกป้องทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก โดยไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐ

สิ่งที่เกิดขึ้นคือกฎหมายเหล่านี้มุ่งเน้นการปกป้องสัตว์ป่าและพืชพันธุ์ แต่กลับทำให้สิทธิชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ถูกมองข้าม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการไม่เคารพสิทธิของมนุษย์ แม้กฎหมายป่าไม้และอุทยานจะมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองธรรมชาติ แต่ไม่ได้คุ้มครองคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ

วรวิทย์ได้เน้นย้ำว่า ในส่วนของ พ.ร.บ. ชาติพันธุ์ที่ผ่านมานี้ มาตรา 27 ถือเป็นการลดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชุมชน มาตรานี้จะทำให้ชุมชนสามารถร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาแผนแม่บทและธรรมนูญชุมชน ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาในเชิงรัฐศาสตร์ โดยไม่ใช้การบังคับทางกฎหมายเท่านั้น 

“พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” สาระสำคัญที่ถูกขจัดออก

หลังจากที่วรวัฒน์ เอื้ออภิญญากุล สส.จังหวัดแพร่ พรรคเพื่อไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อถึงเหตุผลที่ตัดมาตรา 27 ออก เนื่องจากข้อเสนอนี้ไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในขั้นตอนในวันที่รับหลักการ  และเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะจะไปยกเว้นกฎหมายอื่น 

สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีสถาปณาเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ที่ชุมชนโต๊ะบาหลิว เกาะลันตา จ.กระบี่

สุริยันต์ จาก P-Move กล่าวว่า “วรวัฒน์อาจจะไม่ได้อ่านร่างฉบับพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นร่างที่มีเรื่องพื้นที่คุ้มครอง มีเรื่องการลงโทษ มีเรื่องสิทธิ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างก้าวหน้ามาก”

เขาให้ความเห็นถึง ร่างกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมด 5 ฉบับ เป็นร่างกฎหมายที่มีความก้าวหน้า แม้แต่ละฉบับจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไป โดยเน้นการคุ้มครองสิทธิในหลายด้าน เช่น พื้นที่คุ้มครอง สิทธิทางวัฒนธรรม สิทธิด้านทรัพยากร สิทธิการศึกษา และสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง อย่างไรก็ตามมีความพยายามเบี่ยงเบนข้อเสนอนี้ไปในทิศทางที่ผิด โดยกล่าวหาว่าเป็นการแบ่งแยกดินแดน ทั้งที่ในความเป็นจริง ไม่มีกฎหมายใดในโลกที่ให้สิทธิในการแบ่งแยกดินแดนผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ

นอกจากนี้สุริยันต์ยังมองว่า รัฐไทยยังคงมีทัศนะที่ครอบงำโดยระบบราชการ ซึ่งไม่คุ้นชินกับการกระจายอำนาจ แนวคิดเรื่อง “การมีส่วนร่วมของประชาชน” ถูกตีความอย่างจำกัด เป็นเพียงการให้ประชาชนรับรองสิ่งที่รัฐตัดสินใจไปแล้ว ในขณะที่แนวคิดการมีส่วนร่วมที่แท้จริง ต้องให้ชุมชนมีบทบาทในการออกแบบและดูแลทรัพยากรของตนเอง

เขาสรุปหลักการสำคัญของพื้นที่คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ 3 หลักการ คือ คุ้มครองสิทธิที่ถูกละเมิด  โดยกลุ่มชาติพันธุ์มักถูกกีดกันจากสิทธิพื้นฐาน เช่น การเข้าถึงสวัสดิการ เงินเยียวยา หรือแม้แต่สถานะทางกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเท่าเทียม 

เสริมศักยภาพในการพัฒนา โดยกลุ่มชาติพันธุ์มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจและวัฒนธรรม เช่น อุตสาหกรรมกาแฟ งานหัตถกรรม และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐอย่างเป็นระบบ และความเสมอภาคและการเคารพวิถีชีวิต โดยหลักการพื้นที่คุ้มครองไม่ใช่การสร้างรัฐอิสระ แต่เป็นการดำรงอยู่ร่วมกันภายใต้กฎหมายรัฐไทยแบบพหุนิยม ที่ยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมและกฎหมายระดับสากล

