การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ….วุฒิสภา ดำเนินมาถึงครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2568 โดยคาดว่าจะดำเนินจะเสร็จสิ้นก่อนสิ้นสุดสมัยประชุมรัฐสภาในวันที่ 10 เมษายน 2568 ก่อนที่จะเข้าสู่การโหวตพิจารณาให้เห็นชอบรายมาตราในที่ประชุมวุฒิสภาต่อไป
โดยการประชุมในครั้งนี้ เริ่มเวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ CB 411 อาคารรัฐสภา กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. เรียงตามลำดับมาตราต่อจากการประชุมในครั้งที่ผ่านมา
มาตรา 6 เสนอตัดคำ ‘สร้างความเกลียดชัง’ หวังลดความน้อยเนื้อต่ำใจ
พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ กมธ.(สมาชิกวุฒิสภา-ส.ว.) ได้เสนอให้ตัดคำว่า “สร้างความเกลียดชัง” ที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 6 และเสนอให้รวมเนื้อความวรรคที่ 3 ในมาตรา 6 ที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความเกลียดชัง เข้ากับวรรคที่ 1 ตามเนื้อหาดังนี้
มาตรา ๖ กลุ่มชาติพันธุ์ต้องได้รับความคุ้มครองสิทธิในเกียรติยศ ชื่อเสียง และศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ หรือการโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด หรือการกระทำใด ๆ อันมีลักษณะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเกียรติยศ ชื่อเสียง หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มชาติพันธุ์ จะกระทำมิได้
โดยทางพชร คำชำนาญ กมธ. (ภาคประชาชน) ได้คัดค้านการแก้ไขดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าไม่ควรรวมเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความเกลียดชัง เข้ากับเนื้อหาส่วนอื่นๆ เพราะกลุ่มชาติพันธุ์มักถูกสื่อมวลชนเผยแพร่ข้อมูลที่ผลิตซ้ำที่มีอคติอย่างเหมารวม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายใดที่คุ้มครองการเหมารวมแบบกลุ่ม
“คำว่า ‘เกลียดชัง’ ต้องมี เพราะผลกระทบยังมีอยู่ การถูกผลิตซ้ำในเรื่องของอคติ ยังเกิดขึ้นจริง จึงต้องคงไว้”

พชรยืนยันว่ากลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิในการปกป้องตนเองตามกฎหมาย โดยไม่มีจุดมุ่งหมายในการเอาผิด หรือไปลงโทษใคร เพราะกฎหมายฉบับนี้มีหน้าที่ส่งเสริมเท่านั้น
สำหรับความคิดเห็นของ กมธ.ที่เข้าประชุมคนอื่น แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ วิวัฒน์ รุ้งแก้ว (ส.ว.), จำลอง อนันตสุข (ส.ว.) เห็นด้วยกับทางพิสิษฐ์ โดยวิวัฒน์กล่าวว่า “คำว่า ‘สร้างความเกลียดชัง’ อยากให้ตัดออก มันเป็นการตอกย้ำเพื่อให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ”
ทางด้าน อังคณา นีละไพจิตร (ส.ว.), และสุริยันต์ ทองหนูเอียด (กมธ.-ภาคประชาชน) เห็นว่าไม่ควรตัดคำว่า ‘สร้างความเกลียดชัง’ ออก
ถกวุ่นมาตรา 9 ‘อภิสิทธิ์ชน, บุกรุกป่า, ขยายพันธุ์’ ถ้อยคำจากคณะกรรมาธิการ
ข้อความในมาตรา 9 วรรคแรกได้กล่าวว่า กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิในที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังต่อไปนี้ (ตามรายละเอียด 5 ข้อย่อยที่ปรากฏในร่าง พ.ร.บ.ฯ)
โดยทางวิวัฒน์ รุ้งแก้ว เสนอให้เพิ่มคำว่า เพียงเพื่อการยังชีพ ต่อท้ายคำว่า สิ่งแวดล้อม โดยให้เหตุผลว่า เขาได้พูดคุยกับคนที่ทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ และเห็นว่าวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ จะกำหนดพื้นที่กว้างๆ ขาดความชัดเจน ถ้าไม่เติมคำว่าเพื่อการยังชีพ พื้นที่ที่กลุ่มชาติพันธุ์จะประกาศพื้นที่คุ้มครองเพื่อการประกอบอาชีพ จะกว้างขวางเกินไปและทำให้เสียสมดุลต่อพื้นที่อนุรักษ์

