คนอยู่กับป่า (ไม่) เผาป่า ฤดูทำแนวกันไฟของชาวลาหู่-อ่าข่า-และปกาเกอะญอ 

“คนที่ชอบเผา อย่าอ้างประเพณี อย่าอ้างวัฒนธรรม อย่าอ้างวิถีชีวิต นี่มันยุควิทยาศาสตร์ เค้ามีรายงานแสดงผลมลพิษแย่ๆ มาตลอด”

“ประเทศไทยใจดีกับทุกชาติ ทุกเผ่าพันธุ์ พูดไทยก็ยังไม่ชัดแล้วไหนจะมาบุกรุกป่า ค้ายาไม่เคารพกฎหมาย”

“คนในพื้นที่นั่นแหละ..ที่เผา”

อคติที่ปรากฏอยู่ในโลกออนไลน์เกี่ยวกับคนอยู่กับป่าต้องเผาป่า ยังคงหลงเหลืออยู่ในสังคมไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขาอยู่ใกล้ชิดกับป่ามากที่สุด รวมทั้งมีวิถีชีวิตที่เกี่ยวโยงกับทรัพยากรธรรมชาติ

แต่ไม่ได้หมายความว่า กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่อาศัยในป่าจะต้องเป็นคนทำลายป่าเสมอไป เพราะป่าคือบ้านของพวกเขา และในทุกๆ ปี เมื่อฤดูไฟป่าหมุนวนกลับมาอีกครั้งเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ กลายเป็นประเพณีประจำปีไปแล้ว ที่แต่ละชุมชนจะรวมตัวกันออกมาทำแนวกันไฟ และจัดทีมเฝ้าระวังไฟป่า 

พวกเขามีวิธีการจัดการไฟป่าอย่างไร และพวกเขาเป็นคนเผาป่าจริงหรือไม่ 

ลาหู่ – เผาป่าเท่ากับเผาที่ดินทำกินของตนเอง

“ถ้าไม่มีป่าไม้ น้ำก็ไม่มีใช้ และเราจะอยู่กินกันอย่างไร”

เสาร์ จะฟู เป็นผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านแม่ผักแหละ ชุมชนชาวลาหู่ ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ ต.ท่าก๊อ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เขากล่าวด้วยความภูมิใจว่า ปีนี้ชุมชนได้ช่วยกันทำแนวกันไฟเสร็จสิ้นไปตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์

“ไฟป่าจะแรงช่วงเดือนเมษายนของทุกปี” 

ผู้ใหญ่เสาร์เล่า พร้อมบอกว่าจุดเกิดเหตุไฟป่าส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นระหว่างรอยต่อหมู่บ้าน จึงทำให้หาตัวการคนที่เผาป่าได้ยาก อย่างไรก็ดีภายในหมู่บ้านแม่ผักแหละ ที่มีประชากรราว 600 คน จะมีอาสาสมัครลาดตระเวนที่สลับสับเปลี่ยนกันวันละ 3 คน คอยสอดส่องดูแลพื้นที่ป่าที่ผู้ใหญ่เสาร์กล่าวว่า ชาวบ้านช่วยกันดูแลกว่า 13,000 ไร่ ให้ปลอดภัยจากไฟป่ามากที่สุดเท่าที่พวกเขาจะทำได้

“เหตุผลที่ต้องออกไปลาดตระเวนทุกวัน เพราะถ้าเราเจอไฟป่าไวก็ดับได้ง่าย แต่ถ้าหากปล่อยไว้นาน จะทำให้การดับไฟเป็นไปได้ยาก”

เสาร์ จะฟู ผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านแม่ผักแหละ

โดยเหตุผลที่ชาวลาหู่ในหมู่บ้านแม่ผักแหละ ให้ความสำคัญกับการจัดการไฟก็เพราะว่า ที่ดินทำกิน ไร่ สวน ของพวกเขามีพื้นที่อยู่ติดกับป่า หากเกิดไฟไหม้นั่นหมายความว่า พวกเขาคือกลุ่มคนกลุ่มแรกที่จะได้รับความเสียหายจากไฟป่ามากที่สุด

นอกจากนี้ผู้ใหญ่เสาร์ ยังได้ขอความร่วมมือ รวมทั้งเป็นประกาศจังหวัดเชียงราย ห้ามการเผาในที่โล่งทุกชนิดโดยเด็ดขาด ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2568 โดยให้ประชาชนในพื้นที่จัดการไฟในพื้นที่ของตนเอง ช่วงฤดูหลังเก็บเกี่ยวหรือฤดูไฟป่า เพื่อที่จะทำให้สามารถจัดการไฟในพื้นที่ได้ง่ายขึ้น 

“เขามักมองกันว่าชาวเขา คนชนเผ่าเป็นคนเผาป่า ทั้งที่จริงพวกเราพยายามดูแลรักษาป่า”

ผู้ใหญ่เสาร์กล่าวต่อว่า ในการลาดตระเวนนั้น หากมีการพบเห็นจุดเกิดไฟ พวกเขาจะรีบมาดับกันในตอนเช้า โดยที่ทุกคนไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ จากงานดับไฟป่า 

