“บ๊าบสามพัน” บรรพชนมอแกลน 

สุประดิษฐ์  สงณรินทร์ – วิทวัส เทพสง: เรื่อง / ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เขียนและเรียบเรียง

บ๊าบสามพัน หรือ พ่อตาสามพัน เป็นผู้นำชนเผ่า “หม่อแกล๊น” หรือ “มอแกลน” สมัยที่ยังตั้งถิ่นฐานอยู่ชายฝั่งอ่าวไทย แถบจังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี คำว่า “บ๊าบ” เป็นคำที่ชาวมอแกลนใช้เรียกบรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว

ในอดีตชาวมอแกลนเคยปลูกข้าว ทำไร่ ทำนา หากินอย่างอิสระในท้องทะเล แต่เมื่อถึงยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองการปกครองราวปี พ.ศ.1730 พ่อตาสามพันจำเป็นต้องให้น้องสาวของตนชื่อ อีบูม แต่งงานกับเจ้าเมืองผู้ปกครองแผ่นดินในสมัยนั้นชื่อ องค์ดำ ต่อมาไม่นานอีบูมก็ได้รับตำแหน่งมีศักดิ์เป็น “แม่ยายเจ้า” แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจขององค์ดำนัก เนื่องจากชาวมอแกลนยังเชื่อในระบบการปกครองแบบเครือญาติของพ่อตาสามพันมากกว่ารูปแบบการปกครองแบบเจ้าเมือง

และเนื่องด้วยพ่อตาสามพันมีคาถาอาคม คงกระพัน สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บและปกป้องคุ้มครองชาวบ้านได้ องค์ดำจึงคิดวางแผนกำจัดพ่อตาสามพัน รวมทั้งชาวมอแกลนที่ไม่อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของตน จึงคิดอุบายหลอกแม่ยายเจ้าว่าตนป่วยหนัก หมอหลวงให้ตำรับยารักษาอาการป่วยที่จำเป็นต้องปรุงด้วยน้ำนมราชสีห์ สั่งให้แม่ยายเจ้าไปบอกพ่อตาสามพันว่าให้ช่วยตามหาน้ำนมราชสีห์มารักษา

ภาพวาดจำลอง “บ๊าบสามพัน” หรือ พ่อตาสามพัน

พ่อตาสามพันตอบรับการร้องขอความช่วยเหลือจากองค์ดำ โดยออกไปหาน้ำนมราชสีห์ในป่า กลับมาปรุงตำรับยารักษาการป่วยขององค์ดำจนหายป่วยด้วยตนเอง 

อุบายที่องค์ดำคิดคือพ่อตาสามพันจะถูกราชสีห์ฆ่าตายในป่าเขา แต่ผลกลับตรงกันข้าม การกลับมาจากป่า พร้อมน้ำนมราชสีห์ของพ่อตาสามพัน สร้างความเชื่อถือไปถึงบริวารที่รับใช้องค์ดำ ทำให้รู้ว่าพ่อตาสามพันเป็นผู้นำที่มีความเก่งกาจ ชำนาญทั้งป่าเขาและท้องทะเล เห็นแบบนั้นองค์ดำจำต้องรีบหาทางกำจัดโดยไว เพื่อไม่ให้หลงเหลือผู้ที่เก่งกาจและมีอำนาจอยู่ในเมืองที่ตนปกครอง องค์ดำออกอุบายกำจัดพ่อตาสามพันอีกครั้ง โดยบอกว่าตนเองยังไม่หายป่วยจากรอบที่แล้ว ขอให้พ่อตาสามพันช่วยเหลืออีก โดยครั้งนี้บอกว่ายาที่จะรักษาให้หายคือ “ต้นอำพันทะเล” ซึ่งอยู่ในป่าหิมพานต์

ครั้งนี้พ่อตาสามพันรู้ว่าองค์ดำคิดกำจัดตน เพราะดินแดนป่าหิมพานต์นั้นตั้งอยู่สุดขอบฟ้าและมีภัยอันตรายมาก จึงขอองค์ดำให้ตนพาเพื่อนไปด้วยสองคน คือ ครูหอ และตาหมอ ก่อนออกเดินทางพ่อตาสามพันสั่งให้น้องชายและเฒ่าทวดธานี ผู้ซึ่งเป็นหลานช่วยดูแลชาวมอแกลนที่เหลือในระหว่างที่ตนไม่อยู่ พร้อมกับบอกเล่าเหตุผลอันแท้จริงที่ต้องออกเดินทางไกลไปถึงป่าหิมพานต์  ว่าเป็นการลวงตนให้ถูกสังหาร

