‘สว.เชื่อทำการบ้านมาดีแล้ว’ กรรมาธิการชั้นวุฒิสภา เริ่มถกอนาคตร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์นัดแรก

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. ถาพโดย: ณฐาภพ สังเกตุ

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครอง และส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์พ.ศ…. ครั้งที่ 1 ในชั้นของวุฒิสภา

โดยได้มีมติแต่งตั้ง ธวัช สุระบาล สมาชิกวุฒิสภา เป็นประธานคณะกรรมาธิการ และมีรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญทั้งหมด 5 คน ประกอบด้วย อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา, วราภัสร์ ไพพรรณรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา, เอมอร  ศรีกงพาน สมาชิกวุฒิสภา, นิรัตน์ อยู่ภักดี สมาชิกวุฒิสภา และชูพินิจ เกษมณี  คณะกรรมาธิการวิสามัญสัดส่วนภาคประชาชน 

เส้นทางต่อจากนี้ของ พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ

โดยอนาคตของ พ.ร.บ. ชาติพันธุ์ฯ ตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นวุฒิสภา ซึ่งผ่านวาระที่ 1 มีมติเห็นชอบรับหลักการแล้ว โดยวาระที่ 2 ขณะนี้อยู่ในชั้นของคณะกรรมาธิการ โดยมีระยะเวลา 30 วันถึงวันที่ 11 มีนาคม 2568 เพื่อทำการพิจารณาให้แล้วเสร็จ และจะมีการจัดทำรายงานเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาว่าเห็นชอบตามรายงานที่คณะกรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่

โดยในการพิจารณาวาระที่ 3 นั้น หากวุฒิสภามีมติให้มีการแก้ไข การแก้ไขจะถูกส่งกลับไปที่สภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ลงมติว่าเห็นชอบต่อการแก้ไขของวุฒิสภาหรือไม่ หากเห็นชอบจะมีการขึ้นทูลเกล้าฯ และลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย 

แต่หากในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบกับการแก้ไขของวุฒิสภา จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมจำนวนตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนด เพื่อทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการร่วมกัน ระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้

โดยเมื่อจัดทำรายงานแล้วเสร็จ จะมีการนำเสนอให้กับสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในแต่ละฝั่งเพื่อให้ความเห็นชอบ โดยในกรณีที่วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎร ฝั่งหนึ่งฝั่งใดไม่เห็นชอบ จะถือว่าร่างนั้นถูกยับยั้งไว้ 

กมธ.ภาคประชาชนเน้นย้ำ กฎหมายชาติพันธุ์ไม่ใช่การให้อภิสิทธิ์แก่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ศักดิ์ดา แสนมี่ รองเลขาธิการคณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้กล่าวในที่ประชุมว่า ประเทศไทยมีตัวตนชนเผ่าพื้นเมืองมานาน เพียงแต่ในสมัยก่อนมีการใช้คำเรียกที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นในวันนี้พวกเราจึงพยายามที่จะหาอัตลักษณ์ร่วมกัน เป็นคำที่ทำให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จึงเป็นสาเหตุที่จำเป็นต้องเกิดการนิยามคำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง”

ศักดิ์ดา แสนมี่ รองเลขาธิการคณะกรรมาธิการวิสามัญ

“ผมเป็นชนเผ่าลีซู การเรียกแทนตัวเองว่าชนเผ่าพื้นเมือง คือชื่อที่โอบรับพวกเราไว้ด้วยกัน” ศักดิ์ดากล่าว

ซึ่งทางธวัช สุระบาล สมาชิกวุฒิสภาได้กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาชิกวุฒิสภา มีการตั้งคณะกรรมาธิการ 4 คณะที่ศึกษาคำนิยาม ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ มาแล้ว และได้ทำข้อสังเกตไว้บางส่วนต่อร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 5 ฉบับ

ธวัช สุระบาล สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมาธิการฯ

อย่างไรก็ดีนิรัตน์ อยู่ภักดี สมาชิกวุฒิสภา และรองประธานคณะกรรมาธิการฯ ก็ได้ให้ความคิดเห็นถึงเนื้อหาหมวด 5 มาตรา 27 ที่มีการใช้ธรรมนูญชุมชน เข้ามาเกี่ยวข้องกับการกำหนดพื้นที่คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยนิรัตน์ ตั้งคำถามว่าคำดังกล่าวอยู่ในระดับใดในกฎหมายอันซึ่งมีรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดในประเทศไทย

“ทำไมชาติพันธุ์มีธรรมนูญ และทำไมผมเป็นคนลาวถึงไม่มีธรรมนูญ  ถ้าวันนี้กลุ่มชาติพันธุ์ยังได้สิทธิน้อยกว่าคนกลุ่มอื่นก็จะได้เติมให้ ผมอยากให้คนไทยทุกคนได้เหมือนกันหมด” นิรัตน์กล่าว