“ทุกครั้งที่เกิดไฟป่าเราต้องระดมแรงชาวบ้านไปช่วยกัน มันไม่มีค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าน้ำมันให้พวกเขาเลย”

ผู้ใหญ่เสาร์มีความหวังว่า ภาครัฐจะให้การสนับสนุนงานดูแลไฟป่าโดยชุมชนมากกว่านี้ รวมทั้งเขาอยากให้สังคมได้เข้าใจว่ากลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ดูแลรักษาป่าเหมือนบ้านของตนเอง

อ่าข่า – เราดูแลป่าของเรามานานแล้ว

“คนในพื้นที่ปลูกไม้ผลกัน ถ้าไฟป่าลามมาในพื้นที่ทำกิน พืชผลของเราก็เสียหายทั้งหมด”

ชาญชัย โฟเบะ ผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านพนาเสรี ชุมชนชาวอ่าข่า ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ ต.ท่าก๊อ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ในพื้นที่เขตรอยต่อระหว่างจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย กล่าวว่าในปีนี้หมู่บ้านของพวกเขาเริ่มทำแนวกันไฟป่ากันตั้งแต่เดือนมกราคม และจะเฝ้าระวังไฟป่าที่จะลุกลามมาตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเมษายน 

ชาญชัย โฟเบะ ผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านพนาเสรี

โดยชุมชนจะมีการจัดชุดลาดตระเวนไฟป่าแล้ว ผู้ใหญ่ชาญชัยยังขอความร่วมมือชาวบ้าน ที่เข้าไปทำการเกษตรในพื้นที่ไร่ของตนเอง ให้ช่วยเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังไฟด้วยอีกทาง

“เราจะมีวิทยุสื่อสารที่ใช้กันภายในชุมชน ถ้าเกิดไฟป่าต้องรีบแจ้งกลับมา”

ผู้ใหญ่ชาญชัยยอมรับว่า สาเหตุส่วนใหญ่ของไฟป่ามาจากคนที่เข้าไปหาของป่า ทั้งด้วยความเป็นเขตรอยต่อระหว่างจังหวัด/ ทำให้การเฝ้าระวังและตรวจตราคนเข้าออกพื้นที่เป็นไปได้ยาก 

“เขตป่าฝั่งบ้านเรา มีการเฝ้าระวังทางเข้าออกป่ากันอยู่ตลอด” ผู้ใหญ่ชาญชัยเล่า “แต่ช่วงรอยต่อในพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่ไฟลามเข้ามา มันยากสำหรับชาวบ้านที่จะดูแลอย่างทั่วถึง”

โดยเมื่อเกิดเหตุไฟป่าในพื้นที่ ชาวบ้านในพื้นที่บ้านพนาเสรีจะใช้ถังดับเพลิง แรงงานคน รถบรรทุกถังน้ำ และใช้เครื่องฉีดละอองน้ำในการดับไฟ

“สิ่งที่เราอยากได้ตอนนี้คือ เครื่องเป่าลม เวลาที่ไฟมาจะได้ป้องกันได้รวดเร็วขึ้น”

ผู้ใหญ่ชาญชัยกล่าวถึงสิ่งที่ในพื้นที่ยังขาดอยู่  พร้อมแสดงความมั่นใจว่าแนวกันไฟระยะทาง 15 กิโลเมตร ที่คนในพื้นที่ช่วยกันจัดทำขึ้นมาในปีนี้ จะสามารถป้องกันไฟที่จะมาทำความเสียหายแก่ไม้ผลหรือไม้ยืนต้นของพวกเขา อันเป็นอาชีพหลักของชาวอาข่าที่นี่

“เราทำตามนโยบายรัฐบาลที่ให้ชาวบ้านช่วยกันระวังไฟป่าร่วมกันมา 6-7 ปี และเป็นเวลา 16 ปีแล้วที่เราทำในแนวเขตของป่าชุมชน เราดูแลป่าของเรามานานแล้ว”

ผู้ใหญ่ชาญชัย ย้ำเตือนในตอนท้ายกับทางเครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (IMN) ว่า ต้องไม่ลืมว่าถ้าหากเกิดไฟป่าขึ้นมาและดับไม่ได้ คนที่ได้รับผลกระทบด่านแรกคือ ตัวชุมชน และถ้าพื้นที่เกษตรกรรมของพวกเขาเสียหาย นั่นเท่ากับรายได้ของพวกเขาทั้งหมดจะหายไป

“ชุมชนดูแลป่าไม้ ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อคนทุกคน” ผู้ใหญ่บ้านชาญชัยกล่าวทิ้งท้าย “เราอยู่ในพื้นที่ป่า เราต้องเป็นคนดูแลป่า พวกเรารู้ว่าสิ่งแวดล้อมสำคัญต่อชีวิตพวกเราขนาดไหน มาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย”