ระหว่างออกหาวัตถุดิบมาปรุงยา ทหารขององค์ดำหาทางลอบสังหารพ่อตาสามพัน ณ ป่าหิมพานต์ พ่อตาสามพันจมเรือกำจัดทหารขององค์ดำจนหมดสิ้น ต่อมาพ่อตาสามพัน ครูหอ ตาหมอ และทหารชาวมอแกลนอีกจำนวนหนึ่งเดินทางมาถึงชายหาดแห่งหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าเป็นหาดบางสัก ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ในปัจจุบัน 

ในหมู่บ้านชาวมอแกลนเมืองนครศรีธรรมราช ชาวมอแกลนคิดไปเองต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับข่าวลือเรื่องการเสียชีวิตของพ่อตาสามพัน ไม่นานก็ได้ยินไปถึงองค์ดำ ถึงชาวมอแกลนจะเสียใจแต่ก็ทำอะไรไม่ได้

องค์ดำคิดว่าตนสามารถกำจัดพ่อตาสามพันได้แล้ว จึงยึดอำนาจและกำจัดน้องชายของพ่อตาสามพัน ผู้ซึ่งเป็นพ่อของเฒ่าทวดธานี ความเป็นอยู่ของชาวมอแกลนลำบากมากขึ้น ทั้งถูกเกณฑ์เป็นแรงงานสร้างเจดีย์ใหญ่ ถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาส สูญเสียชีวิตไปมากมาย ถึงที่สุดชาวมอแกลนทนกับความโหดร้ายขององค์ดำไม่ไหว จึงนัดหมายหลบหนีไปอาศัยอยู่ที่เดียวกับจุดที่พ่อตาสามพันเสียชีวิต คือบริเวณฝั่งอันดามันอันสงบสุข ไม่ค่อยมีผู้คนอยู่อาศัย นัดหมายกันในคืนเดือนมืดให้แยกกันหลบหนีออกเป็นสองสาย คือสายทางน้ำ สันนิษฐานว่าเป็นชนเผ่า “มอแกน” ในปัจจุบัน และสายทางบกคือชนเผ่า “มอแกลน” นำโดยเฒ่าทวดธานี ออกเดินทางตามเส้นทางขนส่งสินค้าตัดข้ามภูเขามายังฝั่งอันดามัน 

เฒ่าทวดธานีไม่ได้พาชาวมอแกลนไปสมทบกับพ่อตาสามพันโดยตรง แต่จะให้อยู่กระจายและไม่ไกลกันมาก ขณะที่ชาวมอแกลนกลุ่มอีบูมหรือแม่ยายเจ้าจำต้องภักดีต่อองค์ดำ ภายหลังยังคงอาศัยกระจายกันไปตามฝั่งอ่าวไทยที่เมืองนคร 

บรรพชนชาวมอแกลนบางคนบอกว่า พ่อตาสามพันตั้งถิ่นฐานอาศัยและเสียชีวิตบริเวณหาดบางสักในเวลาต่อมา แต่บางคนก็เล่าว่า ท่านได้ย้ายไปอยู่ที่บนเกาะซึ่งเป็นเมืองท่าในยุคสมัยนั้นชื่อว่าบ้านทุ่งตึก หรือตำบลเกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ในปัจจุบัน และได้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ “คลื่นยักษ์เจ็ดชั้น” เรื่องเล่าในตำนาน

ช่วงปี พ.ศ. 2547 หรือประมาณ 21 ปีก่อน เกิดเหตุการณ์สึนามิพัดเข้าชายหาดภาคใต้ฝั่งอันดามันชาวมอแกลนสูญเสียไม่มากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เคยฟังเรื่องเล่าในตำนานของพ่อตาสามพันที่เสียชีวิตจากคลื่นยักษ์เจ็ดชั้นสมัยอดีต เมื่อผู้เฒ่ามอแกลนเห็นสัญญาณจากธรรมชาติ น้ำทะเลลดกะทันหัน นกจำนวนมากบินเข้ารัง จึงบอกให้ญาติพี่น้องของตนเองหนีและขึ้นไปหลบอยู่บนต้นไม้จนกว่าคลื่นยักษ์จะพัดผ่านไป แต่ก็มีชาวบ้านชาวมอแกลนรุ่นใหม่ที่ไม่เชื่อหรือไม่เคยฟังเรื่องเล่าลงไปจับปลาจนเกิดการสูญเสีย