ความเห็นในช่วงท้ายของสุริยันต์ ยังชี้ให้เห็นถึงความท้าทายและการปรับตัวของชาติพันธุ์ ที่ปัจจุบันต้องเผชิญกับความท้าทายจากนโยบายของรัฐ การเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น ปัญหาโลกร้อน PM 2.5 มลพิษ และไฟป่า ขณะเดียวกันพวกเขากำลังพยายามปรับตัวโดยการพัฒนาแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากร การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ประเทศไทยสูญเสียอะไรจากไม่มีพื้นที่คุ้มครอง

เกรียงไกร จากสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ มองว่าเมื่อมาตรานี้ถูกถอดออกไป คดีความที่เกี่ยวข้องกับสิทธิชุมชนจะเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่ประชาชนในพื้นที่จะกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบ 

“ที่ผ่านมา เราเห็นตัวอย่างชัดเจนว่าชุมชนมักแพ้คดีเสมอ เพราะกฎหมายที่ใช้บังคับไม่ได้เอื้อให้เกิดการพิจารณาความเป็นธรรม”

นอกจากนี้ เขายังชี้ว่าการบริหารพื้นที่แบบ “การจัดการร่วม (Co-management)” ที่เคยเป็นแนวทางให้รัฐและชุมชนทำงานร่วมกัน จะกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อมาตรานี้ไม่ถูกบรรจุไว้ในกฎหมาย

“ในขณะที่เรากำลังเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรง ทั้งภาวะโลกร้อนและมลพิษทางอากาศ กลับไม่มีมาตราที่จะรองรับบทบาทของชุมชนในการเป็นเกราะป้องกันธรรมชาติ” เกรียงไกรกล่าว

ไม่เพียงแต่สิทธิของชุมชนที่ถูกลดทอน แต่ยังรวมถึงโอกาสในการพัฒนามูลค่าทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งรัฐบาลเคยให้ความสำคัญภายใต้นโยบาย Soft Power ขณะเดียวกันในเวทีโลกประเทศไทยเคยให้คำมั่นว่า จะมีกลไกคุ้มครองสิทธิชุมชนอย่างเหมาะสม แต่เมื่อมาตรานี้ไม่ถูกบรรจุ คำถามสำคัญคือรัฐบาลจะอธิบายต่อประชาคมโลกอย่างไร?

ด้านสุริยันต์ จาก P-Move ได้เปรียบเทียบร่างกฎหมายที่ผ่านสภาที่ตัดเจตนารมณ์สำคัญของกฎหมายไปว่าเปรียบเสมือนประเทศที่ไร้ดวงตา แขนขา และหัวใจ

หากเปรียบประเทศไทยเป็นร่างกาย สิ่งที่สูญเสียอันดับแรกคือ “ดวงตา” สายตาที่พร่ามัวและเต็มไปด้วยอคติ เมื่อรัฐมองประชาชนของตนเป็นคู่กรณีแทนพันธมิตรทางการพัฒนา ใช้กฎหมายควบคุมแทนที่จะสนับสนุน โอกาสของประเทศที่จะก้าวสู่เวทีโลกจึงถูกปิดตาย

ถัดมาคือ “แขนขา” ความสามารถในการทำงานร่วมกัน เมื่อรัฐออกกฎหมายที่มัดมือประชาชน ไม่เปิดทางให้ชุมชนจัดการทรัพยากรของตนเอง ประเทศก็เหมือนร่างกายที่ถูกตัดแขนตัดขา ขาดพลังสร้างสรรค์ ไม่มีใครอยากร่วมมือ ยกเว้นผู้ที่รัฐให้การยอมรับอย่างมีเงื่อนไข

สุดท้ายคือ “หัวใจ” ประชาชนคือหัวใจของการพัฒนา ผ่านการให้สิทธิและศักดิ์ศรีแก่ทุกกลุ่มคน แต่เมื่อรัฐผลักประชาชนออกจากการพัฒนาสุริยันต์ได้กล่าวในช่วงท้ายว่า 

