จบไปกันแล้วสำหรับงานสืบสานวัฒนธรรมชนเผ่าลเวือะ (ลัวะ) ครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 22 มีนาคม 2568 ณ บ้านละอูบ หมู่ที่ 6 ต.ห้วยห้อม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีวัตถุประสงค์ให้คนลเวือะได้กลับมารวมตัว และเปิดพื้นที่ให้แต่ละคนได้มาแบ่งปันความรู้ความสามารถที่ตนเองมี
ภายในงานทั้ง 2 วันประกอบไปด้วยกิจกรรมและการแสดงมากมายอาทิเช่น ชุดการแสดงมวน แปน ปุย ลเวือะ, การแสดงดนตรีสดของศิลปินลเวือะดอน โมซัมเบียง, การแสดงรำบาสโลป, พิธีกรรมโนก ร ฉุก เป็นต้น
คําปัน ประทีปพจน์ หนึ่งในผู้มีส่วนร่วมในการจัดงานในครั้งนี้ได้เปิดโอกาสพูดคุยกับทาง IMN ถึงเบื้องหลังการจัดงานดังกล่าว รวมทั้งสถานการณ์ความเป็นไปของชาวลเวือะ ในวันที่ประเทศไทยกำลังมีกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
คนลเวือะเคยอายที่จะใส่ชุดของตัวเอง
คำปันกล่าวถึงงานสืบสานวัฒนธรรมชนเผ่าลเวือะ (ลัวะ) ครั้งที่ 4 ที่เพิ่งจัดไปว่า ถ้าหากพวกเขาไม่จัดกิจกรรมเช่นนี้ขึ้นมา องค์ความรู้ที่ชาวลเวือะมีจากชุมชนต่างๆ ก็จะขาดพื้นที่ในการจัดแสดง งานที่จัดขึ้นมาจึงเปิดพื้นที่เหล่านี้ขึ้นมาให้กับคนในทุกช่วงวัย มีโอกาสในการแสดงออกถึงความสามารถ และเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ร่วมกัน
“ถ้าไม่จัดงานก็ไม่รู้ว่าแต่ละคนกระจัดกระจายกันไปไหน และถนัดอะไรกันบ้าง พอมีเวทีตรงนี้ทุกคนได้มาช่วยกัน”
คำปันเล่าต่อว่าก่อนมีการจัดงานสืบสานวัฒนธรรมที่จัดขึ้นมาเป็นปีที่ 4 นั้น แต่ละชุมชนเวลามีเทศกาลก็มักจะแยกกันจัดทำให้ชาวลเวือะที่อยู่ต่างชุมชน ไม่มีโอกาสได้มาพบปะกัน ทำให้จารีตประเพณีและวิถีชีวิตของชาวลเวือะค่อยๆ ล้มหายไป แม้กระทั่งภาษาท้องถิ่นและชุดประจำชนเผ่า
“คนลเวือะเคยอายที่จะใส่ชุดของตัวเอง แต่ตอนนี้กลับอยากจะมีกันทุกคน”

คำปันเล่าต่อว่าชาติพันธุ์ลเวือะก็เหมือนชาติพันธุ์อื่นๆ ในประเทศไทย ที่เคยถูกมองข้ามและทำให้ไม่เห็นคุณค่าของชาติพันธุ์ตนเอง แต่ในวันนี้คำปันมั่นใจว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว เพราะพวกเขาเข้าถึงความรู้และรู้ดีว่าอัตลักษณ์ของตนเองมีคุณค่าเพียงใด รวมทั้งการเข้าถึงการศึกษาของชาวลเวือะ ก็ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ โดยไม่ถูกการเลือกปฏิบัติมากขึ้น
โดยชื่องาน ‘เอะ มัฮ ลเวือะ’ จากกิจกรรมสืบสานวัฒนธรรมครั้งที่ 4 ที่ผ่านมานั้นมีความหมายว่า ‘เราคือลเวือะ’ โดยคำปันให้เหตุผลว่า เพราะที่ผ่านมาบางคนไม่กล้าบอกว่าตัวเองเป็นคนลเวือะ งานที่จัดขึ้นมาจึงเป็นการเสริมพลัง ในการยืนยันตัวตนของพวกเขาออกมา และทำให้คนลเวือะกล้าที่จะยืนยันอัตลักษณ์ของตนเองมากขึ้น
“เราไม่ได้ด้อยกว่าคนอื่นแล้ว เรามีภาษาเป็นของตนเอง ผมอยากให้สังคมภายนอกได้รู้จักลเวือะว่าเรามีวิถีชีวิตเป็นอย่างไร”
นอกจากนี้คำปันยังได้กล่าวว่าเขาเป็นหนึ่งในบุคคลที่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของ พรบ.คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง แม้เขาจะยอมรับว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากกลุ่มชาวลเวือะเท่าที่ควร เนื่องจากพวกเขาอาจจะยังมองไม่เห็นปัญหา อย่างเช่น ชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ได้รับปัญหาเรื่องสิทธิที่ดินทำกิน ชาวลเวือะจึงมองกฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องไกลตัวสำหรับพวกเขา
กฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีมากกว่าเรื่องของสิทธิทางที่ดิน
โดยในวันที่ 2 ของการจัดงานสืบสานวัฒนธรรมครั้งที่ 4 ของชนเผ่าลัวะ ได้มีเวทีเสวนาในหัวข้อเรื่อง “ความสำคัญของพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม และร่างกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มพันธุ์” โดย นิตยา เอียการนา ผู้อำนวยการสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย ศ.ว.ท. (IMPECT) ที่ได้กล่าวเปิดประเด็นว่า
“กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้แค่พูดถึงสิทธิทางที่ดินอย่างที่เข้าใจกัน แต่ยังครอบคลุมถึงสิทธิทางวัฒนธรรมของชนเผ่า ไม่ใช่แค่การพยายามรักษาเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของรัฐที่พึงจะต้องส่งเสริมด้วย”

นอกจากนี้นิตยายังกล่าวรวมถึงสิทธิในการศึกษาของกลุ่มชาติพันธุ์ ในพื้นที่ห่างไกลหลายแห่ง ที่ปัจจุบันไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ จากรัฐ ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงมีการระบุถึงคำว่า ‘สิทธิในการจัดการศึกษาโดยชุมชนและรัฐจะต้องให้การสนับสนุน’
“สิทธิอันต่อมาคือการไม่ถูกตีตรา โดยสื่อต่างๆ ที่มักสื่อสารสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง”
นิตยากล่าวโดยสรุปว่า กฎหมายฉบับนี้จะเปิดโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง สามารถลุกขึ้นมาจัดการตนเองภายในชุมชน ผ่านการมีกลไกสภาชนเผ่าพื้นเมือง ที่เปิดโอกาสให้แต่ละชนเผ่ามีการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย และกลไกนี้จะทำหน้าที่ในการสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งติดตามสถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมือง
ทางด้านคำปันได้กล่าวว่า เขาพยายามทำงานกับผู้นำในแต่ละพื้นที่ของชาวลเวือะให้เห็นความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ เพราะมันเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการยืนยันตัวตนการเป็นคนลเวือะ รวมทั้งสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาวลเวือะที่อยู่ต่างพื้นที่ และแน่นอนว่าในปีถัดไปเขายังมุ่งมั่นที่จะให้เกิดการจัดงานสืบสานวัฒนธรรมของชนเผ่าลัวะต่อไป