ปัจจุบัน ชาวมอแกลนยังสืบสานประเพณี “อว่านเด” หรือพิธีกรรมเซ่นไหว้พ่อตาสามพันผู้นำสูงสุดที่เคยปกครองชาวเลมอแกลน งานจัดที่ศาลพ่อตาสามพัน ​(นากก)​ หาดบางสัก ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา กำหนดข้างขึ้นเดือนสี่ของไทยทุกปี จะกี่ค่ำก็ได้แต่ต้องไม่ตรงกับวันพุธและวันศุกร์ กลุ่มพ่อหมอหรือผู้นำทางจิตวิญญาณเป็นผู้กำหนด มีตาทิพย์คอยบนบานและบอกกล่าวแก้บนให้ลูกหลานและผู้ที่มาสักการะหรือเคยมาบนบานไว้ เป็นพิธีใหญ่ของชาวมอแกลนทั้งชนเผ่า และถือเป็นพิธีเปิดของทุกพิธีในช่วงปี 

การจัดเตรียมพิธีเริ่มตั้งแต่ 6 โมงเช้า โดยมีตัวแทนผู้เฒ่าผู้แก่แต่ละตระกูลเดินเก็บข้าวสาร น้ำตาล แป้ง ตามบ้านพี่น้องชาวมอแกลนในชุมชน มาประกอบปรุงเป็นขนมเซ่นไหว้ คนหนุ่ม ๆ ช่วยคนแก่ระดับหมอหรือผู้ช่วยหมอที่คอยชี้แนะกรรมวิธีการปรุง ย่างไก่ ย่างเต่า หลามข้าว บางคนเตรียมธง บางกลุ่มสานสาดเสื่อภาชนะในพิธี บางกลุ่มก็จัดหมากพลูแต่ละหิ้ง 

พิธีกรรมเริ่มตอน 4 โมงเย็น จุดธูปเทียนแต่ละหิ้งต้นตระกูลเสร็จ แล้วออกเดินไปที่ศาล ก่อนพระอาทิตย์ตกธงของแต่ละตระกูลจะทยอยมา เริ่มอัญเชิญอาหารเซ่นไหว้จากในป่า หลังจากนั้นพิธีกรรมก็จะดำเนินการไปตามความเชื่อ มีการเชิญบรรพบุรุษมารับรู้ด้วยร่างทรง ถือว่าเริ่มการบอกกล่าวสื่อสารระหว่าง 2 มิติ มีการเสี่ยงทายพิธีตอน 4 ทุ่ม เพื่อสื่อสารกับบรรพชนว่า ชาวมอแกลนทำผิดอะไรบ้าง รวมทั้งเปิดให้ถามร่างทรงบรรพชนถึงโรคภัยไข้เจ็บ โชคชะตา ดวงหมู่บ้านชาวเลมอแกลน เวลา 5 ทุ่ม เป็นพิธีแก้บนด้วยของเซ่นบนบานที่เตรียมไว้ หลังจากหมอแก้บนเสร็จหมดทุกคนแล้ว ก็เตรียมลากันด้วยเสียงลูกประทัดที่ใช้บนเอาไว้

ถึงเที่ยงคืนทำพิธี “แหน่แอ๊กป่อก๊อนอ่าบ่าบ”  ปีนเสาบรรพบุรุษต้นตระกูล จากนั้นอัญเชิญวิญญาณบรรพบุรุษไปรวมตัวที่หิ้งใหญ่ (บ้านบนไร่) พร้อมกับหมอ ร่างทรง และคนแก้บนไปร่วมทำพิธีส่งบรรพบุรุษกลับหิ้งของตนตามบ้านของต้นตระกูลต่าง ๆ เวลาอาจล่วงเลยถึงรุ่งเช้า เมื่อทุกคนกลับถึงบ้านก็เป็นอันจบพิธีที่สมบูรณ์

พ่อตาสามพันและบรรพชน เป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจตามความเชื่อของบรรพบุรุษตลอด 300 กว่าปีที่ผ่านมา ลูกหลานชาวมอแกลนยังคงเคารพ เชื่อฟัง ศรัทธา คำสั่งสอน ข้อห้าม หลีกเลี่ยงความผิดทั้งในที่ลับและที่แจ้งอย่างเคร่งครัด