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ยอมจดจำประวัติศาสตร์ ลืมว่าตัวเองเป็นใคร เราเป็นรัฐมีความหลากหลายทางด้านอัตลักษณ์และพหุวัฒนธรรม เราไม่ใช่รัฐเชิงเดี่ยว รัฐที่ส่วนกลางจะมาบอกว่าให้ใส่เสื้อสูททั้งประเทศ”

ทางด้านวรวิทย์ จาก P-Move ได้กล่าวว่า สิ่งที่รัฐไทยสูญเสียไปคือประชากรของตนเอง ที่รัฐไทยไม่ได้นับรวมกลุ่มชาติพันธุ์เป็นพลเมืองที่มีศักดิ์ศรีอย่างเท่าเทียม กลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้เกิดมาเป็น “คนชายขอบ” แต่ถูกทำให้เป็นเช่นนั้น ตั้งแต่รัฐไทยประกาศตนเป็นรัฐชาติ พวกเขาถูกจัดวางอยู่ภายใต้คำจำกัดความที่รัฐสร้างขึ้น ถูกกีดกันจากสิทธิขั้นพื้นฐาน ขณะที่มาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญระบุว่าทุกคนต้องได้รับความเสมอภาคตามกฎหมาย ทว่าชุมชนที่พึ่งพาป่าไม้กลับถูกตัดสิทธิ์ตั้งแต่ต้น

เขาชวนย้อนกลับไปว่า หากเป็นชนชั้นนำ นายทุน หรือผู้มีอำนาจ ถูกจำกัดสิทธิ์ตั้งแต่เกิดเช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์ พวกเขาจะยอมรับได้หรือไม่? การที่รัฐไม่นับรวมกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดสิทธิของพวกเขา แต่ยังเป็นการบั่นทอนอัตลักษณ์ของชาติ เพราะชาติพันธุ์เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของแผ่นดินไทยที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและศักยภาพในการพัฒนาประเทศ

สิ่งที่วรวิทย์กล่าวยังชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ อำนาจในรัฐสภาถูกผูกขาดโดยกลุ่มที่ไม่สะท้อนเจตจำนงของประชาชน การออกกฎหมายกลายเป็นกระบวนการที่ตัดตอนสิทธิของประชาชนไปทีละน้อย กลุ่มชาติพันธุ์และประชาชนทั่วไปจึงต้องตื่นรู้ ต้องติดตามการเมือง และต้องใช้พลังของตนในการเลือกตั้งครั้งหน้า

มาตรา 27 จะถูกนำกลับมาแก้ไขได้อีกหรือไม่?

สุริยันต์ จาก P-Move กล่าวว่าแม้ร่างกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ในปัจจุบันบางมาตราอาจไม่สมบูรณ์หรือสูญเสียเจตนารมณ์ไป แต่ยังพอมีช่องทางในการผลักดัน โดยเฉพาะในชั้นวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งแม้จะถูกครอบงำโดยพรรคราชการ แต่ยังมี ส.ว. ที่รับฟังเสียงของประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์

แม้ว่ากฎหมายอาจถูกบิดเบือนในชั้น ส.ส. แต่วุฒิสภายังสามารถทบทวนและปรับปรุงได้ สิ่งสำคัญคือเสียงจากภายนอกต้องมีพลังมากพอที่จะกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจนำไปสู่การพิจารณาร่วมกันระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. เช่นเดียวกับกรณีกฎหมายสมรสเท่าเทียม

ด้านวรวิทย์ ชี้ให้ตระหนักว่า “ด้วยโลกทัศน์ของ สว. ก็พอมองเห็นว่าอุดมการณ์แนวคิดเป็นอย่างไร แต่ถ้าเรายังไม่ช่วยกัน ไม่ลุกกันขึ้นมาส่งเสียง กฎหมายที่บอกว่าเป็นกฎหมายคุ้มครองที่ขาดหลักการสำคัญ อาจเป็นกฎหมายที่ครอบงำและควบคุมอย่างแน่นหนาถาวรต่อไป”

เรียบเรียง; คเณศณัฏฐ์ สิมลาโคตร