เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. … วุฒิสภา ครั้งที่ 2 ในวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. … เรียงตามลำดับมาตรา ซึ่งมีข้อกังวลต่อคำนิยามต่างๆ ที่ได้ผ่านชั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว จากสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา

เสนอเพิ่ม ‘ชาวไทย’ ลงในชื่อร่างพรบ.
พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สมาชิกวุฒิสภากลุ่มด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม ได้เสนอที่ประชุมขอให้แก้ไขชื่อร่าง พรบ. ใหม่ โดยใช้ชื่อว่า ‘พรบ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์’ โดยให้เหตุผลอ้างอิงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 ที่บัญญัติไว้ว่ารัฐควรส่งเสริม และให้ความคุ้มครองชาวไทย หรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มีสิทธิในการดำรงชีวิตตามสังคม วัฒนธรรม และประเพณี
ทางด้านอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภากลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ คัดค้านว่า ยังมีอีกหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย แม้จะอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว เช่น กลุ่มมันนิที่ยังเข้าไม่ถึงสัญชาติ ชื่อพรบ.จึงควรเปิดกว้างเพื่อคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยมาเนิ่นนาน
ทางด้านอุดมลักษณ์ บุญสว่าง จากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องของการคุ้มครองวิถีชีวิต โดยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสัญชาติ
อย่างไรก็ดีพิสิษฐ์ ได้สืบค้นข้อมูลและระบุว่า ชาวไทยหมายถึง บุคคลที่มีสัญชาติไทย หรือผู้ที่มีอยู่ในประเทศไทย ถ้าหากไม่มีคำนี้ในกฎหมายดังกล่าว เขากังวลว่าจะสุ่มเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 70 และคำว่าคนไทย ก็ไม่ได้ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เสียสิทธิแต่อย่างใด
เสนอเพิ่ม ‘ถิ่นกำเนิดในประเทศไทย’

ต่อจากนั้นพิสิษฐ์ ได้เสนอให้มีการแก้ไขรายละเอียดในมาตราที่ 3 โดยให้เติมคำว่า ‘มีถิ่นฐานและกำเนิดในประเทศไทย’ ลงในข้อความที่ว่า ชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนที่อาศัยอยู่เป็นกลุ่มเดียวกัน หรือหลายกลุ่มซึ่งมีถิ่นฐานและกำเนิดในประเทศไทย และมีประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ และการสั่งสมทางวัฒนธรรม ภาษา วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และความเชื่อตามจารีตประเพณีร่วมกัน
โดยทางอุดมลักษณ์ได้ตั้งคำถามกลับถึงเหตุผล ความจำเป็นในการระบุเพิ่มเติมคำว่า ‘กำเนิดในประเทศไทย’ เพราะถ้ากลุ่มชาติพันธุ์ต้องมีถิ่นฐานและกำเนิดในประเทศไทย กลุ่มคนที่มีการสั่งสมวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ความเชื่อ จารีตประเพณีนั้น อาจไม่สามารถตั้งกลุ่มชาติพันธุ์นั้นขึ้นมาได้ เพราะว่าบางกลุ่มก็ไม่ได้กำเนิดในประเทศไทย
อังคณาเองมองว่าถ้าเพิ่มเติมคำว่า ‘กำเนิด’ เข้าไป จะเป็นการสร้างความวุ่นวาย และภาระในการพิสูจน์ ทางด้านอภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ก็ได้ทวนความเข้าใจให้ที่ประชุมรับทราบว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการไปตรวจสอบเรื่องของสัญชาติและถิ่นกำเนิด แต่กฎหมายฉบับนี้มีหน้าที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ ได้รับการยอมรับว่ามีตัวตนตามฐานะที่เป็นพลเมืองไทย