นิรัตน์ อยู่ภักดี สมาชิกวุฒิสภา และรองประธานคณะกรรมาธิการฯ

ทางด้านสุริยันต์ ทองหนูเอียด ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ ก็ได้กล่าวก่อนจบการประชุมว่า เรื่องของพื้นที่คุ้มครอง ไม่อยากให้คณะกรรมาธิการในที่ประชุม เกิดความหวาดระแวงหรือมองว่าจะมีคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้อภิสิทธิ์มากกว่าคนกลุ่มอื่น เพราะกฎหมายฉบับนี้กำลังพูดถึงเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ทำให้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เปราะบางมีกฎหมายรองรับ โดยที่ไม่ได้ไปยกเลิกหรือเพิกถอนกฎหมายใดที่เคยอยู่ในพื้นที่เดิม

สุริยันต์ ทองหนูเอียด ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ

ฟังเสียง หนึ่งในตัวแทน สว. คิดเห็นอย่างไรกับพรบ.ชาติพันธุ์

เทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา ได้ให้ข้อมูลกับทาง IMN แสดงความคิดเห็นของเขาต่อ พ.ร.บ. คุ้มครอง และส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ว่า ประเด็นเรื่องพื้นที่คุ้มครองที่บางฝ่ายเป็นกังวลว่าจะเป็นการไปใช้ประโยชน์และทำลายป่า เทวฤทธิ์มองว่าพื้นที่คุ้มครองเป็นหลักการที่ควรเกิดขึ้น โดยที่ต้องไม่ลืมที่จะคำนึงถึงการบริหารพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์นี้ ต้องเป็นไปตามธรรมนูญหรือเกณฑ์การใช้พื้นที่ร่วมกัน 

อ้างอิงจากมาตรา 29  เรื่องสิทธิประโยชน์ของประชาชนในชุมชนภายใต้พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิต ชาติพันธุ์ มีสิทธิ์ใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ตามธรรมนูญของพื้นที่คุ้มครอง วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งการใช้ประโยชน์ดังกล่าวมีเงื่อนไขคือ จะต้องเป็นไปอย่างสมดุล ไม่กระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพหรือกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

เทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา

นอกจากนี้ในมาตรา 28 เรื่องเงื่อนไขการยกเลิกพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์  ก็ได้ระบุว่าหากชุมชนมีการทำผิดข้อตกลงที่ทำไว้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ สามารถยกเลิกพื้นที่คุ้มครองและกลับไปใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้

“ผมเห็นว่าเป็นหลักการที่ควรเกิด หากเราใช้วิธีจัดการทรัพยากรแบบสุดโต่ง สุดท้ายกลุ่มชาติพันธุ์ก็จะไม่มีทรัพยากรในการดำรงชีวิตอยู่ ในทางตรงกันข้ามเมื่อเป็นการกำหนดเกณฑ์ร่วมกันระหว่างรัฐกับชุมชน ย่อมเกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน” 

เทวฤทธิ์วิเคราะห์ต่อในแง่การเมืองว่า เสียง สว. ส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะคิดสอดคล้องไปกับพรรคร่วมรัฐบาล และเมื่อดูสัดส่วนในกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. นี้แล้ว 1 ใน 3 มาจากตัวแทนประชาชนที่ล่ารายชื่อเสนอร่างกฎหมาย ส่วนสว. 16 คน ในกมธ. มี 2 คนที่มั่นใจได้ว่าจะสนับสนุนสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ 14 คนที่เหลือในส่วนของ สว. อาจถูกมองว่าเป็นกลุ่มใหญ่ที่คิดสองคล้องไปทิศทางเดียวกันกับพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง

สุดท้ายเทวฤทธิ์ฝากไว้ว่าไม่อยากให้ทุกคนหมดความหวัง เพราะหากดูที่มาของ สว. ตามรัฐธรรมนูญ ม.107 ร่วมกับการแบ่งสายอาชีพหรือลักษณะการสรรหา สว. 20 กลุ่มอาชีพนั้น มี “กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น” อยู่ในกลุ่ม 15 เป็นการยืนยันเจตนารมณ์การมีอยู่ของกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง และต้องฝากความหวังว่ากลไกของวุฒิสภาจะสามารถสะท้อนถึงแนวคิด และความต้องการของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ต้องการจะยืนยันสิทธิการได้รับการปกป้องคุ้มครอง ในฐานะพลเมืองไทยคนหนึ่ง

“ผมประเมินว่าอาจมีการแก้ไขรายมาตราในชั้นกรรมาธิการ และวุฒิสภาอาจเห็นด้วยกับการแก้ไขนั้น” เทวฤทธิ์กล่าวทิ้งท้าย