โลกของเรามีประชากรชนเผ่าพื้นเมืองอยู่ 6% โดย 2 ใน 3 อยู่ในทวีปเอเชีย และ 19% ของชนเผ่าพื้นเมืองกำลังประสบกับภาวะยากจนตามข้อมูลจากธนาคารโลก
ทั้งโลกใบนี้มี 7,000 ภาษาทั่วโลก เป็นภาษาของชนเผ่าพื้นเมือง 4,000 ภาษาและภาษาเหล่านี้กำลังสูญหายไปภายในปี 2100 หากชนเผ่าพื้นเมืองยังไม่มีการถูกปกป้องคุ้มครอง
“คนส่วนน้อยกลุ่มนี้มีความหลากหลายและกำลังจะสูญเสียตัวตนเพียงเพราะว่าการถูกกลืนและไม่มี นโยบายมารับรอง”
พิราวรรณ วงศ์นิธิสถาพร เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อม จากมูลนิธิเพื่อการประสานงานชนเผ่าพื้นเมืองเอเชีย (AIPP) กล่าวในงานเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ บทเรียนการจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และปฏิบัติการสร้างนวัตกรรมโดยชุมชน ที่ทางศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมกับสภาชนเผ่าพื้นเมืองและภาคีเครือข่าย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 เนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ในวาระร่วมฉลองกฎหมายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ที่มีเรื่องเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเป็นสาระสำคัญอยู่ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้
กลุ่มคน 6% ของโลกที่กำลังทำหน้าที่ปกป้องพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพมากถึง 80% ของโลก ถ้าขยับเข้ามาให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้นในประเทศไทยคือใน จ.แม่ฮ่องสอน ที่มีประชากรชนเผ่าอยู่ 70% และเป็นจังหวัดที่ทำไร่หมุนเวียนเยอะที่สุดในประเทศไทย และ จ.แม่ฮ่องสอน ก็เป็นจังหวัดที่มีป่าไม้อยู่ถึง 86% เกิดเป็นคำถามที่ว่าถ้าไร่หมุนเวียนที่เป็นภูมิปัญญาของชาวกะเหรี่ยงเป็นการทำลายธรรมชาติ แล้วทำไมพื้นที่ที่มีชนเผ่าพื้นเมืองอยู่เยอะที่สุด ยังคงมีป่าไม้ให้พวกเราได้ใช้อยู่? ตัวอย่างจากชาวบ้านและนักวิชาการที่ได้นำเสนอข้อมูลในในเวทีวันที่ 9 สิงหาคม 67
โรงเรียนภาคสนาม บทเรียนจากการจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตด้วยตนเอง
“คนปกติมองว่าเราทำลายป่า แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เราอยู่อาศัยและดูแลรักษาเพื่อคนรุ่นต่อไป”
ยุทธภูมิ อิศรภักดี ตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนสะเนพ่อง ตำบลไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เป็นพื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 4 อันดับแรกจากทั้งหมด 23 เขตพื้นที่คุ้มครองฯ พวกเขามีปฏิญญาชุมชนที่เป็นข้อตกลงร่วมกันว่าจะดูแลทรัพยากรอย่างไร รวมทั้งได้เป็นหนึ่งในชุมชนที่ได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนภาคสนาม (Filed School) ที่เป็นการสร้างนวัตกรรมโดยชุมชนที่ทางศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เข้ามาสนับสนุน ได้เข้ามาช่วยเปิดพื้นที่เรียนรู้ในชุมชน รวมทั้งเป็นการรวบรวมข้อมูลภายในชุมชนให้ถูกบันทึกไว้อย่างเป็นระบบ
“ผมได้มาร่วมกลุ่มโรงเรียนภาคสนามจากการทำข้อมูลของตัวเอง” ยุทธภูมิเล่า “ที่ผ่านมาพูดปากเปล่าไม่เพียงพอ เราต้องทำข้อมูลเชิงลึกมีภาพถ่าย การสำรวจข้อมูลและเกิดการรวมกลุ่ม แต่ก่อนเวลาเจ้าหน้าที่มาชาวบ้านจะตกใจ เพราะเราไม่มีข้อมูลทางกฎหมาย แต่พอเรามีความรู้ มีข้อมูลที่เก็บรวบรวม เราสามารถคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐได้”