ปกาเกอะญอ – ดับไฟด้วยไฟ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ไฟเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเขา ดังที่โยบะ คะลา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านปกาเกอะญอ หมู่ที่ 18  ต.ท่าก๊อ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ได้กล่าวไว้ว่า

“ถ้าไม่เผาจะยิ่งทำให้พื้นที่รก และเราไม่สามารถทำการเกษตรในฤดูกาลถัดไปได้  การเผาในไร่หมุนเวียนมันดีต่อผืนดิน”

โยบะ คะลา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านปกาเกอะญอ

ซึ่งในเรื่องนี้องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ออกรายงานที่มีชื่อว่า ‘การดับไฟด้วยไฟ’  โดยอ้างอิงถึง องค์ความรู้ของชนเผ่าพื้นเมืองที่มีภูมิปัญญาในการควบคุมไฟป่ามานับพันปี

ในรายงานชิ้นดังกล่าวระบุว่า ในพื้นที่เขตร้อนชื้นนั้น สามารถเกิดไฟป่าที่รุนแรงมากขึ้น หากมีวัตถุไวไฟซึ่งไม่ได้ถูกเผาสะสมไว้เป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้การเผาไร่หมุนเวียน ที่ได้รับการควบคุมของชาวปกาเกอะญอ ยังเป็นการเพิ่มคุณภาพของดินและการเติบโตของพืช ซึ่งส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ

“เราจะเผาไร่หมุนเวียนก่อนการมาถึงของฤดูไฟป่า” โยบะเล่าวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านว่า “ถ้าคนไหนทำไม่ทัน ก็ต้องรอจนกว่าจะหมดฤดูไฟป่าช่วงปลายเดือนพฤษภาคม”

อย่างในการศึกษาของ University of California ในชื่อเรื่อง ‘แนวทางปฏิบัติ ‘ไฟที่ดี’ ของชนเผ่าพื้นเมือง

สามารถช่วยให้ป่าเจริญเติบโตได้อย่างไร’ ก็ได้ระบุว่า เหตุการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นในแคลิฟอร์เนียทุกปี เป็นภาพสะท้อนของการขาดการเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของชนเผ่าพื้นเมือง 

เพราะการเผาไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอนั้น เป็นการเผาเพื่อฟื้นฟูผืนดินและทรัพยากร ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการเผาป่าที่ประเทศไทยทางตอนเหนือ กำลังประสบกับปัญหานี้อยู่ในทุกปี

“เราแบ่งทีมทำเวรยามผลัดกันลาดตระเวน” โยบะเล่าแผนเฝ้าระวังไฟป่าของปีนี้ หลังจากที่พวกเขาทำแนวกันไฟเสร็จไปตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ “พื้นที่ของเราเป็นป่าต้นน้ำ เราจึงจำเป็นต้องไปลาดตระเวน ป่าต้นน้ำให้ความชุ่มชื้นกับพวกเรา”

โยบะย้ำว่าตอนนี้มีประกาศสั่งห้ามไม่ใช้ชาวบ้านทำการเผา รวมทั้งมีคำสั่งห้ามเข้าพื้นที่เก็บของป่า ใกล้บริเวณที่มักเกิดไฟป่า

“เวลาเจอคำพูดที่กล่าวหาว่าเราเป็นคนเผาป่าก็รู้สึกน้อยใจ” โยบะกล่าวก่อนสิ้นสุดการสนทนา “อาชีพหลักเราทำการเกษตร วิถีชีวิตของเราทำเพื่ออยู่เพื่อกินสำหรับตนเองเท่านั้น”

จะเห็นว่าทั้งชนเผ่าลาหู่-อ่าข่า-และปกาเกอะญอ วิถีชีวิตของพวกเขาผูกพันอยู่กับป่าและพึ่งพิงป่าในการดำรงชีวิต ฟังดูเป็นเรื่องย้อนแย้งหากพวกเขาเลือกที่จะเผาป่าที่เป็นแหล่งพึ่งพิงเดียวของพวกเขา ในขณะที่องค์ความรู้ของประเทศพัฒนาแล้ว พยายามออกมาสื่อสารว่าวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองคือ ปัจจัยสำคัญในการดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นผู้อนุรักษ์ธรรมชาติ 

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ของออสเตรเลีย ได้ระบุว่าการศึกษาวิจัยใหม่ยืนยันว่า การจัดการไฟป่าโดยคนพื้นเมืองประสบความสำเร็จในการดับไฟป่าในคิมเบอร์ลีย์ ทางฝั่งตะวันตกของประเทศออสเตรเลีย

การจัดการไฟป่าโดยการเคารพความรู้แบบดั้งเดิม และให้การเสริมสร้างศักยภาพให้ชุมชนท้องถิ่น  ไม่เพียงแต่จะช่วยลดผลกระทบจากไฟป่าเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพในการบรรเทาภาวะโลกร้อนอีกด้วย

เขียนและเรียบเรียง: ณฐาภพ  สังเกตุ

ภาพ: ชาญชัย โฟเบะ / เสาร์ จะฟู / โยบะ คะลา