การตีความมาตรา 3 ‘จิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์’
ถัดจากนั้นพิชาญ พรศิริประทาน สมาชิกวุฒิสภากลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ได้ขอให้สมาชิกในที่ประชุมขยายความและตีความ คำว่าจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์
อภินันท์อธิบายว่า คำว่าวัฒนธรรมและจิตวิญญาณคือคำคู่กัน วัฒนธรรมคือสิ่งที่ปรากฏเช่น การแต่งกาย ภาษา และวิถีปฏิบัติต่างๆ ส่วนจิตวิญญาณคือวิธีคิดเบื้องหลัง ยกตัวอย่างเช่น ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง มีการจัดการป่า 7 ชั้นที่มีความคิดความเชื่อซ่อนอยู่ โดยมีศัพท์ทางด้านวิชาการที่ใช้คำว่า ‘จักรวาลวิทยาของกลุ่มชาติพันธุ์’ ซึ่งเป็นระบบความคิดที่พวกเขาใช้ในการดูแลรักษาพื้นที่
“เจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ไม่ได้ต้องการที่จะแยกพื้นที่ออกมาทำให้เชิงปัจเจก แต่ให้จัดการพื้นที่ร่วมกัน สร้างความสมดุลระหว่างคนกับธรรมชาติ” อภินันท์กล่าว

“คำว่าจัดการคือจัดการอะไรก็ได้มันกว้างมาก ทำให้ดีหรือเลวลงก็ได้”
พิสิษฐ์ตั้งข้อสังเกตจากมาตรา 3 ที่ระบุว่า พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ หมายความว่า พื้นที่คุ้มครองให้กลุ่มชาติพันธุ์ สามารถดำรงวิถีชีวิตบนฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมโดยมีการจัดการ อนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน ประกอบด้วยพื้นที่อยู่อาศัยพื้นที่ทำกิน หรือพื้นที่ทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์
โดยพิสิษฐ์ได้กล่าวต่อว่า จำเป็นต้องมีคำนิยามให้ชัดเจน เพราะคำว่าพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ หมายความว่าพื้นที่คุ้มครองให้กลุ่มชาติพันธุ์ สามารถดำรงชีวิตได้บนฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมโดยมีการจัดการ
เสนอเปลี่ยน ‘สภา’ เป็น ‘สมัชชา’
ในร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์พ.ศ. …. มีการระบุคำว่า “สภา” ซึ่งหมายถึง สภาคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์แห่งประเทศไทย โดยพิสิษฐ์ได้เสนอให้แก้ไขไปใช้คำว่า
‘สมัชชาคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์’ เพราะเกรงว่าการใช้คำว่า ‘สภา’ จะเป็นการให้อำนาจการตัดสินใจทางกฎหมายที่มีอำนาจหน้าที่ชัดเจน ในขณะที่สมัชชาเน้นการประชุม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับใช้กฎหมาย

นอกจากนี้วิวัฒน์ รุ้งแก้ว สมาชิกวุฒิสภากลุ่มการศึกษา ได้เสนอให้เปลี่ยนคำว่า “ธรรมนูญ” เป็น “ระเบียบ” “ข้อกำหนด” หรือ “ข้อบังคับ” ในทุกแห่งของร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะเกรงว่าคำว่าธรรมนูญนั้นจะเกิดความเข้าใจผิดในการตีความทางด้านกฎหมาย
โดยอภินันท์ ได้กล่าวในตอนท้ายว่าไม่อยากให้ที่ประชุมเป็นกังวลต่อคำนิยามต่างๆ เพราะมันเป็นเพียงข้อบังคับที่ใช้กันในชุมชนเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถทำได้เกินขอบเขตของกฎหมายที่กำหนดในพื้นที่นั้นๆ
ในตอนท้ายของการประชุมครั้งที่ 2 นี้ ได้มีมติขอขยายเวลาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. ออกไปเป็นกรณีพิเศษอีก 30 วัน โดยจะครบกำหนดในวันที่ 10 เมษายน 2568 และประเด็นที่ได้นำเสนอแก้ไขรายมาตราไปทั้งหมดนั้น จะมีการลงมติในวันสุดท้าย ท่ามกลางความกังวลของภาคประชาชนว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะยังคงหลงเหลือสาระสำคัญมากน้อยเพียงใด