ยุทธภูมิอธิบายต่อว่า เขาได้ใช้เครื่องมือการทำแผนที่ GPS เพื่อเก็บข้อมูลไร่ สวนของพวกเขาและยังเป็นแผนที่ที่สามารถนำมาเทียบเคียงกับของภาครัฐได้อีกด้วย ทั้งยังได้เก็บรวบรวมข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ทั้งพรรณปลา นก แมลงและพืช เพื่อเป็นเครื่องยืนยันความหลากหลายทางชีวภาพ
ถัดจากชุมชนสะเนพ่อง ตัวแทนชาวเลย์จากโพ้นทะเลภาคใต้ก็ได้มานำเสนอข้อมูลของตนเอง สิทธิชัย คงศรี ตัวแทนชาวอูรักลาโว้ย เกาะจำ ต.ศรีบอยา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ เขาได้เล่าว่าโครงการโรงเรียนภาคสนาม ได้ช่วยให้ชาวบ้านได้รู้จักบริบทของพื้นที่และประวัติศาสตร์ผ่านแผนที่ ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูลพื้นที่ ทรัพยากร ที่สอดคล้องกับการทำทะเลหมุนเวียนของพวกเขา
“การใช้แผนที่เก็บข้อมูลทางชีวภาพ เราสามารถรู้ว่าบริเวณไหนสามารถทำมาหากินได้ การทำทะเลหมุนเวียนของเราถึงมีความสำคัญ” สิทธิชัยกล่าว ไม่ต่างจากการทำไร่หมุนเวียนที่เปิดโอกาสให้ทรัพยากรธรรมชาติได้ฟื้นฟูตัวเอง การทำทะเลหมุนเวียนหรือที่ชาวเลย์เรียกกันว่า บาฆัด คือวิถีชีวิตที่ชาวเลย์ ทำการประมงหมุนเวียนไปตามเกาะต่างๆ เพื่อให้เกาะอื่นๆ ได้มีโอกาสในการพักฟื้นทรัพยากร “ถ้าไม่มีโรงเรียนภาคสนามเราอาศัยแต่ความจำพอเวลาผ่านไปเราก็ลืม” โอ้น ช้างน้ำ อีกหนึ่งตัวแทนชาวเลย์ จากชุมชนโต๊ะบาหลิว เกาะลันตา จ.กระบี่ กล่าวเสริม “
เราใช้ GPS ในการกำหนดขอบเขตของชุมชน ให้เครื่องมือสามารถคำนวณพื้นที่ให้เราได้”
โดยในตอนท้ายสำหรับประเด็นดังกล่าว ธิติรัตน์ นาวารักษ์ จากชุมชนบ้านทับปลา จ.พังงา พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองลำดับที่ 21 ก็ได้สรุปว่า สิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้จากโครงการโรงเรียนภาคสนามคือ “พวกเขาคือผู้บุกเบิกพื้นที่ไม่ใช่ผู้บุกรุกพื้นที่” ดั่งที่เคยเข้าใจ
พื้นที่คุ้มครอง การยอมรับชนเผ่าพื้นเมืองในระดับโลก
“ตอนนี้มีตัวอย่างพื้นที่คุ้มครองในระดับสากล เรามีหลักการ ICCAs คือพื้นที่ดินแดนที่อนุรักษ์โดยชุมชนพื้นเมือง” ICCAs หรือชื่อเต็ม Indigenous and community conserved areas คือพื้นที่อนุรักษ์ของชนพื้นเมืองและชุมชน ที่ ร.ศ.ดร.นฤมล อรุโณทัย จากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงภายในงานเสวนา โดยเธอกล่าวว่าแนวคิดที่เป็นสากลตอนนี้ คือการร่วมสร้างความรู้ที่มีมากกว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แต่มีการประยุกต์ใช้ความรู้จากท้องถิ่นหรือบรรพบุรุษนำมาผนวกรวมกัน โดยไม่จำเป็นต้องยึดหลักการรับเอาความรู้จากวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว
“ในทางสากลเขาพูดกันแล้วว่าชนพื้นเมืองอยู่กับธรรมชาติและมีความรู้ในการดูแลรักษา” ร.ศ.ดร. นฤมลกล่าว “วิถีชีวิตคนอยู่กับธรรมชาติมานาน แต่ทำไมเราจะต้องแยกและทำไมพื้นที่อนุรักษ์ถึงจะมีคนอยู่ไม่ได้”
