
เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์พ.ศ. …. ในชั้นวุฒิสภา ได้มีการพิจารณาเรียงลำดับมาตราจนเสร็จสิ้น โดยในสัปดาห์หน้าวันที่ 25-26 มีนาคม 2568 จะมีการลงมติพิจารณาทบทวนร่างพระราชบัญญัติ ตรวจและจัดพิมพ์รายงาน เพื่อเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาในวาระที่ 2 (พิจารณารายมาตรา) และวาระที่ 3 ในวันที่ 1 เมษายน 2568
โดยหากที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบ กับการแก้ไขของกรรมาธิการชั้น สว. ร่างพรบ.ฯ จะถูกส่งกลับไปที่สภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ลงมติว่าเห็นชอบต่อการแก้ไขของวุฒิสภา และหากเห็นชอบจะมีการขึ้นทูลเกล้าฯ และลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งฝ่ายประชาชนผู้เสนอกฎหมายตั้งความหวังอยากให้ร่างพรบ.ฯ ฉบับนี้ผ่านภายในปีนี้
โดยในการประชุมครั้งที่ 5 นี้ ทางคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมพิจารณาข้อมูล ข้อเท็จจริงและความเห็นที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงบประมาณ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
หน่วยงานรัฐเตรียมความพร้อม ดำเนินการตามพรบ.คุ้มครองชาติพันธุ์ฯ
โดยตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรม ได้ตอบคำถามของธวัช สุระบาล ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ถามว่า กระทรวงวัฒนธรรมมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน สำหรับพรบ.คุ้มครองชาติพันธุ์ฯ ที่กฎหมายกำลังจะออกมา

ทางตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรมระบุว่า นับตั้งแต่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 3 ส.ค. 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล 2 มิถุนายน 2553 คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินงานที่เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน

โดยทางสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม มีความพร้อมที่จะดำเนินการตามพรบ.ฉบับนี้ ในประเด็นที่ทางสำนักงานปลัดฯ เป็นเลขานุการในเรื่องของงานธุรการของคณะกรรมการ ซึ่งมีผลกระทบต่องบประมาณของกระทรวงวัฒนธรรมในการจัดประชุมต่างๆ
ต่อมาเอมอร ศรีกงพาน รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้ถามไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า
“การให้สิทธิทางที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ตามมาตรา 9 ของพรบ.คุ้มครองชาติพันธุ์ฯ จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือละเมิดต่อกฎหมาย การปฏิบัติหน้าที่ของพวกท่านหรือไม่อย่างไร”

ตัวแทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตอบกลับว่าการกำหนดให้กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิในที่ดิน ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม เพื่อการดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติธุระตามมาตรา 9 ไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

นอกจากนี้พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 64 พรบ.อุทยานแห่งชาติ 2562 และมาตรา 121 พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 ที่ระบุว่า ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่ง ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อพ้นระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง และรัฐบาลมีแผนงานหรือนโยบายในการช่วยเหลือประชาชน ที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าที่มีการประกาศ กำหนดมาก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าโดยมิได้สิทธิในที่ดินนั้น เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
ทางฝั่งตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ได้ตอบคำถามเอมอร รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่ถามว่าร่างพรบ.ฉบับนี้ มีความสอดคล้องหรือเท่าเทียมกับต่างประเทศหรือไม่อย่างไร

โดยในประเด็นนี้ ตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้อ้างอิงถึง ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนพื้นเมือง (UNDRIP) เป็นปฏิญญาที่รับรองโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี 2550 เพื่อปกป้องสิทธิของชนพื้นเมืองทั่วโลก ประเทศไทยลงมติรับรอง (Vote in Favor) UNDRIP เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2550 ร่วมกับ 143 ประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตามไทยไม่ได้ให้การรับรองว่าเป็นกฎหมายภายในประเทศ
“เรากำลังผลักดันกฎหมายส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ได้มาถึงวันนี้ ถือว่าเป็นความก้าวหน้าของประเทศไทยอย่างยิ่งที่ทำให้มาถึงวันนี้ได้” ตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าว
และส่วนที่เกี่ยวข้องกับสำนักงบประมาณ ทางตัวแทนก็ได้ให้ข้อมูลกับที่ประชุมว่า ร่างพรบ.ฯ ฉบับนี้ มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ต้องมีการจัดทำคำของบประมาณ และมีส่วนของสภาคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เป็นฝ่ายเลขา ในการจัดทำคำของบประมาณเพื่อรองรับกิจกรรมต่างๆ
พิจารณารายมาตราเสร็จสิ้น เตรียมลงมติพิจารณาทบทวนสัปดาห์หน้า
โดยหลังจากที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้ให้ข้อมูลเป็นที่เรียบร้อย ในที่ประชุมได้มีการพิจารณาร่าง พรบ.คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ฯ ตามลำดับมาตราในหมวดที่ 5 เรื่องพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว ซึ่งมีข้อเสนอแนะจากที่ประชุมสามารถสรุปได้ดังนี้
วิวัฒน์ รุ้งแก้ว ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้เสนอให้เพิ่มข้อสังเกต ของคณะกรรมาธิการการศาสนา ที่ระบุว่า
การอนุรักษ์ สงวน และธำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้ชนรุ่นต่อไปของกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ๆ รัฐต้องคำนึงและให้ความสำคัญกับ “ความเป็นเอกภาพ” ของวัฒนธรรมร่วมบางประการที่สะท้อนถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ เช่น ค่านิยมความจงรักภักดี ต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ การส่งเสริมการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง การเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เป็นต้น

โดยวิวัฒน์ เสนอขอให้เพิ่มเติมข้อความเหล่านี้ลงในมาตราใดมาตราหนึ่งของร่าง พรบ.คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ฯ
ในส่วนของความกังวลในการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ทางสุริยันต์ ทองหนูเอียด ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญได้ยกตัวอย่าง การประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บ้านแม่ปอคี (ขุนแม่เหว่ย) อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ตามมติครม. 3 ส.ค. 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 67 โดยได้มีการบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ “ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์” ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงวัฒนธรรม, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มูลนิธิชุมชนไท, มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ, เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง, และเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล

สุริยันต์ได้ให้ความมั่นใจแก่ในที่ประชุมว่า ก่อนการประกาศพื้นที่คุ้มครองนั้นจะมีการทำข้อตกลงกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเป็นไปอย่างโปร่งใส
โดยในตอนท้ายของการประชุมครั้งนี้ วิทวัส เทพสง กรรมาธิการวิสามัญ และตัวแทนชาติพันธุ์มอแกนได้กล่าวว่า ทุกวันนี้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ล้วนได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมไทยจากส่วนกลาง มากกว่าวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ตนเอง รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ยังคงยืนยันว่าพวกเขาคือคนไทย ที่อยู่อาศัยมาในแผ่นดินนี้นับตั้งแต่บรรพบุรุษ
“กลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้อยากจะรู้สึกแปลกแยกจากความเป็นไทยอย่างที่เข้าใจผิดกัน ความเป็นไทยอยู่ในตัวของพวกเราเต็มเปี่ยม และมีอยู่มาตลอดนับตั้งแต่บรรพบุรุษ”

โดยในช่วงเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ จะต้องจับตาดูและติดตามว่าร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์พ.ศ. …. จะสามารถผ่านด่านชั้นสว. และให้สส.รับรองการแก้ไข ก่อนที่จะขึ้นทูลเกล้าฯ และลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไปภายในปีนี้ได้หรือไม่