ทางด้านพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ ได้อ้างอิงถึงพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยได้เสนอเป็นคำว่า กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิในที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นไปเพื่อการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระ ดังต่อไปนี้
ทางด้านสุริยันต์ ทองหนูเอียดแย้งว่า การใช้คำว่าเพื่อการยังชีพ เป็นการไปจำกัดสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ และที่ประชุมกำลังพิจารณากฎหมายคุ้มครองชาติพันธุ์ ที่ไม่ควรนำเนื้อหาสาระของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เข้ามาผสมรวมกัน
ต่อจากนั้นจำลอง อนันตรสุข ได้เล่าประสบการณ์ของเขาว่า เคยเดินทางไปทำข่าวในพื้นที่บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เขาเล่าว่าช่วงนั้น ชาวบ้านบางกลอยที่เป็นชาวปกาเกอะญอ กำลังมีปัญหาเป็นอย่างมาก มีการขยายพื้นที่ และรุกคืบพื้นที่ปลูกสวนทุเรียน สวนกล้วยหอม รวมทั้งเรียกร้องให้มีการสร้างถนน
“มันเป็นการเรียกร้องเกินไป มีการขยายพันธุ์ไม่มีการควบคุม ในลักษณะบุกรุกและทำลายธรรมชาติ เราต้องควบคุม” จำลองกล่าว

โดยทางธวัช สุระบาล ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้สรุปว่า ที่ประชุมเปิดโอกาสให้เกิดการทบทวนรายมาตราอย่างเข้มงวด เพื่อเป็นการป้องกันไม่ใช้กฎหมายฉบับนี้ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิเหนือชาวไทยกลุ่มอื่น และกฎหมายฉบับอื่นๆ
สรุปการแก้ไขอื่นๆ ในการประชุมครั้งที่ 3
โดยนอกเหนือจากการเสนอแก้ไขในมาตราที่ 6 และ 9 ที่รายงานไปข้างต้นแล้ว ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ประชุมได้เสนอให้มีการแก้ไขดังนี้
มาตรา 9 (3) อภินันท์ ธรรมเสนา เสนอให้เพิ่มถ้อยคำว่า ‘มีความปลอดภัย’ และตัดคำว่า ‘ภัยคุกคาม’ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันดังข้อความที่ปรากฏด้านล่างนี้
สิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ มีความปลอดภัย ปลอดจาก มลพิษ และวัตถุอันตรายใด ๆ ไม่ว่าจะเกิดจากการดำเนินนโยบาย แผนงาน หรือโครงการของ ภาครัฐหรือภาคเอกชน หรือโครงการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และได้รับการแก้ไขและเยียวยาอย่างเป็นธรรมในกรณีที่เกิดผลกระทบจากนโยบาย แผนงาน หรือโครงการ ดังกล่าว

มาตรา 9 (4) ชีวะภาพ ชีวะธรรม (กมธ.เสนอให้ตัดคำว่า ‘คุณภาพ’ และให้ใช้คำว่า ‘เหมาะสม’ แทน ดังข้อความที่ปรากฏด้านล่างนี้
สิทธิในการปกป้องและได้รับความคุ้มครองจากการกระทำใด ๆ ที่ทำให้ กลุ่มชาติพันธุ์ต้องถูกพรากจากที่ดิน เขตแดน ทรัพยากรธรรมชาติ และที่อยู่อาศัยของตน โดยปราศจากการรับรู้และยินยอมล่วงหน้าโดยอิสระ สิทธิในการได้รับการแก้ไขและเยียวยาอย่างเป็นธรรม โดยจะจัดให้อยู่ในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะสม และมีการรับรองสถานะของที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม และสิทธิในการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการกระทำดังกล่าว
ซึ่งทางสุริยันต์ ทองหนูเอียด, ชูพินิจ เกษมณี, วิทวัส เทพสง, และอังคณา นีละไพจิตร แสดงความเห็น
ให้คงคำว่า “มีคุณภาพ” ตามร่างฯ เดิม ต่อมาในมาตรา 12 พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ เสนอให้ตัดคำว่า ‘โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม’ ดังข้อความที่ปรากฏด้านล่างนี้
มาตรา ๑๒ กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิในการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การบริการของรัฐ และสวัสดิการสังคมที่มีคุณภาพ อย่างเสมอภาค ทั่วถึง และเป็นธรรม เพื่อการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข ในขณะที่อังคณา นีละไพจิตร ได้เสนอทางเลือกให้ตัดเพียงคำว่า ‘โดยไม่เป็นธรรม’ ออก โดยยังให้คงไว้ซึ่งคำว่า ‘การปราศจากการเลือกปฏิบัติ’ อยู่
สำหรับการประชุมครั้งนี้ กมธ.ที่มาจากภาคประชาชน (หลายคน) ที่เข้าร่วมประชุมได้พยายามอภิปรายเหตุผลเสริมเพื่อยืนยันให้การพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ต้องไม่ทำให้สาระบัญญัติด้อยกว่าที่ ส.ส.ได้มีมติเห็นชอบมาแล้ว และการประชุมสิ้นสุดลงในเวลา 12.00 น. และจะมีการนัดประชุมในครั้งต่อไป (ครั้งที่ 4) ในวันที่ 11 มีนาคม 2568 นอกจากนี้ วิทวัส เทพสง กมธ.และเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มอแกลน ก็ได้กล่าวหลังจบการประชุมในครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมามีความเจ็บปวดที่ได้ยินบางคำพูดที่กล่าวถึงชาติพันธุ์ด้วยอคติ โดยเขาหวังว่าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ ในชั้น ส.ว.จะไม่ถูกลดทอนความสำคัญไปมากกว่านี้