เธอได้ยกตัวอย่างในเกาะฮาวาย ที่เธอเคยไปศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่นั่นว่าอุทยานแห่งชาติกลุ่มภูเขาไฟฮาวาย มีการยอมรับกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง และมีการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองในพื้นที่ หรืออย่างในแคนาดาก็มีพื้นที่เหล่านี้ โดยใช้คำว่า IPCAs เป็นความคิดเรื่องความเท่าเทียมและความเสมอภาคกับการอนุรักษ์ที่คนมีส่วนร่วมด้วยกันได้
ทางฝั่ง ดร.มณฑิรา อูนากูล จากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก ก็ได้เสริมข้อมูลว่าระบบการบริหารจัดการของโลกสมัยใหม่ มองสรรพสิ่งในโลกแยกออกจากกัน เช่น มองเรื่องวัฒนธรรมแยกส่วนกับธรรมชาติ แต่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้เองที่คนที่ทำงานในภาคนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ พยายามที่จะเอาสองส่วนนี้กลับมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
“ยูเนสโกต้องกลับมาทบทวนตัวเอง” ดร.มณฑิรากล่าว “ตอนนี้งานของเราคือการนำคนจากสองฝั่งนี้ มาอยู่ที่เดียวกัน พื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มันก็เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้เช่นเดียวกัน” งานอนุรักษ์ต่อจากนี้จะไม่ใช่แค่การอนุรักษ์พื้นที่ อาคาร หรือสถานที่เพียงอย่างเดียว แต่มันคือการคุ้มครองและสืบทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ซึ่งหัวใจสำคัญเริ่มต้นจากคำว่าชุมชน ดร.มณฑิรา ตัวแทนจากยูเนสโกกล่าวสรุปทิ้งท้าย
ทางฝั่งมูลนิธิเพื่อการประสานงานชนเผ่าพื้นเมืองเอเชีย (AIPP) ก็ได้ทาง ลักปา นูริเชอร์ปา (Lakpa Nurisherpa) ตัวแทนจากชนเผ่าเชอร์ปา ประเทศเนปาล ที่องค์กรของพวกเขาทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อเอาข้อมูลเหล่านี้ไปเชื่อมโยงกับนโยบายระหว่างประเทศและในระดับโลก เขาได้กล่าวว่า
“ความคิดในวันนี้เริ่มเปลี่ยนไปแล้ว จากที่สังคมมองเห็นชนเผ่าพื้นเมืองเป็นกลุ่มเปราะบาง เราถูกเปลี่ยนมุมมองเป็นนักปกป้อง และเป็นผู้นำในการอนุรักษ์” มูลนิธิเพื่อการประสานงานชนเผ่าพื้นเมืองเอเชีย ให้การยอมรับองค์ความรู้ของชนเผ่าพื้นเมือง มีสถานะเท่าเทียมกับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ กระบวนการตรวจสอบความหลากหลายทางชีวภาพได้ค้นพบว่าความหลากหลายทางชีวภาพในโลกมีอัตราลดลงอย่างมาก แต่สิ่งที่ค้นพบในพื้นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าพื้นเมืองกลับมีอัตราส่วนในการลดลงน้อยมาก
ลักปา เน้นย้ำว่า พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเมืองไทย จะสามารถผลักดันการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองในระดับแผนนโยบาย ที่ตอบสนองวาระของโลกใบนี้ ทั้งในเรื่องของภาวะโลกเดือดและความหลากหลายทางชีวภาพ
ถอดบทเรียนจากดอยช้างป่าแป๋ การต่อสู้และคุ้มครองพื้นที่ด้วยการจัดการข้อมูล
หนึ่งในตัวอย่างการขับเคลื่อนพื้นที่ที่น่าสนใจของการเสวนาในครั้งนี้ อยู่ที่ชุมชนปกาเกอญอบ้านดอยช้างป่าแป๋ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์ ลำดับที่ 12 ภัทรไพบูลย์ เรือนสอน ตัวแทนจากพื้นที่ได้นำเสนอข้อมูลไว้ได้อย่างน่าสนใจ และทำให้เห็นถึงการจัดการกับข้อมูลอย่างเป็นระบบ
“เรามีทีมเยาวชนที่คอยจัดเก็บข้อมูลในพื้นที่ ผมมีหน้าที่ในการวางแผนวิเคราะห์ข้อมูล เราทำงานกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรในการจัดการข้อมูล เราเลือกปัญหาที่เราเจอในชุมชนคือปัญหาเรื่องที่ดิน”
ภัทรไพบูลย์พบว่าหลายครั้งชาวบ้านไม่สามารถหาคำมาอธิบายให้กับเจ้าหน้าที่ได้ โดยเฉพาะในเรื่องของขอบเขตที่ดินทำกิน พวกเขาจึงเริ่มหาความรู้ในเรื่องของการทำแผนที่ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และตอบคำถามจากภาครัฐ
“พื้นที่ที่มีปัญหาเราถูกเขตอุทยานสองแสนกว่าไร่ประกาศทับพื้นที่ชุมชน ซึ่งความจริงชุมชนกะเหรี่ยงดอยช้างป่าแป๋เราไม่ได้บุกรุก เราอยู่ของเรามานานแล้ว”
จากการสืบค้นและทำข้อมูลภัทรไพบูลย์พบว่าตามเอกสารรัชชูปการ ชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋อยู่ในพื้นที่นี้มาแล้ว 145 ปี และหากยึดตามคำบอกเล่าบรรพบุรุษพวกเขาก็อยู่มากว่า 221 ปี แต่ปัญหาอยู่ตรงที่แผนที่ประเทศไทยฉบับแรก ของบัณฑิตยสถานที่ออกมาปี พ.ศ. 2507 หลังจากเปลี่ยนระบบการปกครองแบบมณฑลมาเป็นจังหวัด หมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋ตกสำรวจ จึงทำให้พื้นที่ทำมาหากินของพวกเขาล้ำไปอยู่ในเขตพื้นที่ของคนอื่น
“ก่อนหน้านี้เราไม่สามารถอธิบายให้คนข้างนอกฟังได้ว่า ทำไมเราถึงมีพื้นที่รุกล้ำเข้าไปในเขตของคนอื่น แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่าทำไมเราถึงล้ำเข้าไป” ภัทรไพบูลย์กล่าวพร้อมโชว์ข้อมูลแผนที่ที่พวกเขาได้จัดทำขึ้นมา
เขาอธิบายต่อว่าโจทย์สำคัญของชุมชน ถ้าไม่สามารถทำข้อมูลเชิงประจักษ์ในด้านประวัติความเป็นมาของชุมชนได้ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่จะเข้ามาพร้อมกับกฎหมายก็จะเข้ามาจัดการกับวิถีชีวิตของพวกเขาในทันที โดยจากการทำข้อมูลของชาวบ้านดอยช้างป่าแป๋พบว่า พวกเขามีพื้นที่ไร่หมุนเวียนอยู่ทั้งหมด 2,324 ไร่ แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการอธิบายให้สังคมเข้าใจคือ ชาวบ้านไม่ได้ใช้พื้นที่ทั้งหมดในเวลาเดียวกัน กลับกันในแต่ละปีข้อมูลแสดงให้เห็นว่าพวกเขาใช้พื้นที่เพียง 4-5% เท่านั้น ยกตัวอย่างในปี 2566 มีการใช้พื้นที่ 86 ไร่จากทั้งหมด 2,324 ไร่
“ในพื้นที่ทั้งหมดสองหมื่นกว่าไร่ เราปล่อยออกซิเจนปีหนึ่งเกือบห้าหมื่นล้านลิตร เพียงพอให้คนหายใจเกือบสี่แสนคน ถ้าชุมชนอื่นๆ คำนวณและนำเสนอข้อมูลแบบนี้ได้ คนภายนอกจะได้รู้ว่าเรารักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้มานานแล้ว” ภัทรไพบูลย์กล่าว
โดยในตอนท้าย อภินันท์ ธรรมเสนา จากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ผู้ดำเนินรายการเสวนาได้สรุปใจความสำคัญไว้ว่า แนวคิดเรื่องเขตพื้นที่คุ้มครองฯ เป็นแนวคิดที่ตลอดสิบสี่ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดนวัตกรรมอันหลากหลายในชุมชน เกิดกระบวนการจัดการข้อมูลที่มีคุณภาพ และในวันนี้แนวคิดเรื่องเขตพื้นที่คุ้มครองกำลังจะอยู่ในกฎหมาย หลักการสำคัญของพื้นที่ดังกล่าว คือคนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจะต้องอยู่ได้ในพื้นที่ ทรัพยากรยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งคุณภาพชีวิตที่จะต้องดีขึ้นบนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม
“หัวใจสำคัญของพื้นที่คุ้มครองไม่ใช่เรื่องของการประกาศแนวเขต แต่หัวใจสำคัญคือการทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าชุมชนจัดการพื้นที่ได้” อภินันท์กล่าวก่อนจบการเสวนาในวันดังกล่าว
เรียบเรียง; ณฐาภพ สังเกตุ